chat

ลูกน้อยแพ้นมวัว

ลูกน้อยแพ้นมวัว

เพราะ น้ำนมแม่คือสุดยอดอาหารสำหรับทารก จึงมีการรณรงค์ให้คุณแม่ทั้งหลายให้ความสำคัญกับการเลี้ยงลูกด้วย นมแม่ ส่วนคุณแม่ที่ไม่พร้อมจะเลี้ยงลูกด้วยน้ำนมตัวเอง เช่น สุขภาพไม่เอื้ออำนวย เป็นต้น ก็จะหันมาพึ่ง นมผสม ซึ่งผลิตจากนมวัวแทน แต่การเลี้ยงทารกด้วยนมผสม ก็อาจพบว่าทารกมีอาการ แพ้นม ที่กินได้ ซึ่งอาการแพ้นมมีได้ตั้งแต่อาการเล็กน้อยไปจนถึงอาการรุนแรงถึงชีวิตได้เลย ในขณะที่นมแม่นั้นมีความปลอดภัยและโอกาสที่ทารกจะแพ้มีน้อยมาก ถ้าพบก็มักไม่ได้มาจากนมแม่ แต่มาจากอาหาร ยา หรือสารพิษต่าง ๆ ที่คุณแม่ได้รับในช่วงให้นม ดังนั้น หากคุณแม่จำเป็นต้องเลี้ยงลูกด้วยนมผสม ควรระมัดระวังเรื่องอาการ แพ้นมวัว เอาไว้ด้วย

ทารก แพ้นมวัว ได้อย่างไร

จริงๆ แล้วการแพ้นมวัวเกิดได้กับคนทุกวัย แต่มักจะพบบ่อยในเด็กทารกโดยเฉพาะในช่วงขวบปีแรกประมาณ 2 -3 % และหากพ่อแม่มีประวัติเป็นโรคภูมิแพ้โอกาสที่ทารกจะแพ้นมวัวก็จะสูงกว่าเด็กทั่วไป

การแพ้นมวัวเกิดจากร่างกายสร้างภูมิคุ้มกันต่อโปรตีนนมวัวขึ้นมา อธิบายง่ายๆ ก็คือแทนที่ร่างกายจะนำโปรตีนที่ได้จากนมวัวไปใช้ประโยชน์ กลับสร้างภูมิขึ้นมาต่อต้านโปรตีนนั้นแทน ซึ่งระบบภูมิคุ้มกันที่ผิดเพี้ยนไปดังกล่าว จะก่อให้เกิดอาการผิดปกติต่างๆ ตามมา สำหรับโปรตีนในนมวัวที่มักทำให้เกิดอาการแพ้มีได้มากกว่า 20 ชนิด แต่โปรตีนหลักที่พบว่าแพ้บ่อย ได้แก่ เคซีน และ เบต้าอิมมูโนกลอบบูลิน

อาการแพ้นม เป็นอย่างไร

อาการแพ้นมวัวมีหลายระดับ ตั้งแต่เล็กน้อยไปถึงขั้นรุนแรง อาการอาจเกิดขึ้นทันทีหลังกินนม หรือหลังจากนั้นไปแล้วหลายชั่วโมงก็ได้ ในทารกบางรายอาการอาจเกิดล่าไปเป็น 7-10 วันก็มี ดังนั้น หากทารกกิน นมผสม ในช่วงวันสองวันแรกแล้วไม่มีอาการแพ้ คุณแม่ก็อย่าเพิ่งวางใจนะคะ

ทารกที่มีปัญหา แพ้นมวัว จะมีอาการผิดปกติปรากฏให้เห็นได้ในหลายระบบ ดังนี้

  • อาการในระบบทางเดินอาหาร มีตั้งแต่การอาเจียนหลังจากกินนมเข้าไป อาการปวดท้อง ท้องอืด ท้องร่วง อุจจาระเป็นมูกเลือด บางทีทารกกินนมได้ตามปกติแต่ยังมีน้ำหนักต่ำกว่าเกณฑ์ ก็ให้สงสัยภาวะแพ้นมไว้ด้วย เพราะทางเดินอาหารอาจมีการอักเสบจากการแพ้ทำให้การดูดซึมผิดปกติ
  • อาการในระบบทางเดินหายใจ มีตั้งแต่อาการน้ำมูกไหล คัดจมูก หลอดลมอักเสบ เป็นหวัดบ่อย ไอ ไซนัสอักเสบ หายใจมีเสียงวี้ด
  • อาการทางผิวหนัง อาจมีอาการผื่นแดง ลมพิษ ผิวหนังอักเสบเป็นตุ่มพอง ตกสะเก็ดและแสบคัน

ส่วนอาการแพ้รุนแรงที่เกิดขึ้นแบบเฉียบพลันจนเป็นอันตรายถึงชีวิตนั้นพบน้อยมาก ถึงกระนั้นคุณแม่ก็ต้องไม่ประมาท ลักษณะของอาการแพ้รุนแรงคือ จะมีหายใจติดขัด มีอาการบวมแถว ๆ บริเวณปากหรือลำคอ หากไม่ได้รับการรักษา อาจจะเกิดภาวะขาดอากาศหายใจจากการบวมของหลอดลมเป็นอันตรายได้ หรือหากทารกมีอาการเซื่องซึม เฉื่อยชา ก็เป็นสัญญาณบอกเหตุขั้นรุนแรงแล้วเช่นกัน ต้องรีบพาไปพบแพทย์ทันที

ด้วยอาการแพ้นมวัวที่มีหลายประการดังกล่าว ถ้าคุณแม่ยังจับต้นชนปลายไม่ถูกว่าอาการประมาณไหนที่แสดงว่าลูกน้อยกำลังเผชิญกับภาวะแพ้นมเข้าให้แล้ว ก็ขอแนะนำให้ลองสังเกตสัญญาณเตือนง่ายๆ เหล่านี้ ถ้ามีก็อย่าได้นิ่งนอนใจค่ะ

  • บ้วนหรือพ่นน้ำลายบ่อย หรืออาเจียนหลังกินนม
  • ร้องไห้บ่อย โดยเฉพาะหลังจากเพิ่งกินนม
  • ท้องร่วง หรือถ่ายเป็นเลือด
  • มีผื่นตกสะเก็ดตามผิวหนัง
  • มีผื่นแดงเป็นวงใหญ่ ลักษณะตุ่มคล้าย ๆ รังผึ้ง เป็นวงสีแดงนูนบนผิวหนัง

จะทราบได้อย่างไรว่าทารก แพ้นมวัว

หากทารกมีอาการผิดปกติอย่างใดอย่างหนึ่งที่ชวนสงสัยว่าเกิดจากการแพ้นม ซึ่งจะใช่หรือไม่นั้นก็อย่าได้คาดเดาไปเอง ควรพาทารกไปพบแพทย์  แพทย์จะใช้วิธีการทดสอบการแพ้บนผิวหนัง (Skin prick test), ตรวจเลือดเพื่อหาปริมาณแอนติบอดีก่อภูมิแพ้ต่อโปรตีนนมวัว หรือให้ทดลองกินนมภายใต้การดูแลของแพทย์ จะได้แน่ใจว่าอาการผิดปกติเกิดจากการแพ้นมจริงหรือเป็นโรคอื่นๆ ที่มีอาการคล้ายคลึงกัน

รับมืออาการ แพ้นมวัว อย่างไร

หากทารกแพ้นมวัวจริง แพทย์จะให้เลิกกินนมวัว แล้วให้เปลี่ยนไปกินนมสูตรพิเศษอื่นแทน เช่น นมที่ทำจากถั่วเหลือง (soy-based formula), นมสูตร “Hypoallergenic” หรือนมสูตรพิเศษอื่น ๆ ที่มีการดัดแปลงโมเลกุลของโปรตีนในนมให้ไม่เกิดอาการแพ้ ส่วนใหญ่จะต้องกินนานเป็นปี – 2 ปี จนกว่าระบบภูมิคุ้มกันเรื่องการแพ้นมวัวจะลดน้อยลง พบว่าเด็กมักจะหายจากอาการแพ้ได้ และถ้าการแพ้นมของเด็กเป็นชนิดไม่รุนแรง แพทย์อาจให้ลองกลับไปทานนมวัวดูใหม่ แต่คุณแม่อย่าได้ริไปลองให้ลูกทานด้วยตัวเองนะคะ ขณะทำต้องอยู่ในความดูแลของแพทย์เท่านั้น

โดยปกติการเปลี่ยนไปกินนมพิเศษอื่นควรอยู่ในการดูแลของแพทย์ อย่างการหันไปกินนมที่ทำจากถั่วเหลือง ทารกบางคนก็อาจแพ้นมถั่วเหลืองได้ โดยพบว่าคนที่แพ้นมวัวประมาณ 1 ใน 3 จะแพ้นมที่ทำจากถั่วเหลืองด้วย ดังนั้น คุณแม่ก็อย่ารีบเปลี่ยนสูตรนมปกติของลูกมาเป็นการให้ดื่มนมถั่วเหลืองในทันที ควรปรึกษาแพทย์ก่อน ซึ่งแพทย์จะแนะนำสูตรนมที่เหมาะสมให้กับลูกน้อยของคุณ

เมื่อเด็กอายุ 6 เดือน เริ่มรับประทานอาหารเสริมทดแทนนม คุณแม่ต้องระมัดระวังด้วยเพราะเด็กมีประวัติแพ้นมมาก่อนก็อาจจะมีโอกาสแพ้อาหารอย่างอื่นด้วย เช่น ไข่ขาว ถั่วลิสง อาหารทะเล เป็นต้น ดังนั้นเพื่อป้องกันไม่ให้เด็กแพ้อาหารเสริมที่รับประทานเข้าไป ควรปฏิบัติดังนี้

  • อย่าให้อาหารเสริมเร็วเกินไป และเมื่อเริ่มให้ควรให้เพียงแค่ 1 มื้อ
  • เริ่มอาหารเสริมในปริมาณน้อย ๆ ก่อน โดยเริ่มจากอาหารกึ่งเหลวกึ่งข้น
  • อาหารเสริมควรมีความหลากหลาย ไม่ซ้ำซาก แต่อย่าให้พร้อมกันหลายชนิด ควรให้ทีละชนิดเพื่อจะได้รู้ว่าเด็กแพ้อาหารอะไร และเว้นห่างการเริ่มให้อาหารเสริมแต่ละชนิดประมาณ 1-2 สัปดาห์
  • หลีกเลี่ยงอาหารที่มีการปรุงแต่งรสชาติ
  • ถ้าจะเสริมอาหารด้วยไข่ ควรเริ่มด้วยไข่แดงก่อนเพราะไข่ขาวย่อยยากและแพ้ได้ง่ายกว่า ควรต้มให้สุกไม่เป็นยางมะตูม ปริมาณที่ให้ควรเริ่มที่ ¼ หรือ ½ ช้อนชา แล้วค่อยเพิ่มปริมาณขึ้นจนถึงทั้งฟอง
  • ถ้าจะเสริมอาหารด้วยผัก ให้เลือกผักที่ต้มเปื่อยง่ายมีกากน้อยก่อน เช่น ฟักทอง ฟัก มะเขือเทศ ผักกาดขาว เป็นต้น
  • ถ้าจะเสริมอาหารด้วยปลา ให้เริ่มที่ปลาน้ำจืดก่อน เพราะเนื้อนิ่มและมีโอกาสแพ้น้อย โดยนำแต่ส่วนเนื้อ คัดหนังทิ้ง มาต้มหรือนึ่ง
  • ถ้าจะเสริมอาหารด้วยตับ ควรซื้อตับสดมาทำเอง โดยเริ่มที่ตับไก่ก่อน เนื่องจากมีความนิ่มและกลิ่นไม่แรงเมื่อเทียบกับตับของสัตว์อื่น

สำหรับการรักษาทางยาในทารกที่มีอาการ แพ้นม ควรอยู่ภายใต้การดูแลของแพทย์เท่านั้น เนื่องจากการใช้ยาในเด็กเล็กมีความเสี่ยงและอาจเกิดอันตรายได้ คุณแม่ไม่ควรใช้ยาพร่ำเพรื่อ อย่างบรรดายาแก้แพ้ ไม่ว่าจะกินหรือทา อย่าซื้อมาใช้เอง หากทารกมีอาการเข้าข่ายแพ้นม ถึงจะดูไม่รุนแรงมีแค่อาการทางผิวหนัง ก็ควรปรึกษาแพทย์เสมอ

คุณแม่ที่กังวลเรื่องการ แพ้นมวัว ของลูกน้อย อยากฝากเอาไว้สักนิด พบว่าเด็กที่แพ้นมวัวจะหายจากการแพ้ได้มากกว่าการแพ้อาหารชนิดอื่น จึงไม่ต้องกังวลกันไปจนเกินเหตุค่ะ

ค่ารักษา

เพิ่มเติม
การรักษา ราคา(บาท)
อัตราค่ารักษาพยาบาล แพทย์ที่ทำการรักษาเป็นผู้ประเมิน สอบถามข้อมูลเพิ่มเติม โทร 1723
การรักษา
อัตราค่ารักษาพยาบาล แพทย์ที่ทำการรักษาเป็นผู้ประเมิน สอบถามข้อมูลเพิ่มเติม
โทร 1723

หัตถการของศูนย์กุมารเวช

เกร็ดความรู้

เพิ่มเติม