chat

แปลงเพศจากหญิงเป็นชายขั้นตอนที่ 1

“ผ่าตัดเต้านมออกร่วมกับการตัดมดลูกและรังไข่ออก”

ขั้นตอนที่ 1 ในการผ่าตัดแปลงเพศจากหญิงเป็นชาย เป็นการตัดอวัยวะส่วนที่แสดงความเป็นหญิงออกไป นั่นก็คือ “การผ่าตัดเอาเต้านมออก ร่วมกับการตัดมดลูกและรังไข่ออก” ซึ่งขั้นตอนนี้เป็นขั้นตอนที่ทำได้ง่ายที่สุดในกระบวนการทั้งหมด อันดับแรกเราไปรู้ข้อมูลการตัดเต้านมออกก่อนที่จะถึงขั้นตอนการตัดมดลูกและรังไข่

ราคาตัดเต้านม/ตัดมดลูกรังไข่

อยากตัดเต้านม ผ่านเกณฑ์อะไรบ้าง

ตัดเต้านมเทคนิคตัว U

ตัดเต้านมเทคนิคตัว I

รีวิวตัดเต้านม

เทคนิคตัดมดลูกรังไข่ผ่านกล้อง

เทคนิคตัดมดลูกรังไข่ผ่านช่องคลอด

เทคนิคตัดมดลูกรังไข่ผ่านหน้าท้อง

ตัดเต้านม เพิ่มความเป็นชาย

การตัดเต้านมออก เป็นวิธีที่ช่วยตัดปัญหาอย่างถาวร ทำให้มีความมั่นใจในการใช้ชีวิตประจำวันมากยิ่งขึ้น ไม่ต้อง อึดอัดจากการใส่สเตย์รัดหน้าอก และเป็นกระบวนการแรกของทรานส์แมนที่กำลังจะก้าวไปสู่การแปลงเพศเป็นชายที่สมบูรณ์แบบ

อยากตัดเต้านมต้องผ่านเกณฑ์อะไรบ้าง

ต้องมีอายุ 20 ปีขึ้นไป (หากอายุ 18 ปีแต่ไม่ถึง 20 ปี จะต้องได้รับการยินยอมจากผู้ปกครอง)

ผ่านการตรวจสุขภาพและมีสุขภาพปกติแข็งแรง

ผ่านการประเมินสภาพจิตใจและมีใบรับรองจากจิตแพทย์อย่างน้อย 2 ท่าน ว่ามีภาวะจิตใจที่ไม่ตรงกับเพศสภาพ ( Gender Identity Disorder) และต้องการเปลี่ยนเพศสภาพให้ตรงกับที่จิตใจต้องการ

ต้องใช้ชีวิตแบบเพศชายมาไม่น้อยกว่า 1 ปี

เตรียมตัวให้พร้อมก่อนตัดเต้านม

พบจิตแพทย์

ตรวจร่างกายทั่วไปเพื่อดูความพร้อมของร่างกาย

ตรวจเลือดเพื่อดูความผิดปกติต่าง ๆ และเตรียมความพร้อมสำหรับการดมยาสลบ

ตรวจดูหน้าอก ขนาดของเต้านม ก้อนผิดปกติที่บริเวณเต้านม หากมีก้อนเต้านมที่ผิดปกติอาจต้องตรวจเพิ่มเติมว่าเป็นเนื้องอกชนิดร้ายแรงหรือไม่

หยุดยาฮอร์โมนเพศชายก่อนการผ่าตัดอย่างน้อย 2 สัปดาห์เพราะอาจทำให้เลือดออกมาก หรือการแข็งตัวของเลือดผิดปกติ

คนไข้ต้องรับทราบข้อมูลการผ่าตัดหน้าอกจากแพทย์ อาทิ รู้ลักษณะแผลเป็นที่จะเกิดขึ้นจากการผ่าตัดในกรณีที่เป็นแผลรูป I (แผลขวางหน้าอก) หรือใต้ปานนม (แผล U ) ลักษณะของหน้าอกที่อาจจะมีไขมันส่วนเกิน หรือผิวหนังส่วนเกินที่อาจต้องแก้ไขเพิ่มเติม รวมถึงผลข้างเคียงของการผ่าตัดเต้านม ฯลฯ

เทคนิคผ่าตัดเต้านม ( Mastectomy )

ด้วยความที่เต้านมผู้หญิงไม่เหมือนผู้ชายเพราะมีเนื้อเต้านมมากกว่า ดังนั้นการผ่าตัดเต้านมจึงหมายถึงการเอาเนื้อเต้านมออก ซึ่งทำได้หลายวิธีขึ้นอยู่กับขนาดและลักษณะของเต้านมคนไข้ในแต่ละราย

1. การผ่าตัดบริเวณปานนม (เทคนิคตัว U หรือ O)

เหมาะสำหรับคนที่มีหน้าอกคัพ A-B ขนาดเล็กและขนาดปานกลาง วิธีนี้มีแผลเป็นน้อย ซ่อนแผลผ่าตัดได้ดี โดยแพทย์จะทำการเปิดแผลผ่าตัดที่ปานนม หากคนไข้มีหน้าอกเล็กส่วนมากจะใช้เทคนิคตัว U ครึ่งปานนม และคนไข้ที่มีหน้าอกขนาดปานกลางอาจจะใช้เทคนิคตัว O

ตำแหน่งแผลผ่าตัดหน้าอกรูปตัว U

ตำแหน่งแผลผ่าตัดหน้าอกรูปตัว O

2. การผ่าตัดโดยตัดผิวหนังของเต้านมออกด้วย (เทคนิคตัว I หรือ แผลแนวขวาง)

เหมาะสำหรับคนที่มีหน้าอกค่อนข้างใหญ่คัพ C ขึ้นไป หรือในบางรายมีลักษณะเต้านมหย่อนคล้อยร่วมด้วย จึงจำเป็นต้องตัดหนังเต้านมออกไป เย็บให้เรียบร้อยและจะต้องมีการย้ายตำแหน่งของปานนมและหัวนมด้วย โดยแพทย์จะเริ่มการผ่าตัดด้วยการตัดปานนมและหัวนมออกเป็นรูปวงกลมแล้วพักเก็บไว้ชั่วคราว จากนั้นตัดเนื้อส่วนเกินและเลาะเต้านมทั้งหมดออกจากกล้ามเนื้อหน้าอก ซึ่งยังคงเหลือผิวหนังหน้าอกให้เหลืออยู่ในปริมาณที่กำหนดไว้ และหากยังมีเนื้อเหลืออยู่เป็นก้อน ๆ ไม่สวยงาม แพทย์จะทำการดึงส่วนกลางให้เรียบจากนั้นก็จะซ่อนแผลไว้ใต้รักแร้ จากนั้นทำการเย็บผิวหนังเป็นรูปตัว I (แผลแนวขวาง) ตามแนวฐานเต้านม (ขึ้นอยู่กับปริมาณของผิวหนังส่วนเกินที่ตัดออก) ขั้นตอนสุดท้าย แพทย์จะนำปานนมและหัวนมมาตัดแต่งให้มีขนาดและความหนาที่เหมาะสม แล้วจึงเย็บตรึงกับหน้าอกตามตำแหน่งที่ถูกต้องที่ได้กำหนดไว้

ตำแหน่งแผลผ่าตัดหน้าอกรูปตัว I หรือแผลแนวขวาง

ซึ่งระยะเวลาในการผ่าตัดในกรณีที่คนไข้มีเนื้อเต้านมไม่มาก ส่วนใหญ่จะใช้เวลารวมทั้ง 2 ข้างประมาณ 1-1 ชั่วโมงครึ่ง) หากเป็นรายที่มีเนื้อเต้านมมากจะใช้เวลา รวมทั้ง 2 ข้างประมาณ 2 ชั่วโมง

หลังผ่าตัดและการพักฟื้น

โดยหลังผ่าตัด แพทย์จะทำการใส่ท่อดูดระบายน้ำเลือดและน้ำเหลืองออกจากแผลผ่าตัดเพื่อป้องกันภาวะเลือดคั่งใต้ผิวหนัง ต่อกับขวดสุญญากาศไว้ และจะถอดสายนี้ออกหลังจากแผลหายและไม่มีน้ำเลือดออกจากแผลผ่าตัดแล้ว โดยทั่วไปใช้เวลาคาสายและขวดนี้ไว้ประมาณ 3-5 วัน ก็สามารถถอดสายและเอาขวดออกได้ และมีการใส่สเตย์รัดไว้เพื่อเป็นการกระชับหน้าอก โดยแพทย์จะทำหมอนรองที่ปานนมไว้เพื่อกันไว้ไม่ให้หัวนมพับไปกดทับแผลที่ปานนมเวลาใช้สเตย์รัดหน้าอก ป้องกันการไหลเวียนของเลือดไปเลี้ยงแผลไม่เพียงพอ มีโอกาสทำให้ปานนมคล้ำหรือเนื้อเยื่อตายได้ และภายหลังจากการตัดไหมแล้ว แพทย์จะทำการติด sterile-strip (เทปขาว) ประมาณ 3-5 วัน เพื่อช่วยยึดแผลไว้ก่อน โดยหลีกเลี่ยงไม่ให้แผลโดนน้ำช่วงที่ติดเทปไว้ หรือหากต้องการอาบน้ำให้ใช้พลาสเตอร์ชนิดกันน้ำติดไว้ได้

ส่วนระยะเวลาในการพักฟื้นนั้น จะต้องนอนพักที่โรงพยาบาล 1-2 คืน จากนั้นก็สามารถกลับไปพักต่อที่บ้านได้ และหลังจากนั้น 7 วัน แพทย์จะนัดมาดูแผลรวมถึงตัดไหม โดยหลังผ่าตัดประมาณ 2 สัปดาห์ คนไข้จะสามารถใช้ชีวิตประจำวันได้ปกติ และในระยะเวลาที่แผลจะสมานกันและหายเป็นปกติจะอยู่ที่ประมาณ 3-6 เดือน

ผลข้างเคียงที่อาจเกิดขึ้นได้หลังผ่าตัด

การเกิดแผลเป็นหลังผ่าตัด จะมีขนาดใหญ่หรือเล็กก็ขึ้นอยู่กับวิธีที่ใช้ในการผ่าตัด ในบางรายอาจเกิดแผลเป็นนูนหรือคีลอยด์ได้ แนะนำว่าหลังผ่าตัดหากแผลแห้งดีแล้ว (ประมาณ 2 สัปดาห์) สามารถติดซิลิโคนเจลเพื่อป้องกันการเกิดแผลคีลอยด์

ความรู้สึกของหน้าอกหลังการผ่าตัดในระยะแรกอาจจะมีอาการชาได้ที่บริเวณหน้าอก แต่มักจะฟื้นตัวขึ้นได้หลังการผ่าตัดประมาณ 3-6 เดือน ถึงแม้จะไม่เหมือนเดิมทั้งหมด แต่ก็ยังมีความรู้สึกได้เช่นเดียวกับผิวหนังหน้าอก กรณีนี้คนไข้เต้านมเล็กจะยังคงมีความรู้สึกที่หน้าอกมากกว่าคนไข้เต้านมใหญ่

หัวนมสูญเสียการรับรู้ความรู้สึกพิเศษไปบางส่วน หรือทั้งหมด ได้แก่ ความรู้สึกเมื่อถูกกระตุ้น หรือถูกปลุกเร้าทางเพศ เนื่องจากเส้นประสาทพิเศษที่อยู่ด้านข้างเต้านมจะถูกตัดออกไปทั้งหมดพร้อมกับเนื้อเต้านม

ดูแลตัวเองหลังผ่าตัดเต้านม

งดยกของหนัก การขับรถ และออกกำลังกาย 1 เดือนหลังผ่าตัด

งดรับประทานอาหารหมักดอง การสูบบุหรี่ และการดื่มแอลกอฮอล์อย่างน้อย 1 เดือนหลังผ่าตัด

ใส่สเตย์รัดหน้าอกตามที่แพทย์แนะนำอย่างเคร่งครัด เพื่อช่วยให้หน้าอกเข้ารูปได้เร็วขึ้น

รับประทานยา รวมถึงปฏิบัติตัวตามที่แพทย์สั่งอย่างเคร่งครัด

ตัดเต้านม แผลสวย อกแบนราบ

การผ่าตัดหน้าอกออกแล้ว ก็เหมือนเป็นการเอาอวัยวะส่วนใดส่วนหนึ่งของร่างกายออกไป อย่างไรก็ดีหลังผ่าตัดคนไข้ควรได้รับการตรวจติดตามอาการหลังผ่าตัดกับจิตแพทย์ เพื่อประเมินความพึงพอใจและการปรับตัวหลังการผ่าตัด รวมไปถึงการวางแผนการผ่าตัดในกรณีทรานส์แมนที่อยากจะเดินหน้าต่อในขั้นตอนถัดไปนั่นก็คือ “การตัดมดลูกรังไข่”

รีวิว ตัดเต้านม


ตัดหน้าอกแผลเทคนิคตัว U : นพ.สุกิจ วรธำรง

ตัดหน้าอกแผลเทคนิคตัว U : นพ.โชคชัย อมรสวัสดิ์วัฒนา

ตัดหน้าอกแผลเทคนิคตัว U : นพ.โชคชัย อมรสวัสดิ์วัฒนา

ตัดหน้าอกแผลเทคนิคตัว I : นพ.โชคชัย อมรสวัสดิ์วัฒนา

ผ่าตัดมดลูกและรังไข่

กระบวนการผ่าตัดมดลูกและรังไข่ออกนั้นเป็นขั้นตอนที่เกิดขึ้นต่อจากการผ่าตัดเต้านมออก นิยมทำในกรณีที่คนไข้มีความต้องการจะแปลงเพศให้สมบูรณ์แบบเท่านั้น เนื่องจากกระบวนการนี้คนไข้ต้องเสียอวัยวะภายในที่สำคัญสำหรับผู้หญิงไปแบบถาวร โดยการผ่าตัดมดลูกและรังไข่ออกนี้ หากคนไข้มีความพร้อมก็สามารถที่จะทำพร้อมกับการตัดเต้านมออกได้ เพื่อจะได้ไม่ต้องกลับมาผ่าตัดเพิ่มเป็นสองครั้ง

สูตินรีแพทย์และจิตแพทย์จึงต้องประเมินอย่างละเอียดว่าคนไข้ตัดสินใจบนพื้นฐานความรู้ ความต้องการที่แท้จริง เพื่อไม่ให้เกิดความผิดพลาดในอนาคต ทั้งนี้การผ่าตัดเอามดลูกและรังไข่ออกไปนั้นเป็นหน้าที่ของสูตินรีแพทย์

เทคนิคผ่าตัดมดลูกรังไข่

การผ่าตัดมดลูกและรังไข่ ในปัจจุบันสามารถทำได้ 3 วิธี คือผ่าตัดมดลูกโดยการส่องกล้อง ผ่าตัดมดลูกผ่านทางช่องคลอด และผ่าตัดมดลูกออกทางหน้าท้อง ซึ่งในคนไข้แต่ละรายจะใช้วิธีการผ่าตัดที่แตกต่างกันไปตามความเหมาะสมที่แพทย์ได้ทำการวินิจฉัยและวางแผนการรักษา

ผ่าตัดมดลูกโดยการส่องกล้อง

เป็นเทคนิคใหม่ที่มีแผลในการผ่าตัดค่อนข้างเล็ก เปิดแผลโดยการทำรอยเล็กๆ 3 รอย บริเวณสะดือ 1 รอย และบริเวณหน้าท้องส่วนล่างอีก 2 รอย รอยแผล จะเห็นไม่ชัดเจนมากนัก

ข้อดี ข้อเสีย
แผลเล็ก ราคาสูง
เจ็บน้อย ฟื้นตัวเร็ว
โอกาสติดเชื้อน้อย
กลับมาทำงานหนักได้ภายใน 2 เดือน

ผ่าตัดมดลูกผ่านทางช่องคลอด

เป็นเทคนิคที่ ไม่ทิ้งรอยแผลเป็นหลังผ่าตัด เนื่องจากไม่มีการเปิดแผลผ่านทางหน้าท้อง ใช้เวลาในการพักฟื้นน้อยกว่าวิธีอื่นๆ

ข้อดี ข้อเสีย
ไม่มีแผลผ่าตัด ราคาสูง
เจ็บน้อย ฟื้นตัวเร็ว
โอกาสติดเชื้อน้อย
กลับมาทำงานหนักได้ภายในเวลาประมาณ 2 เดือน

ผ่าตัดมดลูกออกทางหน้าท้อง

เป็นเทคนิคที่ใช้กันทั่วไป ลักษณะของแผลผ่าตัดจะเป็นเส้นตรง ขนาดประมาณ 6-8 ซม. โดยใช้เวลาในการผ่าตัดไม่เกิน 2 ชั่วโมง

ข้อดี ข้อเสีย
เป็นเทคนิคที่มีความปลอดภัย แผลผ่าตัดค่อนข้างกว้าง
ราคาไม่สูง พักฟื้นนาน
โอกาสเกิดแผลเป็นสูง

เตรียมตัวก่อนผ่าตัดมดลูกและรังไข่

ตรวจร่างกายเพื่อดูความพร้อม

ตรวจเลือดเพื่อดูความผิดปกติต่างๆ และเตรียมความพร้อมสำหรับการดมยาสลบ

ตรวจภายในเพื่อตรวจดูลักษณะ ขนาด และความผิดปกติตั้งแต่ปากช่องคลอด ช่องคลอด ปากมดลูก มดลูก และรังไข่ อาจใช้การตรวจอัลตราซาวนด์เพื่อให้การตรวจชัดเจนยิ่งขึ้น

หยุดยาฮอร์โมนเพศชายก่อนผ่าตัดอย่างน้อย 2 สัปดาห์

ควรรับประทานอาหารอ่อนและอาหารที่มีกากใยน้อย 1-2 วัน ก่อนมาโรงพยาบาล เพราะในคืนก่อนวันทำการผ่าตัด คนไข้จะได้รับการสวนอุจจาระเพื่อไม่ให้ลำไส้โป่งพองในขณะผ่าตัด

หลังผ่าตัดดูแลตัวเองดี ไร้ภาวะแทรกซ้อน

รับประทานอาหารอ่อน อย่างน้อย 2 สัปดาห์

งดรับประทานอาหารหมักดอง การสูบบุหรี่ และการดื่มแอลกอฮอล์อย่างน้อย 1 เดือนหลังผ่าตัด

หลังผ่าตัดให้เดิน หรือเคลื่อนไหว เพื่อให้ลำไส้ทำงานกลับมาเป็นปกติเร็วขึ้น แต่ห้ามหักโหมอาจทำให้แผลมีเลือดออกได้

ห้ามยกของหนัก หลังผ่าตัด อย่างน้อย 1 เดือน

ใช้ผ้ารัดหน้าท้อง เพื่อกระชับหน้าท้อง ลดอาการปวด อย่างน้อย 1 เดือน

ถึงแม้ว่าขั้นตอนที่ 1 นี้ จะเป็นขั้นตอนที่ทำได้ง่ายที่สุดในกระบวนการแปลงเพศจากหญิงเป็นชาย แต่ก็ต้องผ่าตัดโดยแพทย์ผู้ชำนาญการเฉพาะทางที่มีประสบการณ์เท่านั้น และหลังผ่าตัดหน้าอกรวมถึงการผ่าตัดมดลูกและรังไข่ออกแล้ว ควรมีการตรวจติดตามอาการหลังผ่าตัดกับจิตแพทย์ เพื่อประเมินความพึงพอใจและการปรับตัวหลังการผ่าตัด รวมถึงการวางแผนการรักษาในขั้นตอนต่อ ๆ ไป

และที่สำคัญคนไข้จะไม่มีแหล่งผลิตฮอร์โมนเพศหญิงเหลืออยู่อีก ก็ควรให้ฮอร์โมนเพศชายทดแทนต่อเนื่องในระยะยาว หรืออาจตลอดชีวิต (หากคนไข้ต้องการ) เพื่อรักษาภาวะวัยทอง และควรตรวจติดตามสุขภาพเป็นระยะๆ

ค่ารักษา

ตัดเต้านม

ตัดเต้านมออก (พักรพ. 2 คืน)

86,000 บาท

ตัดเต้านมออกเป็นรูป I (พักรพ. 2 คืน)

96,000 บาท

ย้ายหัวนม Nipple Graft

15,500 บาท

ตัดมดลูกรังไข่

ผ่าตัดมดลูกรังไข่ (พักรพ. 4 คืน)

86,000 บาท

เกร็ดความรู้

เพิ่มเติม