chat
หอบหืด

หอบหืด

วันอังคารแรกของเดือนพฤษภาคมของทุกปีจัดเป็นวันหืดโลก (World Asthma Day) แสดงให้เห็นว่าทั่วโลกให้ความสำคัญกับโรคนี้ เฉพาะ ในเมืองไทยจำนวนคนเป็นโรคหอบหืดมีแนวโน้มเพิ่มมากขึ้นทุกปี ดังนั้นเราจึงควรมาทำความเข้าใจเกี่ยวกับโรคนี้อย่างถูกต้อง

โรคหอบหืด (Asthma)จัดเป็นโรคภูมิแพ้ชนิดหนึ่ง ที่เกี่ยวข้องกับกรรมพันธุ์ โดยพบว่า ผู้ป่วยมักมีพ่อแม่ปู่ย่าตายายหรือญาติพี่น้องเป็นโรคภูมิแพ้อย่างใดอย่างหนึ่ง เช่น อาจจะเป็นหืด, ภูมิแพ้อากาศ, ลมพิษ เป็นต้น โรคนี้มักมีอาการตั้งแต่เด็ก มีผู้ป่วยน้อยรายที่จะแสดงอาการตอนอายุมาก และมักมีประวัติเป็นๆ หายๆ เรื้อรังอยู่เป็นประจำ โดยเป็นบ่อยในฤดูฝนและฤดูหนาว แต่บางรายอาจเป็นอยู่ตลอดทั้งปี ซึ่งเวลาที่ผู้ป่วยไม่มีอาการหอบหืดจะแลดูแข็งแรงเช่นคนปกติทุกอย่าง

การที่โรคหืดเป็นโรคภูมิแพ้ ดังนั้น อาการของโรคจึงมักจะกำเริบเวลาที่ผู้ป่วยสัมผัสถูกสารที่แพ้ซึ่งมีอยู่มากมาย เช่น ฝุ่นละออง, เกสรดอกไม้, ขนสัตว์, ความเย็น, สารเคมี เป็นต้น หรือแม้แต่การติดเชื้อของระบบทางเดินหายใจ เช่น เป็นไข้หวัด, เจ็บคอ, หลอดลมอักเสบ ฯลฯ หรือบางครั้งความเครียดทางอารมณ์ก็มีส่วนกระตุ้นให้เป็นหืดได้

ผู้ป่วยที่เป็นหืดจะมีอาการแน่นอึดอัดในหน้าอก หายใจเข้าออกลำบาก โดยเฉพาะในช่วงหายใจออก ถ้าเป็นมากๆ ผู้ป่วยจะหอบจนต้องลุกขึ้นนั่งเพื่อให้หายใจได้สะดวกขึ้น และอาจพูดได้เป็นคำๆ ไม่ต่อเนื่องเป็นประโยคเนื่องจากหายใจไม่ทัน ผู้ป่วยจะหายใจมีเสียงดังวี้ด ๆ และมักจะไอมากมีเสมหะเหนียว อาจมีอาการคันจมูก คัดจมูก คันคอ เป็นหวัด จามร่วมด้วยได้ ขณะที่ผู้ป่วยมีอาการหอบหากฟังปอดจะได้ยินเสียงวี้ด (Wheeze)ที่ปอดทั้ง 2 ข้าง และช่วงหายใจออกจะยาวกว่าปกติ ซึ่งเสียงวี้ดที่ได้ยินนั้นเกิดจากการตีบแคบของหลอดลม เนื่องจากการเกร็งตัวของกล้ามเนื้อที่ผนังหลอดลม ทำให้ลมหายใจเข้าออกลำบาก

ในรายที่เป็นรุนแรงจะมีอาการหอบติดต่อกันนาน ซึ่งในทางการแพทย์เรียกว่า สเตตัส แอสมาติคัส (Status asthmaticus) จะเป็นอันตรายถึงตายได้ เนื่องจากหายใจเอาอากาศเข้าปอดได้ไม่เพียงพอ

ส่่วนใหญ่แล้วผู้ป่วยที่เป็นหืดจะไม่มีไข้ ในรายที่มีไข้มักเป็นหืดร่วมกับอาการของไข้หวัด,หลอดลมอักเสบหรือปอดอักเสบ หรือในรายที่พบว่าความดันโลหิตสูง เท้าบวม หน้าบวม และนอนราบไม่ได้ร่วมด้วย อาจเป็นอาการหอบที่มีสาเหตุจากโรคหัวใจหรือโรคไต ควรรีบไปพบแพทย์เพื่อตรวจวินิจฉัยและให้การรักษาอย่างทันท่วงที

แม้โรคหืดจะเป็นโรคเรื้อรังและมักจะไม่หายขาด แต่การปฏิบัติตัวที่ถูกต้องและการรักษาอย่างต่อเนื่อง จะช่วยให้สามารถควบคุมอาการหอบได้และดำเนินชีวิตประจำวันได้อย่างปกติหรือใกล้เคียงปกติมากที่สุด

ในปัจจุบันเราทราบแล้วว่าโรคหืดเกิดจากภาวะหลอดลมตีบ จึงทำให้เกิดอาการหอบ ไอมาก เสมหะมากและเหนียว ซึ่งเป็นผลต่อเนื่องจากการอักเสบเรื้อรังของหลอดลมและการได้รับสิ่งกระตุ้นให้เกิดอาการหืด ดังนั้นการรักษาหืดเราจึงมุ่งเน้นแก้ไขภาวะต่างๆ เหล่านี้โดย

  • การหลีกเลี่ยงต่อการได้รับสิ่งกระตุ้นที่ทำให้เกิดอาการหืด ซึ่งโดยทั่วไปผู้ป่วยมักจะทราบอยู่แล้วว่าสิ่งใดสามารถกระตุ้นให้เกิดอาการได้บ้าง เช่น อากาศที่เย็น, อากาศช่วงฝนตก, ไข้หวัด, ฝุ่น, ควัน, ควันบุหรี่, ขนสัตว์, การออกกำลังกาย หรืออาหารบางชนิด เป็นต้น
  • ลดการอักเสบเรื้อรังของหลอดลม เพื่อลดภาวะไวต่อสิ่งกระตุ้นให้เกิดอาการโดยการใช้ยาลด การอักเสบชนิด Corticosteroidซึ่งในปัจจุบันนิยมใช้ยาที่บรรจุในหลอดเพื่อพ่นหรือสูด เนื่องจากมีผลข้างเคียงน้อยกว่ายาชนิดกิน
  • ลดการตีบของหลอดลม เพื่อแก้ไขภาวะหอบโดยการใช้ยาขยายหลอดลมซึ่งในปัจจุบันนิยมใช้ ยาบรรจุหลอดเพื่อพ่นหรือสูดเช่นเดียวกัน

เมื่อเป็นโรคหืด สิ่งที่ต้องทำคือพบแพทย์เพื่อรักษาให้เร็วที่สุด ปฏิบัติตามคำแนะนำของแพทย์อย่างเคร่งครัดทั้งการใช้ยาและหลีกเลี่ยงสิ่งกระตุ้น เพื่อให้คุณสามารถดำเนินชีวิตประจำวันได้อย่างปกติสุข

รู้ไว้ได้ประโยชน์…สิ่งที่ผู้ป่วยโรคหอบหืดควรปฏิบัติ

  • ลีกสิ่งที่กระตุ้นให้เกิดอาการหอบหืด
  • พกยาติดตัวตลอดเวลา จะได้ใช้ยาได้ทันทีเมื่อมีอาการหอบหืด
  • รับการรักษาอย่างต่อเนื่อง
  • ใช้ยาให้สม่ำเสมอ แล้วใช้ยาพ่นหรือยาสูดให้ถูกวิธี
  • ถ้าการออกกำลังกายสามารถกระตุ้นให้เกิดอาการหอบหืดได้ อย่าลืมพ่นยาก่อนออกกำลังกาย
  • ถ้ามีอาการไข้หวัด ให้ระวังอาการหอบหืดจะกำเริบได้ง่าย
  • ถ้ามีอาการหอบหืดแล้ว อาการไม่ดีขึ้นหลังจากใช้ยาขยายหลอดลม ให้รีบพบแพทย์ทันที เนื่องจากอาจมีอาการมากจนต้องพักรักษาในโรงพยาบาล
  • ควรแจ้งแพทย์ทุกครั้งเมื่อไปตรวจรักษาว่าเป็นโรคหอบหืด เพื่อหลีกเลี่ยงการใช้ยาบางชนิดที่อาจกระตุ้นให้เกิดอาการได้ เช่น ยาลดความดันชนิดเบต้าบล็อก

ค่ารักษา

เพิ่มเติม
การรักษา ราคา(บาท)
อัตราค่ารักษาพยาบาล แพทย์ที่ทำการรักษาเป็นผู้ประเมิน สอบถามข้อมูลเพิ่มเติม โทร 1723
การรักษา
อัตราค่ารักษาพยาบาล แพทย์ที่ทำการรักษาเป็นผู้ประเมิน สอบถามข้อมูลเพิ่มเติม
โทร 1723

หัตถการของศูนย์อายุรกรรม