chat

ภาวะบาดเจ็บที่ศีรษะ

ภาวะบาดเจ็บที่ศีรษะ

ภาวะบาดเจ็บที่ศีรษะ นับเป็นปัญหาสุขภาพที่ร้ายแรงอย่างหนึ่งของคนไทยและของโลก โดยเป็นสาเหตุของการเสียชีวิตในอันดับต้นๆ โดยเฉพาะการบาดเจ็บที่เกิดจากอุบัติเหตุจากการคมนาคม ซึ่งพบว่าครึ่งหนึ่งของผู้ป่วยที่ได้รับบาดเจ็บที่ศีรษะมีความสัมพันธ์กับการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ การบาดเจ็บที่ศีรษะเป็นปัญหาสำคัญ เพราะในแต่ละปีมีผู้ป่วยจำนวนมาก ดังนั้น จึงเป็นเรื่องสำคัญอย่างยิ่งที่ผู้ป่วยจะต้องได้รับการดูแลรักษาอย่างถูกต้อง เหมาะสม และทันเวลา เพื่อทำให้การดูแลรักษามีประสิทธิภาพมากที่สุด

ภาวะบาดเจ็บที่ศีรษะ (Head Injury) หมายถึง การบาดเจ็บที่เกิดจากแรงที่เข้ามากระทบต่อศีรษะและร่างกาย แล้วทำให้เกิดความบาดเจ็บต่อหนังศีรษะ กะโหลกศีรษะ สมองและเส้นประสาทสมอง โดยระดับอาการมีตั้งแต่เล็กน้อยจนถึงรุนแรง อาจเป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้คนไข้พิการ หรือเสียชีวิตได้ สาเหตุสำคัญที่ทำให้เกิดภาวะบาดเจ็บที่ศีรษะที่พบมากที่สุดคือ อุบัติเหตุจากการคมนาคม ได้แก่ อุบัติเหตุรถยนต์ รถจักรยานยนต์ คนเดินเท้า สาเหตุที่พบบ่อยรองลงมาคืออุบัติเหตุตกจากที่สูงและหกล้ม โดยส่วนใหญ่มักเกิดในผู้สูงอายุและเด็กเล็ก การทำร้ายร่างกายหรือใช้ความรุนแรงเป็นสาเหตุที่ทำให้เกิดการบาดเจ็บที่ศีรษะ สำหรับอุบัติเหตุจากกีฬาและนันทนาการ พบได้น้อยที่สุดของผู้ป่วยที่ได้รับบาดเจ็บที่ศีรษะ

ภาวะบาดเจ็บที่ศีรษะ แบ่งออกเป็น 2 แบบ คือ

ภาวะบาดเจ็บที่ศีรษะ

การบาดเจ็บโดยตรง (Direct injury) คือ การบาดเจ็บที่เกิดขึ้นบริเวณศีรษะโดยตรง มี 2 ลักษณะคือ การบาดเจ็บขณะที่ศีรษะอยู่นิ่งหรือเคลื่อนไหวเล็กน้อย เช่น ถูกตี ถูกยิง เป็นต้น หากถูกตีด้วยวัตถุที่มีขนาดใหญ่หรือมีความเร็วสูง จะทำให้สมองเกิดการสั่นสะเทือนอย่างรุนแรงได้ และการบาดเจ็บขณะศีรษะเคลื่อนที่ เช่น วิ่งชนป้าย ขับรถชนต้นไม้ หรือรถที่วิ่งสวนทางมา เป็นต้น ทำให้เกิดการบาดเจ็บบริเวณที่วัตถุมากระทบ มักมีการแตกร้าวของกะโหลกศีรษะร่วมด้วย รวมถึงมีการฉีกขาดและเลือดออกในสมองด้านตรงข้ามกับตำแหน่งที่ถูกแรงกระแทก

ภาวะบาดเจ็บที่ศีรษะ

การบาดเจ็บโดยอ้อม (Indirect injury) คือ การบาดเจ็บที่เกิดขึ้นกับส่วนอื่นของร่างกายแล้วมีผลกระทบทำให้เกิดการบาดเจ็บที่ศีรษะ เช่น ตกจากที่สูงก้นกระแทกพื้น ทำให้ศีรษะกระแทกลงมาที่กระดูกคอส่วนบน ซึ่งเป็นอันตรายต่อแกนสมองส่วนเมดัลลา (สมองส่วนท้ายสุด) โดยตรง ทั้งนี้ การบาดเจ็บโดยอ้อมจะไม่มีบาดแผลที่หนังศีรษะและกะโหลกศีรษะ

ภาวะบาดเจ็บที่ศีรษะ แบ่งออกเป็น 2 ระยะ คือ

1. บาดเจ็บที่ศีรษะระยะแรก (Primary head injury) เป็นการบาดเจ็บที่เกิดขึ้นในทันทีและมีแรงกระทบต่ออวัยวะชั้นต่างๆ ของศีรษะ ได้แก่

  • หนังศีรษะ ได้แก่ บวม ช้ำ หัวโน ถลอก ฉีกขาด หรือหนังศีรษะขาดหาย อาจมีการฉีกขาดของเนื้อเยื่อใต้หนังศีรษะร่วมด้วย และอาจมีเลือดออกใต้หนังศีรษะถึงแม้จะไม่มีการฉีกขาดของผิวหนังศีรษะส่วนบน
  • กะโหลกศีรษะ ได้แก่ กะโหลกแตกร้าวเป็นแนว กะโหลกแตกร้าวบริเวณฐาน และกะโหลกแตกยุบ ซึ่งอาจมีรอยแตกจากหนังศีรษะลงมาจนถึงกะโหลก หรือบริเวณหนังศีรษะไม่มีรอยฉีกขาดใดๆ
  • เนื้อสมองช้ำ เป็นภาวะที่สมองถูกกระทบกระเทือน มีเลือดแทรกอยู่ระหว่างเซลล์สมองใต้เยื่อหุ้มสมองชั้นใน โดยไม่มีการฉีกขาดของเยื่อหุ้มสมองชั้นกลางและเยื่อหุ้มสมองชั้นใน ทำให้ผิวของสมองมีสีคล้ำ ตำแหน่งที่ช้ำได้บ่อยคือบริเวณสมองส่วนหน้า
  • การบาดเจ็บทั่วไปของเนื้อสมองส่วนสีขาว มีการฉีกขาดของเนื้อสมองส่วนสีขาวทั่วเนื้อสมอง ทำให้การบาดเจ็บกระจายสู่สมองใหญ่และแกนสมองทั้งสองซีก มักเกิดกับผู้ป่วยที่ได้รับบาดเจ็บที่ศีรษะอย่างรุนแรง ทำให้หมดสติทันที แขนขาบิดเกร็ง จนกระทั่งเสียชีวิตโดยไม่รู้สึกตัว
  • เนื้อสมองฉีกขาด คือ มีการฉีกขาดของเนื้อสมอง ร่วมกับการฉีกขาดของเยื่อหุ้มสมองชั้นกลางและเยื่อหุ้มสมองชั้นใน สาเหตุมาจากกะโหลกศีรษะแตกเป็นแนวหรือแตกยุบ ทำอันตรายต่อเนื้อสมองและเยื่อหุ้มสมองโดยตรง

2. บาดเจ็บที่ศีรษะระยะที่สอง (Secondary head injury) เป็นภาวะแทรกซ้อนที่เกิดขึ้นหลังจากการบาดเจ็บที่ศีรษะระยะแรก โดยอาจใช้เวลาเป็นนาที ชั่วโมง หรือเป็นวัน การบาดเจ็บระยะที่สอง ได้แก่

  • ภาวะเลือดออกในกะโหลกศีรษะ คือ มีเลือดออกภายในกะโหลกศีรษะ อาจเกิดในหรือนอกตัวเนื้อสมอง เนื่องจากหลอดเลือดในกะโหลกศีรษะเกิดรอยแตกหรือรอยรั่ว สาเหตุส่วนใหญ่มาจากศีรษะถูกกระทบอย่างรุนแรง
  • สมองบวม มีการเพิ่มปริมาตรของเนื้อสมองเนื่องจากการบวมน้ำหลังได้รับบาดเจ็บ เช่น มีการเพิ่มของจำนวนน้ำในหรือนอกเซลล์ ปริมาณเลือดที่หล่อเลี้ยงสมองเพิ่มขึ้น หรือมีก้อนเลือดในเนื้อสมอง การเกิดภาวะสมองบวมอย่างเฉียบพลัน จะทำให้มีภาวะคาร์บอนไดออกไซด์คั่งในร่างกาย และทำให้ความดันเลือดแดงสูงอย่างเฉียบพลัน

การประเมินภาวะบาดเจ็บที่ศีรษะ

ผู้ป่วยที่ได้รับบาดเจ็บที่ศีรษะจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องได้รับการประเมินภาวะสุขภาพอย่างรวดเร็วและถูกต้อง เนื่องจากมีแนวโน้มที่จะเกิดความดันในกะโหลกสูงได้ง่าย ซึ่งเป็นสาเหตุที่ทำให้พิการและเสียชีวิต การประเมินภาวะสุขภาพ มีดังนี้

การซักประวัติ เมื่อผู้ป่วยได้รับ อุบัติเหตุ จะต้องหาสาเหตุของการเกิดอุบัติเหตุ ประเมินอาการผู้ป่วย มีอาการปวดศีรษะ คลื่นไส้อาเจียน หรือมีความรู้สึกที่ผิดปกติ เช่น มีเลือดออกจากจมูกหรือหู หูอื้อ ตามัว ชาที่ผิวหนังหรือไม่ ผู้ป่วยหมดสติไปนานแค่ไหน ดื่มสุราหรือกินยาด้วยหรือไม่ รวมถึงเวลาที่กินอาหารครั้งสุดท้าย

ภาวะบาดเจ็บที่ศีรษะ

การตรวจร่างกาย ตรวจระดับความรู้สึกตัวและมีสติ ลักษณะการหายใจ ตรวจรูม่านตา การเคลื่อนไหวแขนขา ปฏิกิริยารีเฟลกซ์ มีน้ำหรือเลือดไหลออกจากจมูกหรือหูหรือไม่ คลำดูเพื่อหารอยห้อเลือดบริเวณหนังศีรษะ ตรวจสัญญาณชีพ ดูอาการที่แสดงว่ามีความดันในกะโหลกเพิ่ม ตรวจดูว่ามีกระดูกหักร่วมด้วยหรือไม่

การตรวจเพื่อวินิจฉัย มีการเจาะเลือดเพื่อตรวจดูฮีมาโตคริต (Haematocrit) หรือปริมาตรเม็ดเลือดแดงในเลือด น้ำตาลในกระแสเลือด และแก๊สในหลอดเลือด ตรวจดูการหายใจ ถ่ายภาพรังสีกะโหลกศีรษะเพื่อตรวจดูว่ามีการแตกหรือไม่ รวมทั้งการตรวจเอกซเรย์คอมพิวเตอร์สมอง (Computed tomography scan; CT scan) การตรวจสมองด้วยคลื่นแม่เหล็ก (Magnetic resonance imaging; MRI ) การฉีดสีเข้าหลอดเลือดแดงเพื่อดูความผิดปกติว่ามีเลือดออกหรือมีสิ่งที่เกิดขึ้นในสมองหรือไม่ เพื่อจะได้วางแผนการช่วยเหลือได้อย่างถูกต้อง

การรักษาภาวะบาดเจ็บที่ศีรษะ

เมื่อผู้ป่วยได้รับบาดเจ็บที่ศีรษะ ปัญหาที่คุกคามชีวิตผู้ป่วยซึ่งอาจทำให้พิการหรือเสียชีวิต ได้แก่ การหายใจติดขัด ช็อกจากการเสียเลือดและน้ำ และสมองชอกช้ำอย่างรุนแรง การรักษาผู้ป่วยที่ได้รับบาดเจ็บที่ศีรษะมี 2 ระยะ คือ

1. ระยะฉุกเฉินหรือระยะเฉียบพลัน เป็นการประเมินอาการทางระบบประสาทร่วมกับระบบอื่นๆ ของร่างกาย เพื่อเป็นแนวทางในการวินิจฉัยของแพทย์, การดูแลและจัดทางเดินหายใจให้โล่ง โดยให้ออกซิเจนอย่างน้อย 24 ชั่วโมง, การดูแลให้มีเลือดไปเลี้ยง สมอง ได้อย่างเพียงพอ, รักษาอาการช็อกที่เกิดจากการบาดเจ็บบริเวณอวัยวะอื่นๆ เช่น กระดูกซี่โครงหักทิ่ม ผ่าตัดหลอดเลือดดำปอด และให้สารน้ำเข้าเส้นเพื่อแก้ไขภาวะช็อก

การช่วยผู้ป่วยลดความเจ็บปวดทุกข์ทรมาน ดูแลให้ได้รับการพักผ่อนและผ่อนคลาย, ดูแลรักษาสมดุลของภาวะโภชนาการของร่างกาย, ดูแลการขับถ่ายอุจจาระปัสสาวะ, รักษาอุณหภูมิร่างกายให้อยู่ในเกณฑ์ปกติ, ป้องกันการติดเชื้อ, ป้องกันภาวะแทรกซ้อนในระบบต่างๆ รวมทั้งประคับประคองจิตใจผู้ป่วย ญาติและบุคคลที่เกี่ยวข้อง

2. ระยะการรักษาทั่วไป เป็นการรักษาที่ต่อเนื่องจากการรักษาในระยะฉุกเฉิน การรักษาทั่วไป เช่น การรักษาเพื่อป้องกันสมองบวม การรักษาเพื่อคงความดันในกะโหลกศีรษะให้คงที่ การใส่สายยางปัสสาวะค้างไว้ในระยะแรกในรายที่สมองบวม เนื่องจากผู้ป่วยไม่สามารถควบคุมการขับถ่ายปัสสาวะได้

ผู้ป่วยที่ได้รับบาดเจ็บที่ศีรษะในระดับที่ไม่รุนแรง แม้ว่าจะได้รับการรักษาในเบื้องต้นและแพทย์ให้กลับบ้านได้แล้ว แต่ก็ยังมีความจำเป็นที่จะต้องเฝ้าสังเกตอาการอย่างใกล้ชิดประมาณ 1-2 วัน โดยอาการที่ต้องสังเกต ได้แก่ ระดับความรู้สึกตัว เช่น เรียกไม่ค่อยรู้สึกตัว นอนซึม เอะอะโวยวาย ไม่สามารถโต้ตอบและทำตามคำสั่งไม่ได้ คลื่นไส้ อาเจียน ปวดศีรษะมากขึ้น กล้ามเนื้อหน้า แขน ขา เกร็งและกระตุก และแขนขาอ่อนแรง

ภาวะบาดเจ็บที่ศีรษะ
ภาวะบาดเจ็บที่ศีรษะ

ปัจจุบันได้มีการนำเทคโนโลยี เครื่องถ่ายภาพสมองด้วยระบบคอมพิวเตอร์ (CT-SCAN) ซึ่งมีมาตรฐานและสามารถเชื่อมโยงข้อมูลในการส่งตรวจอย่างละเอียด มาใช้ในการรักษาผู้ป่วยที่มี ภาวะบาดเจ็บที่ศีรษะ โดยใช้คลื่นแม่เหล็กช่วยในการสร้างภาพ ทำให้เห็นสภาพของหลอดเลือดในสมอง (MRA BRAIN) หรือการตรวจคลื่นไฟฟ้าสมอง สามารถแสดงเป็นคลื่นปรากฏบนจอภาพและกระดาษกราฟได้ ข้อมูลที่ได้จากการตรวจด้วยเครื่อง CT-SCAN เช่น การตรวจโดยใช้สนามแม่เหล็กพลังสูง (MRI) การตรวจเฉพาะเส้นเลือดในสมอง เป็นต้น ซึ่งต้องได้รับการวินิจฉัยและใช้เครื่องมือโดยแพทย์ผู้ชำนาญการเฉพาะทางเท่านั้น

การหายของผู้ป่วยที่ได้รับบาดเจ็บที่ศีรษะขึ้นกับความรุนแรงของการบาดเจ็บ อายุของผู้ป่วยขณะได้รับบาดเจ็บ และคุณภาพของการรักษาพยาบาล โดยผลของการบาดเจ็บที่ศีรษะ สามารถประเมินจากความรุนแรงของการบาดเจ็บที่ศีรษะขณะแรกรับที่แผนกฉุกเฉิน โดยผู้ป่วยบาดเจ็บที่ศีรษะเล็กน้อย ส่วนใหญ่จะหายโดยไม่มีภาวะแทรกซ้อนรุนแรง อย่างไรก็ตาม มีการพบภาวะแทรกซ้อนที่ต้องได้รับการรักษาทางศัลยกรรมประสาท เช่น เนื้อสมองตาย, กะโหลกศีรษะแตกยุบ, เนื้อสมองช้ำ เป็นต้น ผู้ป่วยบาดเจ็บที่ศีรษะปานกลาง ผู้ป่วยโดยส่วนใหญ่มีอาการดีขึ้น มีบางส่วนที่มีสติปัญญาลดลง เนื่องจากการทำลายของเซลล์สมองอย่างถาวร และผู้ป่วยบาดเจ็บที่ศีรษะอย่างรุนแรง ผู้ป่วยกลุ่มนี้มีอัตราการเสียชีวิตประมาณร้อยละ 50 และหลังจากรอดชีวิต 6 เดือน พบว่ามีความพิการตามมา

ผู้ป่วยที่มีอาการสมองช้ำ หรือผู้ป่วยที่อาจมีเลือดคั่งกดทับเนื้อสมอง จำเป็นจะต้องได้รับการดูแลรักษาอย่างใกล้ชิดในห้อง ICU โดยจะได้รับการเฝ้าสังเกตอาการและการเปลี่ยนแปลงตลอดเวลา, งดให้อาหาร เครื่องดื่ม เผื่อกรณีฉุกเฉิน, มีการให้ยาและสารน้ำทางหลอดเลือด, มีการตรวจพิเศษ เช่น เอกซเรย์กะโหลกศีรษะและอวัยวะอื่นๆ ที่ได้รับบาดเจ็บ เอกซเรย์คอมพิวเตอร์เพื่อตรวจดูสมองอย่างละเอียด เป็นต้น หากผู้ป่วยมีเลือดคั่งกดทับเนื้อสมองจะต้องได้รับการผ่าตัด รวมถึงการรักษาอื่นๆ เช่น การบาดเจ็บอวัยวะอื่น โรคแทรกซ้อน กายภาพบำบัด ศัลยกรรมตกแต่ง เป็นต้น เพื่อให้ผู้ป่วยฟื้นตัวกลับสู่ภาวะปกติได้เร็วที่สุด

ค่ารักษา ภาวะบาดเจ็บที่ศีรษะ

อัตราค่ารักษาพยาบาล แพทย์ที่ทำการรักษาเป็นผู้ประเมิน สอบถามถามข้อมูลเพิ่มเติม

โทร 1723

ภาวะบาดเจ็บที่ศีรษะ