chat
หูดับ

…สูญเสียการได้ยินอย่างฉับพลัน (Sudden Hearing Loss)

หูที่มีประโยชน์ในการรับฟังเสียงต่างๆ อาจเกิดความผิดปกติขึ้นได้ หากประสาทหูเกิดการเสื่อมแบบฉับพลันทันใด หรือภายในระยะเวลาอันสั้น ทำให้เกิดภาวะที่ทางการแพทย์เรียกว่า “หูดับ” บางทีก็เรียก “โรคหูดับฉับพลัน” ซึ่งการสูญเสียการได้ยินส่วนใหญ่มักเกิดที่หูข้างเดียว กรณีเป็นทั้งสองข้างก็พบได้แต่น้อย การสูญเสียการได้ยินมีตั้งแต่ระดับเล็กน้อยไปจนถึงหูข้างนั้นไม่ได้ยินหรือดับไปเลยก็มี

คนที่มีปัญหาหูดับจะมีอาการคือ มีอาการหูอื้อและความสามารถในการได้ยินลดลงอย่างฉับพลัน และอาจมีอาการอื่นร่วมด้วย เช่น เวียนศีรษะ บ้านหมุน อาเจียน มีเสียงดังในหู ซึ่งอาการหูดับอาจเป็นเพียงชั่วคราวแล้วดีขึ้นได้ หรือในบางรายอาจสูญเสียการได้ยินอย่างถาวร ส่วนใหญ่เนื่องจากมาพบแพทย์ช้าจึงได้รับการรักษาที่ล่าช้าเกินไป แม้ว่าโรคหูดับจะพบได้ไม่บ่อย แต่เนื่องจากมีโอกาสเป็นถาวรหรือทำให้หูหนวกได้ จึงควรที่จะทำความรู้จักโรคนี้เอาไว้

หูดับเป็นโรคที่มีโอกาสพบได้ทั้งในชายและหญิงในสัดส่วนใกล้เคียงกัน กว่าร้อยละ 80 ของคนไข้มักไม่ทราบว่าเกิดจากสาเหตุอะไร มีเพียงส่วนน้อยที่พบสาเหตุการเกิดโรค เป็นต้นว่า มีการติดเชื้อ เช่น ติดเชื้อไวรัส ทำให้มีการอักเสบของเซลล์ประสาทหู หรือการติดเชื้อแบคทีเรีย เช่น แบคทีเรีย สเตร็ปโตค็อกคัส ซูอิส ซึ่งพบได้ในหมูแล้วคนไปกินหมูที่มีเชื้อตัวนี้อยู่โดยกินแบบดิบๆ หรือสุกๆ ดิบๆ ทำให้ป่วยด้วยโรคไข้หูดับก็เคยเป็นข่าวมาแล้ว

นอกจากนั้นสาเหตุอื่นที่พบได้ เช่น มีการอุดตันของหลอดเลือดที่ไปเลี้ยงหูชั้นในทำให้เซลล์ประสาทหูขาดเลือด ต้นเหตุที่ทำให้หลอดเลือดเกิดการอุดตันนั้นมีด้วยกันหลายอย่าง อาทิ ความเครียด พักผ่อนไม่พอ เส้นเลือดเสื่อมตามวัย หรือบรรดาพวกโรคเรื้อรังต่างๆ เช่น ความดันโลหิตสูง เบาหวาน หรือไขมันในเลือดสูง ที่อาจทำให้เกิดการตีบแคบของเส้นเลือด เป็นต้น, การรั่วของน้ำในหูชั้นในเข้าไปในหูชั้นกลางก็อาจเป็นอีกสาเหตุของโรคหูดับได้ เพราะทำให้เส้นประสาทหูหรือเซลล์ประสาทหูบาดเจ็บ ซึ่งการรั่วซึมเกิดจากมีแรงกดดันในหูชั้นใน เช่น มีการบาดเจ็บที่ศีรษะ, การเบ่ง/สั่งน้ำมูก/ไอแรงๆ, การดำน้ำ/ขึ้นที่สูง/ขึ้นเครื่องบิน ที่ต้องเผชิญกับการเปลี่ยนแปลงของความกดบรรยากาศ, ได้ยินเสียงที่ดังมากทันทีทันใด เช่น เสียงปืน/ประทัด/ระเบิด หรือคนที่ชอบเสียบหูฟังฟังเพลงเสียงดังมากๆ นี่ก็พึงระวังเอาไว้ด้วย

ส่วนสาเหตุอื่นๆ ที่พบได้ก็มีเช่น คนที่น้ำในหูไม่เท่ากันก็มีสิทธิ์เป็นโรคนี้ได้ เนื่องจากน้ำในหูไปกดเบียดทำลายเซลล์ประสาทหู, การผ่าตัดหูชั้นกลางหรือหูชั้นใน, มีเนื้องอกไปกดทับประสาทหู หรือพิษจากยาบางชนิด เป็นต้น ทั้งหมดทั้งมวลนี้เป็นแค่ตัวอย่างบางส่วนของสาเหตุที่ทำให้เป็นโรคหูดับ และถึงแม้โรคนี้มักจะไม่ทราบสาเหตุเสียเป็นส่วนใหญ่ แต่คุณหมอก็จะไม่มองข้ามสาเหตุใดๆ จะต้องวินิจฉัยให้ทราบว่าเกิดจากสาเหตุใดกันแน่หรือเกิดโดยไม่ทราบสาเหตุ เพราะเกี่ยวเนื่องไปถึงการให้การรักษาด้วย

สำหรับการวินิจฉัยโรคหูดับ แพทย์จะซักถามอาการทางหู, ตรวจร่างกาย เช่น ส่องหูตรวจดูสภาพภายในช่องหูอย่างละเอียด, ตรวจการได้ยิน, อาจมีการตรวจเลือด ตรวจปัสสาวะ ตรวจคลื่นสมอง ตรวจเอกซ์เรย์คอมพิวเตอร์ หรือตรวจคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้าถ้าจำเป็น เพื่อหาสาเหตุที่เป็นไปได้ทั้งหมดที่ทำให้เกิดโรคหูดับหรือประสาทหูเสื่อมเฉียบพลัน

ในการรักษาโรคนี้ ถ้าตรวจพบสาเหตุที่เป็น แพทย์ก็จะรักษาไปตามสาเหตุ หรือรักษาตามอาการที่พบ เช่น รักษาอาการเสียงดังในหู หรือเวียนศีรษะ เป็นต้น และป้องกันไม่ให้เกิดโรคแทรกซ้อนต่างๆ แต่การรักษาให้กลับคืนมาดีเป็นปกติใช่ว่าจะทำได้ทุกรายไป ส่วนในกรณีที่ไม่ทราบสาเหตุที่เป็น โอกาสหายได้เองมีประมาณ 60% ซึ่งก็นับว่าสูงพอสมควร ในกลุ่มนี้แพทย์จะรักษาด้วยยาที่ช่วยลดการอักเสบของประสาทหู เช่น ยาพวกสเตียรอยด์ อาจให้เป็นยากินหรือยาฉีด หรือให้ยาขยายหลอดเลือดเพื่อให้มีเลือดไปเลี้ยงหูชั้นในมากขึ้น นอกจากนั้นก็อาจให้ยาจำพวกวิตามินที่จะไปช่วยบำรุงประสาทหูที่เสื่อม เป็นต้น ถ้ามีการรั่วของน้ำในหูชั้นในเข้าไปในหูชั้นกลาง แพทย์จะให้นอนพักมากๆ งดการทำงานหรือออกกำลังกายหักโหม ในระหว่างการรักษาก็จะมีการตรวจวัดระดับการได้ยินเป็นระยะๆ เพื่อประเมินว่ารักษาไปแล้วได้ผลดีขึ้นมากน้อยเพียงใด จำเป็นจะต้องปรับการรักษาอย่างไรให้เหมาะสม โดยทั่วไปโรคหูดับที่ไม่ทราบสาเหตุ ถ้าคนไข้มาพบแพทย์เร็วและได้รับการรักษาอย่างถูกต้องในช่วง 2 สัปดาห์แรกหลังมีอาการ โอกาสที่จะกลับมาได้ยินเหมือนปกติมีสูง อันนี้เป็นข้อเตือนใจเลยว่าถ้าการได้ยินในหูเกิดลดน้อยลงอย่างฉับพลัน ควรรีบมาพบแพทย์ทันที

นอกจากการรักษาด้วยแพทย์แผนปัจจุบันดังที่กล่าวไปแล้ว ปัจจุบันยังมีแพทย์ทางเลือกที่ให้คนไข้หายใจรับออกซิเจน ภายใต้ความกดบรรยากาศสูง เรียกว่า ไฮเปอร์แบริค (HBO) นำมารักษาร่วมไปด้วยกันได้ โดยพบว่าคนไข้โรคหูดับที่มีระดับอาการตั้งแต่น้อยถึงมากมีอาการดีขึ้นถึง 90% และคนไข้กลับมาได้ยินเป็นปกติมากถึง 40% เนื่องจากการรักษาด้วยไฮเปอร์แบริคจะไปเพิ่มค่าความดันย่อยของออกซิเจนในเลือดแดง (pO2) ของหูชั้นใน และกระตุ้นการไหลเวียนเลือดในหลอดเลือด (microcirculation) ก่อให้เกิดการซ่อมแซมบริเวณหูข้างที่เกิดโรคหูดับได้ สำหรับการรักษาด้วยไฮเปอร์แบริคควรทำวันละ 2 ชั่วโมง ประมาณสัปดาห์ละ 3-5 วัน ควรทำประมาณ 10 ครั้งขึ้นไปจึงจะเห็นผล

เมื่อรักษาจนอาการดีขึ้นแล้ว เช่น บางคนกลับมาเป็นปกติหรืออาจมีบางคนที่ไม่ได้หายเต็มร้อย ก็มีโอกาสที่ประสาทหูจะกลับมาเสื่อมอีกหรือมากขึ้นได้ ควรหันมาดูแลเอาใจใส่ตัวเอง เช่น พักผ่อนให้เพียงพอ, ออกกำลังกายเป็นประจำ แต่ไม่หักโหมจนเกินไป, ลดความเครียด วิตกกังวลต่างๆ, ระมัดระวังพวกเสียงดังๆ ทั้งหลาย ใครที่ชอบฟังเพลงดังๆ จากหูฟังก็ให้เลิกซะ, ระวังไม่ให้มีการกระทบกระเทือนแรงๆ บริเวณหูหรือในช่องหู, ดูแลร่างกายให้แข็งแรงจะได้ไม่เป็นหวัดหรือโรคทางเดินหายใจส่วนบนที่จะลามไปถึงในหู, ไม่กินยาพร่ำเพรื่อ ควรปรึกษาแพทย์หรือเภสัชกรก่อนกินเนื่องจากยาบางตัวมีผลต่อประสาทหู, คนไข้ที่มีโรคประจำตัวก็ต้องควบคุมให้ดีไม่ว่าจะเป็นความดัน เบาหวาน ไขมันในเลือด ฯลฯเรียกว่าอะไรที่เป็นปัจจัยเสี่ยงให้เกิดโรคได้ก็ต้องหลีกเลี่ยงหรือควบคุมให้ได้ก็จะช่วยลดโอกาสที่จะเกิดโรคหูดับลงได้มาก

ค่ารักษา

เพิ่มเติม
การรักษา ราคา(บาท)
อัตราค่ารักษาพยาบาล แพทย์ที่ทำการรักษาเป็นผู้ประเมิน สอบถามข้อมูลเพิ่มเติม โทร 1723
การรักษา
อัตราค่ารักษาพยาบาล แพทย์ที่ทำการรักษาเป็นผู้ประเมิน สอบถามข้อมูลเพิ่มเติม
โทร 1723

เกร็ดความรู้

เพิ่มเติม