chat
วัณโรค


วัณโรคปอด(TB)

วัณโรค โรคติดต่อที่ร้ายแรง 1 ในสาเหตุการตายที่สำคัญ
สงสัยกันไหม ไอแบบไหนที่เข้าข่ายวัณโรคปอด
เคยไหม ไอเรื้อรัง จนเจ็บหน้าอก ไอแห้งๆ แต่มีเสมหะ หรือบางครั้งนั่งรถสาธารณะ เห็นคนไอจนตัวโยน ใช่ไหม เป็นวัณโรคปอดหรือเปล่า แทบไม่อยากหายใจ กลัวเอาเชื้อเข้าไปในปอด แล้วจะรู้ได้อย่างไร แบบไหนที่เข้าข่าย ต้องรู้ให้แน่ เห็นคนไอหนักๆ จะได้ไม่กลัวจนตัวสั่น

วัณโรค โดยปกติเรียกว่าโรค(TB) เป็นโรคติดต่อที่เกิดจากเชื้อแบคทีเรีย Mycobacterium ซึ่งมีหลายชนิด เชื้อที่พบบ่อยที่สุดและเป็นปัญหาในประเทศไทย คือ เชื้อ Mycobacterium tuberculosis วัณโรคเกิดได้ในทุกอวัยวะของร่างกาย ส่วนใหญ่มักเกิดที่ปอดพบร้อยละ 80 ส่วนวัณโรคนอกปอดเป็นผลมาจากการแพร่กระจายของการติดเชื้อไปยังอวัยวะอื่นๆ ได้แก่ เยื้อหุ้มปอด ต่อมน้ำเหลือง กระดูกสันหลัง ข้อต่อ ช่องท้อง ระบบทางเดินปัสสาวะ ระบบสืบพันธุ์ ระบบประสาท เป็นต้น

วัณโรคปอด แพร่กระจาย หรือติดต่อกันได้อย่างไร

เชื้อวัณโรคจะแพร่กระจายจากปอด หลอดลม หรือกล่องเสียงของผู้ป่วยวัณโรค เมื่อผู้ป่วยไอจามพูดดังๆ ตะโกน หัวเราะ หรือร้องเพลง เชื้อเหล่านี้จะอยู่ในละอองฝอยของเสมหะที่ออกมาสู่อากาศ อนุภาคของละอองฝอยขนาดใหญ่มักตกลงพื้นและแห้งไป เหลือส่วนที่เล็กที่สุดที่มีเชื้อวัณโรคจะลอยอยู่ในอากาศได้หลายชั่วโมง และถูกทำลายโดยแสงแดด ซึ่งการไอในเวลา 1 ชั่วโมง ผู้ป่วยระยะแพร่เชื้อสามารถปล่อยละอองเสมหะที่มีเชื้อ
ได้ตั้งแต่ 18-3,798 ละออง

เมื่อคนสูดหายใจเอาละอองฝอยที่มีเชื้อวัณโรคเข้าสู่ร่างกาย เชื้อวัณโรคที่มีขนาดใหญ่จะติดอยู่ที่จมูกหรือลำคอ ซึ่งมักไม่ก่อให้เกิดโรค แต่ส่วนที่มีขนาดเล็กๆ จะเข้าไปสู่ที่ปอด เชื้อจะถูกทำลายด้วยระบบภูมิคุ้มกันของร่างกาย หากมีเชื้อที่ถูกทำลายไม่หมดจะแบ่งตัวทำให้เกิดการติดเชื้อ ถ้าระบบภูมิคุ้มกันแข็งแรงจะสามารถยับยั้งการแบ่งตัวของเชื้อวัณโรคได้ แต่การติดเชื้อในคนเราส่วนมากส่งผลให้เกิดการติดเชื้อแบบแฝง และราวหนึ่งในสิบท้ายที่สุดเชื้อจะพัฒนาไปเป็นโรคที่มีฤทธิ์ ซึ่งหากไม่ได้รับการรักษาอาจทำให้ผู้ป่วยขั้นเสียชีวิตได้

อาการสงสัยวัณโรคปอด

  • อ่อนเพลีย ไม่มีแรง
  • เบื่ออาหาร น้ำหนักลด
  • มีไข้ต่ำๆ หนาวสั่น และมีเหงื่อออกตอนกลางคืน
  • ในระยะแรกจะมีอาการไอแห้งๆ
  • ไอมีเสมหะและจะไอมากในเวลาเข้านอน ตื่นนอนตอนเช้าและหลังอาหาร
  • ไอเรื้อรังนานกว่า 2 สัปดาห์ ในรายที่เป็นมากๆ จะหอบหรือไอเป็นเลือดก้อนแดงๆ หรือเลือดดำๆออกมาด้วย
  • ในรายที่เป็นน้อยๆ ผู้ป่วยบางคนอาจจะรู้สึกแน่นหรือเจ็บหน้าอกโดยไม่มีอาการไอ

ใครบ้างที่เป็นกลุ่มเสี่ยง

  • ผู้ที่อาศัยร่วมบ้าน หรือใกล้ชิดกับผู้ป่วยวัณโรค
  • ผู้ป่วยเบาหวาน
  • ผู้ที่ติดเชื้อ HIV
  • ผู้สูงอายุ

ระยะการติดเชื้อวัณโรค

    1. การติดเชื้อวัณโรคในระยะสงบ หมายถึง การที่คนๆ หนึ่งมีเชื้อวัณโรคอยู่ในตัว แต่ไม่เกิดโรคและไม่มีอาการป่วยใดๆ การติดเชื้อในระยะสงบสามารถเกิดขึ้นได้เมื่อระบบภูมิคุ้มกันของผู้ที่ติดเชื้อยังสามารถควบคุมเชื้อแบคทีเรียได้อยู่ เชื้อแบคทีเรียสามารถอยู่ในร่างกายได้นานหลายปีโดยที่ไม่ทำให้เกิดโรคหรืออาการผิดปกติใดๆ

    2. การติดเชื้อระยะป่วยเป็นโรคอาจมีการป่วยเป็นโรคขึ้นมาในภายหลังได้ หากภูมิคุ้มกันอ่อนแอลง เชื้อวัณโรค ที่อาศัยอยู่ในร่างกายอาจได้รับการกระตุ้นก่อให้เกิดวัณโรคและอาการที่เกี่ยวข้องทั้งหลาย ผู้ป่วยที่ติดเชื้อเอชไอวีและเชื้อวัณโรคร่วมกันมีแนวโน้มจะป่วยเป็นวัณโรคมากขึ้น สำหรับในบางคน ระยะป่วยเป็นโรคอาจเกิดขึ้นได้ภายหลังติดเชื้อวัณโรคเพียงไม่กี่สัปดาห์

ติดเชื้อวัณโรค…รักษาได้

ในปัจจุบัน วัณโรคปอดเป็นโรคที่รักษาให้หายขาดได้ โดยใช้ระยะเวลาการรักษาสั้นที่สุด 6 เดือน แต่บางรายอาจจะ 1 ปี หรือมากกว่านั้น ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับการปฏิบัติตัวของผู้ป่วยด้วย ว่ากินยาครบตามที่แพทย์สั่งหรือไม่ ถ้ากินๆ หยุดๆ อาจทำให้มีโอกาสเสี่ยงต่อวัณโรคดื้อยาได้ จะทำให้ระยะเวลาการรักษายาวนานและการรักษายากมากยิ่งขึ้น โดยปกติแล้วผู้ป่วยวัณโรคจะกินยาวันละ 8-12 เม็ด นาน 6-8 เดือน อาจมีอาการคลื่นไส้อาเจียน ปัสสาวะเป็นสีเหลืองเข้ม ก็ไม่ต้องกังวลไปเป็นผลข้างเคียงจากยา หลังจากผ่านไปสองอาทิตย์สามารถอยู่ร่วมกับผู้อื่นได้ตามปกติ แต่ยังคงต้องกินยาอย่างต่อเนื่อง ผู้ป่วยหลายท่านคงเบื่อและไม่ชอบการกินยาซักเท่าไหร่ เพราะค่อนข้างเยอะและต้องมีวินัย แต่เชื่อเถอะค่ะว่ากินแล้วส่งผลดีต่อตัวท่านเองแน่นอน ยาวัณโรคในปัจจุบันหลักๆ จะมีอยู่ 4ชนิด ได้แก่ Isoniazid, Rifampicin, pyrazinamide, Ethambutol ยาที่กล่าวมาในข้างต้นนี้มีผลข้างเคียงทุกตัว จึงต้องอยู่ในการควบคุมดูแลของแพทย์ ถ้าซื้อหรือหามารับประทานเองอาจเป็นอันตรายถึงชีวิต

ดูแลตัวเองยังไง…เมื่อป่วยเป็นโรคนี้

  • ต้องรับประทานยาให้ครบตามแพทย์กำหนดอย่างเคร่งครัด
  • ก่อนได้รับการรักษา ผู้ป่วยควรแยกห้องนอน แยกภาชนะที่ใช้ และหลีกเลี่ยงการใกล้ชิดกับผู้อื่น หลังรับประทานยาไปแล้ว 2 สัปดาห์จึงอยู่ร่วมกับผู้อื่นได้ตามปกติ
  • ขณะไอหรือจามต้องใช้ผ้าปิดปากปิดจมูก บ้วนเสมหะลงในภาชนะที่มีน้ำยาทำลายเชื้อ แล้วนำไปทิ้งในส้วมหรือขุดหลุมฝัง จะช่วยป้องกันการแพร่กระจายเชื้อ
  • ดูแลร่างกายให้แข็งแรงเพื่อเสริมสร้างภูมิต้านทาน โดยรับประทานอาหารครบ 5 หมู่ พักผ่อนให้เพียงพอ เมื่อแข็งแรงดีแล้วจึงออกกำลังกายได้ตามความเหมาะสม
  • ควรอยู่ในสถานที่อากาศถ่ายเทได้สะดวก ห้องที่อยู่ถ้าเลือกได้ ควรเป็นห้องอากาศโปร่ง มีหน้าต่างให้อากาศถ่ายเทสะดวก
  • ควรนำที่นอนผึ่งแดดบ้าง ที่นอน เสื้อผ้า ดูแลอย่าให้มีฝุ่นเพราะจะกระตุ้นให้ไอได้

ป้องกันวัณโรคปอดได้อย่างไร

    1. วัคซีนบีซีจี (Bacillus Calmette – Guerin) ถือว่าเป็นวัคซีนพื้นฐานที่ต้องฉีดให้กับเด็กทารกแรกเกิดทุกคนภูมิคุ้มกันจะเกิดภายหลังฉีด 4-6 สัปดาห์ และอยู่ได้นานประมาณ 10 ปี วัคซีนจะให้ผลในการป้องกันวัณโรคได้ประมาณ 80% รวมถึงผู้ที่ทำการทดสอบปฏิกิริยาทางผิวหนังต่อเชื้อวัณโรค หรือ Tuberculin skin test ถ้าผลตรวจออกมาเป็นลบ ก็ต้องฉีดวัคซีนเพื่อสร้างภูมิคุ้มกัน

    2. รักษาสุขภาพให้แข็งแรง ออกกำลังกายสม่ำเสมอ กินอาหารที่มีประโยชน์ให้ครบ 5 หมู่

    3. ควรตรวจร่างกายโดยการเอกซ์เรยปอดหรือตรวจเสมหะ (AFBอย่างน้อยปีละ 1ครั้ง ถ้าพบว่าเป็นวัณโรคจะได้รีบรักษาก่อนที่จะลุกลามมากขึ้น

    4. ถ้ามีอาการผิดปกติที่น่าสงสัยว่าเป็นวัณโรค เช่น ไอเรื้อรัง 2 สัปดาห์ขึ้นไป มีไข้ต่ำๆโดยเฉพาะตอนบ่ายหรือค่ำ เจ็บหน้าอก เหนื่อยหอบ เบื่ออาหาร น้ำหนักลดควรรีบไปรับการตรวจรักษาโดยการเอกซเรย์ปอด ตรวจเสมหะ

ถึงโรควัณโรคปอดจะร้ายแรงจนอาจทำให้ใครๆ เสียชีวิต แต่ก็สามารถป้องกัน เป็นโรคแล้วก็หายได้ สิ่งที่น่ากลัว คือเราไม่ป้องกันและไม่ดูแลตัวเองให้ดีพอ ถ้าเรายังไม่รักตัวเอง จะหวังให้ใครมารัก จริงไหมคะ

ค่ารักษา

เพิ่มเติม
การรักษา ราคา(บาท)
อัตราค่ารักษาพยาบาล แพทย์ที่ทำการรักษาเป็นผู้ประเมิน สอบถามข้อมูลเพิ่มเติม โทร 1723
การรักษา
อัตราค่ารักษาพยาบาล แพทย์ที่ทำการรักษาเป็นผู้ประเมิน สอบถามข้อมูลเพิ่มเติม
โทร 1723

หัตถการของศูนย์อายุรกรรม

เกร็ดความรู้

เพิ่มเติม