chat

ภัยเงียบ..เบาหวานขึ้นตา รีบรักษา ก่อนสูญเสียการมองเห็น

เบาหวาน เป็นโรคที่เรียกได้ว่ารุนแรงอันดับต้นๆ และจะเป็นบ่อเกิดโรคอื่นๆ ตามมาอีกด้วย เช่น โรคความดันโลหิตสูง ไขมันในเลือดสูง ฯลฯ ผู้ที่เป็นเบาหวานแล้ว ต้องมีการติดตามอาการและรักษาอย่างต่อเนื่องและสม่ำเสมอ ถ้าหากผู้ป่วยโรคเบาหวานไม่สามารถควบคุมระดับน้ำตาลในเลือด ก็จะเป็นอันนำให้ลุกลามไปถึงดวงตาและนั้นก็เป็นที่มาของ “โรคเบาหวานขึ้นตา” นั้นเอง

เบาหวานขึ้นตา เป็นสภาวะแทรกซ้อนจากโรคเบาหวาน เกิดจากการไม่ควบคุมระดับน้ำตาล ซึ่งทำให้ระดับน้ำตาลในเลือดสูงเป็นเวลานาน ส่งผลให้เส้นเลือดที่ไปเลี้ยงจอประสาทตาเกิดการอุดตันและเกิดความเสียหายกับจอตา จนกระทั่งทำให้มีเลือดออกบริเวณจอรับภาพในตา นับได้ว่าสูญเสียการมองเห็นไปเลยทีเดียวหากรักษาอาการเหล่านี้ไม่ทัน

สาเหตุเบาหวานขึ้นตา

เบาหวานขึ้นตา มีสาเหตุมาจากเส้นเลือดฝอยที่ไปหล่อเลี้ยงจอตาอุดตัน รวมถึงทำให้เลือดหรือสารน้ำอื่น ๆ รั่วไหลเข้าเรตินา ซึ่งมีผลกระทบต่อการมองเห็น อีกทั้งยังมีปัจจัยอื่น ๆ ที่เพิ่มความเสี่ยงให้เกิดภาวะเบาหวานขึ้นตาได้ โดยเฉพาะระยะเวลาของการเกิดโรค สาเหตุเหล่านี้ถ้าไม่ควบคุมหรือดูแลยิ่งปล่อยไว้นานก็ยิ่งมีความเสี่ยงสูง เช่น

  • การไม่ควบคุมระดับน้ำตาลในเลือด
  • ภาวะความดันโลหิตสูง และไขมันในเลือดสูง
  • พฤติกรรมการสูบบุหรี่ อย่างต่อเนื่อง
  • ไม่รับประทานยาตามที่แพทย์สั่ง

จอดวงตาปกติ

จอดวงตาเบาหวานขึ้นตา

ของเหลวซึมจากหลอดเลือดเข้าสู่จอตา

อาการ เบาหวานขึ้นตา

ในระยะแรกเริ่มอาจจะยังไม่พบความผิดปกติใดๆแต่ถ้าหากปล่อยอาจจะมีความรุนแรงมากขึ้น อาการที่พบได้ เช่น

  1. สายตามองเห็นเป็นจุดหรือเส้นคล้ายหยากไย่ สายตาพร่ามัว
  2. แยกแยะสีได้ยากขึ้น เห็นภาพมืดเป็นบางจุด
  3. สายตาไม่คงที่ สูญเสียการมองเห็น

ตรวจเบาหวานขึ้นตาได้อย่างไร

ปัจจุบัน เทคโนโลยีทางการแพทย์ได้พัฒนาการตรวจวินิจฉัยโรคได้อย่างแม่นยำ สะดวกรวดเร็วมากขึ้น ทำให้จักษุแพทย์วินิจฉัยโรคได้ตั้งแต่เพิ่งเริ่มเกิดโรค จนถึงขั้นตอนการรักษาโรค จึงทำให้รักษาได้ทันท่วงที และยังสามารถติดตามผลการรักษาโรคทางตาได้อย่างแม่นยำ โดยการตรวจวิเคราะห์ภาพตัดขวางจอประสาทตาด้วยเลเซอร์ (Optical Coherence Tomography) เพื่อที่จะดูลักษณะ และขอบเขตความผิดปกติที่เกิดขึ้นและที่สำคัญคือ ทำให้ผู้ป่วยสะดวกสบายมากขึ้น ลดความเสี่ยงตาบอดจากเบาหวาน ลดอาการเจ็บปวด ทรมาน

มาทำความรู้จักกับ เทคโนโลยี Optical Coherence Tomography หรือ OCT ซึ่งเป็นตัวช่วยจักษุแพทย์วินิจฉัยโรคเบาหวานขึ้นตา

เป็นเครื่องตรวจวิเคราะห์ภาพตัดขวางขั้วประสาทตาด้วยเลเซอร์ (Optical Coherence Tomography) หรือที่เรียกกันย่อๆ ว่า OCT เป็นเครื่องมือที่ใช้ถ่ายภาพจอประสาทตาในลักษณะภาพตัดขวาง จึงช่วยให้แพทย์เห็นความหนาของชั้นจอประสาทตา และความผิดปกติที่เกิดขึ้น โดยแพทย์จะใช้แสงส่องเข้าไปในตาให้ได้ภาพตัดขวางของจอตาออกมาเป็นภาพ 2 และ 3 มิติ ให้ความละเอียดในการวินิจฉัยในระดับ 10 – 15 ไมครอน สามารถแสดงให้เห็นจอตาคล้ายภาพที่ได้จากการตรวจชิ้นเนื้อด้วยกล้องจุลทรรศน์ ภายในชั้นต่างๆ ของจอตา และยังสามารถเห็นรายละเอียดบริเวณรอยต่อระหว่างน้ำวุ้นตากับจุดกลางรับภาพจอประสาทตาได้อีกด้วย อีกทั้งยังสามารถตรวจได้ถึงชั้นความหนาของจุดกลางรับภาพจอประสาทตาได้อย่างชัดเจน

ทั้งนี้เทคโนโลยี OCT สามารถตรวจโรคตาได้หลายประเภท อาทิ เช่น เบาหวานขึ้นตา เส้นเลือดดำที่จอประสาทตาอุดตัน โรคจุดรับภาพฉีกขาด ภาวะพังผืดที่จอประสาทตา และจุดรับภาพบวมจอประสาทตาหลุดลอก ภาวะเส้นเลือดผิดปกติที่จอประสาทตา และโรคต้อหิน เป็นต้น ถือว่าเป็นวิธีการตรวจที่ทำได้ง่าย ไม่ต้องขยายม่านตา ไม่ก่อให้เกิดความเจ็บปวด ไม่ต้องฉีดยา ไม่ต้องสัมผัสรังสี รวดเร็ว ละเอียด และแม่นยำ

วิธีรักษาเบาหวานขึ้นตา

ขึ้นอยู่กับความรุนแรงของเบาหวานที่ขึ้นตาว่าเป็นมากน้อยเพียงใด ถ้าเบาหวานขึ้นตาเริ่มแรกอาจจะควบคุมระดับน้ำตาลในเลือดให้คงที่และตรวจติดตามรอยโรคที่จอประสาทตาทุก 6 เดือน ถ้าเบาหวานขึ้นตาเริ่มมากหรือมีอาการของจุดรับภาพบวม แพทย์อาจพิจารณายิงเลเซอร์จอประสาทตา

ยิงเลเซอร์จอประสาทตา

ถ้าเบาหวานขึ้นตารุนแรงมีเส้นเลือดงอกผิดปกติ หรือมีเลือดออกในน้ำวุ้นตา เทคนิคที่ดีที่สุดในการรักษาเบาหวานขึ้นตา คือ การฉีดยาเข้า น้ำวุ้นตา (Intravitreous Injection) และ อาจจะทำร่วมกับการยิงเลเซอร์ที่จอประสาทตา

การฉีดยาเข้าน้ำวุ้นตา (Intravitreous Injection)

การฉีดยาเข้าวุ้นตาเป็นการรักษาโรคที่เกี่ยวกับจอตา (Intravitreous Injection) เป็นนวัตกรรมทางการแพทย์ที่ทำให้ประสิทธิภาพของการรักษาโรคในดวงตาดีขึ้นกว่าในอดีตมาก สามารถใช้รักษาภาวะหลากหลายของดวงตา ได้แก่ ภาวะหลอดเลือดผิดปกติที่ดวงตา และจอตาบวมสาเหตุต่างๆ เช่น ภาวะเบาหวานขึ้นจอตา จุดรับภาพเสื่อมในผู้สูงอายุ หลอดเลือดดำที่จอตาอุดตัน เป็นต้น โดยยาฉีดเข้าวุ้นตาจะไปยับยั้งการเจริญเติบโตของหลอดเลือดที่ผิดปกติช่วยลดการรั่วซึมของเลือดและลดการบวมของจอตาและจุดรับภาพ

ภาพตัดขวางจาการตรวจด้วยเครื่อง Optical Coherence Tomography (OCT)

จุดภาพชัดปกติ

จุดภาพชัดบวม จากภาวะเบาหวานขึ้นจอตา

ขั้นตอนการฉีดยาเข้าวุ้นตา

จักษุแพทย์จะทำการฉีดยาเข้าวุ้นตาโดยวิธีการปราศจากเชื้อ ก่อนฉีดแพทย์จะหยอดยาชาให้แก่ผู้ป่วย แล้วฉีดยาเข้าที่บริเวณเนื้อเยื่อตาขาวห่างจากขอบตาดำประมาณ 4 มิลลิเมตร หลังฉีดยาผู้ป่วยจะได้รับการปิดตา และสามารถเปิดตาได้เมื่อกลับถึงบ้าน

ข้อควรปฏิบัติหลังรับการฉีดยาเข้าวุ้นตา

หลังการฉีดยาเข้าวุ้นตาผู้ป่วยสามารถทำกิจวัตรประจำวันได้ตามปกติ เช่น การอ่านหนังสือ ดูโทรทัศน์ การใช้คอมพิวเตอร์ ซึ่งจะไม่ส่งผลกระทบใดๆต่อดวงตาและผู้ป่วยควรปฏิบัติ ดังนี้

  1. หยอดยาปฏิชีวะนะตามแพทย์สั่งเพื่อลดความเสี่ยงต่อการอักเสบติดเชื้อในตา
  2. ระวังสิ่งแปลกปลอม เช่น ฝุ่น น้ำ เข้าตา
  3. ไม่ควรขยี้ตา
  4. มาตรวจตามที่แพทย์นัด

อย่างไรก็ตามผู้ป่วยจะต้องรีบเข้ารับการรักษาติดตามอาการและมาตรวจตามที่แพทย์นัดเพราะตราบใดที่มีภาวะแทรกซ้อนจากเบาหวานขึ้นตาเข้ามาแล้วจึงมีความเสี่ยงสูงที่จะเกิดการสูญเสียดวงตามาก แพทย์ผู้ชำนาญการจะได้ช่วยวินิจฉัยตามความเหมาะสม ด้วยวิธีการรักษาด้วยเทคโนโลยีอันทันสมัยเหล่านี้ นับว่าเป็นทางเลือกเพื่อเพิ่มความมั่นใจและความปลอดภัยในการรักษาเพื่อถนอมสายตาและการมองเห็นให้อยู่คู่กับท่านไปนาน ๆ

ค่ารักษา ฉีดยาเข้าวุ้นตา (Intravitreous Injection)

ยา AVASTIN 1 ข้าง (BEVACIZUMAB)

6,000 บาท/ข้าง

ยา AVASTIN 2 ข้าง (BEVACIZUMAB)

9,500 บาท/2 ข้าง

ยา EYLEA 1 ข้าง (AFLIBERCEPT)

60,000 บาท/ข้าง

ยา EYLEA 2 ข้าง (AFLIBERCEPT)

65,000 บาท/2 ข้าง