chat

ผ่าตัดเสริมสร้างเต้านม

ผ่าตัดเสริมสร้างเต้านม

มะเร็งเต้านม เป็นมะเร็งที่พบบ่อยในหญิงไทย พบมากเป็นอันดับ 2 รองจากมะเร็งปากมดลูก ในการรักษามะเร็งเต้านมนั้น มักลงเอยด้วยการผ่าตัดเต้านมออกไปทั้งเต้า ซึ่งแน่นอนว่าย่อมส่งผลต่อสภาพจิตใจของผู้ป่วยเป็นอย่างมาก ผู้ป่วยมักรู้สึกวิตกกังวล ขาดความมั่นใจในภาพลักษณ์ของตนเอง การเข้าสังคม หรือในชีวิตสมรส จากการที่ต้องสูญเสีย เต้านม ที่เป็นสัญลักษณ์ความเป็นเพศหญิงไป อย่างไรก็ตาม ปัจจุบันมีทางเลือกสำหรับผู้ป่วยที่จะกลับมามีเต้านมใหม่ ทั้งในส่วนของผู้ป่วยที่ต้องเข้ารับการผ่าตัดรักษามะเร็งเต้านมในอนาคตอันใกล้ หรือแม้แต่ผู้ป่วยที่ได้ผ่าตัดเต้านมออกไปนานแล้วก็ตาม โดยการ ผ่าตัดเสริมสร้างเต้านม (Breast  Reconstruction)

การ ผ่าตัดเสริมสร้างเต้านม เป็นการผ่าตัดเพื่อสร้างรูปทรงเต้านมขึ้นมาใหม่ให้ใกล้เคียงเต้านมเดิมในผู้ป่วย มะเร็งเต้านม ที่ได้ผ่าตัดเต้านมออกไป ช่วยลดความรู้สึกสูญเสียอวัยวะที่บ่งบอกความเป็นเพศหญิง ช่วยฟื้นฟูสภาพจิตใจ เพิ่มความมั่นใจ และช่วยยกระดับคุณภาพชีวิตของผู้ป่วยให้ดีขึ้นได้ 

การ ผ่าตัดเสริมสร้างเต้านม สามารถเสริมได้เมื่อใด

1. เสริมทันทีพร้อมการตัด เต้านม (immediate breast reconstruction)

การผ่าตัดเสริมสร้างเต้านมสามารถทำไปพร้อมกับการผ่าตัดเต้านมได้ แต่ควรเป็นผู้ป่วยที่มีความเสี่ยงต่ำ นั่นคือต้องเป็นผู้ป่วยที่เป็นมะเร็งเต้านมในระยะแรก (early stage) เนื้อเยื่อบริเวณเต้านมต้องไม่ได้รับความเสียหายจากการฉายแสง หรือมีบาดแผล รวมถึงมีขนาดรูปร่างเต้านมที่เหมาะสม ซึ่งผู้ป่วยสามารถปรึกษาและวางแผนเกี่ยวกับการผ่าตัดเสริมสร้างเต้านมร่วมกับแพทย์ เพื่อหาทางเลือกที่เหมาะสมกับผู้ป่วยแต่ละรายได้

การผ่าตัดเสริมสร้างเต้านมที่ทำพร้อมการตัดเต้านม มีข้อดีคือ ผู้ป่วยจะทำผ่าตัดครั้งเดียว แผลจากการผ่าตัดจะเป็นแผลเดียวกับที่ผ่าตัดมะเร็ง โดยแพทย์สามารถวางแผนการจัดการเสริมสร้างได้ตั้งแต่แรกเริ่ม เช่น การกำหนดบริเวณผิวหนังที่ผ่าออกว่าจะตัดออกแค่ไหน อย่างไร รอยแผลเป็นอย่างไร และยังสามารถรักษาโครงสร้างที่สำคัญ ๆ ไว้ได้ อาทิ ผิวหนังบริเวณเต้านม, หัวนม, ลานหัวนม เพื่อให้การผ่าตัดเสริมสร้างออกมาดีที่สุด ส่วนในมุมของผู้ป่วยก็จะไม่รู้สึกว่าสูญเสียเต้านมไป  ความเครียดกังวลจากการสูญเสียเต้านมจึงน้อยกว่า

นอกจากนั้นการผ่าตัดเสริมสร้างเต้านมพร้อมกับการผ่าตัดมะเร็งเต้านมยังไม่ส่งผลต่อการเกิดซ้ำของมะเร็งเต้านม

2. เสริมภายหลังการตัด เต้านม(delayed breast reconstruction)

ผู้ป่วยที่ผ่าตัดรักษามะเร็งเต้านมโดยการผ่าตัดเต้านมออกไป บางกรณีผู้ป่วยต้องได้รับการรักษาโรคมะเร็งเต้านมให้เสร็จเรียบร้อยเสียก่อน  เช่น การได้รับรังสีรักษา หรือเคมีบำบัด ดังนั้น การผ่าตัดเสริมสร้างเต้านมจึงอาจต้องเลื่อนเวลาออกไปประมาณ 1-2 ปี กรณีผู้ป่วยได้รับการตัดเต้านมไปแล้วไม่ว่าจะนานแค่ไหนก็ตาม หากมีความพร้อมและความต้องการที่จะผ่าตัดเสริมสร้างเต้านมก็สามารถทำได้เช่นกัน 

เทคนิคการ ผ่าตัดเสริมสร้างเต้านม

ปัจจุบันการผ่าตัดเสริมสร้างเต้านมในผู้ป่วย มะเร็งเต้านม ที่ผ่าตัดเต้านมออกไปไม่ว่าจะตัดออกบางส่วนหรือตัดทิ้งทั้งเต้ามีอยู่หลายเทคนิค ซึ่งแต่ละเทคนิคก็มีข้อดีข้อด้อยแตกต่างกันไป สำหรับศูนย์เสริมสร้างเต้านม โรงพยาบาลยันฮี ได้เปิดให้บริการผ่าตัดเสริมสร้างเต้านมให้กับผู้ป่วยมะเร็งเต้านมทั้งในส่วนผู้ป่วยใหม่ที่จะเข้ารับการผ่าตัดและผู้ป่วยเก่าที่ผ่าตัดเต้านมมาแล้วนานหลายปี โดยมีเทคนิคการผ่าตัดดังนี้

1. การเสริมสร้างเต้านมใหม่ โดยการฉีดเสริมด้วยไขมัน (Lipofilling)

คลิก

2. การเสริมสร้างเต้านมใหม่ โดยใช้ถุงเต้านมเทียม (Tissue Expander – Prosthesis technique) คลิก

3. การเสริมสร้างเต้านมใหม่ โดยใช้เนื้อเยื่อของตัวผู้ป่วยเอง(Autologous technique) คลิก

เทคนิคการผ่าตัดเสริมสร้างเต้านมขึ้นมาใหม่แต่ละเทคนิคที่กล่าวไปนั้น แพทย์จะอธิบายถึงวิธีการทำ ตลอดจนข้อดีข้อเสียของเทคนิคต่าง ๆ ให้ผู้ป่วยทราบอย่างละเอียดถี่ถ้วน ส่วนจะเลือกใช้เทคนิคไหนนอกจากขึ้นกับการตัดสินใจของผู้ป่วยเองแล้ว แพทย์จะพิจารณาด้วยว่าผู้ป่วยแต่ละรายเหมาะสมกับเทคนิคใด ในผู้ป่วยบางรายอาจเหมาะที่จะใช้มากกว่าหนึ่งเทคนิค เช่น ใช้ถุงเต้านมเทียมร่วมกับการใช้เนื้อเยื่อจากส่วนอื่น ๆ ของร่างกาย เป็นต้น แพทย์จะเป็นผู้พิจารณาเลือกวิธีที่ดีและเหมาะกับผู้ป่วยแต่ละรายเพื่อให้ผู้ป่วยได้เต้านมใหม่ที่มีความสวยงามเป็นธรรมชาติอย่างที่ต้องการ 

การสร้างหัวนมและลานหัวนม (Nipple reconstruction)

ผู้ป่วยที่ผ่าตัดเสริมสร้างเต้านมใหม่โดยทำไปพร้อมกับการตัดก้อนเนื้องอก โดยบางรายยังสามารถเก็บผิวหนังบริเวณเต้านม หัวนม และลานหัวนมไว้ ขั้นตอนนี้ก็ไม่มีความจำเป็น

ส่วนผู้ป่วยที่ผ่าตัดจนไม่เหลือหัวนมและลานหัวนมเลย ไม่ว่าจะผ่ามาแล้วนานเท่าใดก็ตาม ในการผ่าตัดเสริมสร้างเต้านมใหม่ แพทย์จะทำการสร้างเต้าขึ้นมาก่อน หลังจากนั้นประมาณ 3 – 4 เดือน จึงจะสร้างในส่วนของหัวนมและลานหัวนม สำหรับการทำลานหัวนมจะใช้วิธีการสักรักษา หรือการสักสีเพื่อให้ได้สีตามธรรมชาติ

การสร้างเต้านมใหม่กับการเกิดเป็นซ้ำของมะเร็ง

จากการศึกษาที่ผ่านมาพบว่า การผ่าตัดเสริมสร้างเต้านมใหม่ให้ผู้ป่วยพร้อมไปกับการผ่าตัดมะเร็งออกหรือการผ่าตัดเสริมสร้างเต้านมภายหลังในผู้ป่วยที่ผ่าตัดเต้านมมาหลายปีแล้วนั้น ไม่พบว่ามีผลกระทบต่อการดำเนินของโรค, การหายจากการเป็นมะเร็ง รวมถึงการเกิด มะเร็งเต้านม ซ้ำ หากผู้ป่วยได้รับการรักษาเสริมหลังผ่าตัดก้อนมะเร็ง อาทิ การได้ยาเคมีบำบัด, การฉายแสง หรือทั้งสองอย่างครบถ้วนตามมาตรฐานการรักษา และหลังการผ่าตัดเสริมสร้างเต้านมใหม่ ผู้ป่วยควรเข้ารับการตรวจเช็คหลังผ่าตัดเป็นระยะอย่างสม่ำเสมอตามแพทย์นัด ซึ่งอาจต้องใช้เทคนิคพิเศษในการตรวจ ส่วนเต้านมอีกข้างที่ยังปกติควรเข้ารับการตรวจแมมโมแกรมและตรวจอัลตราซาวนด์เป็นประจำ เพื่อค้นหาความผิดปกติที่อาจเกิดขึ้นใหม่

เสริมเต้านมไปพร้อมกับการตัดเต้านมได้หรือไม่
สามารถทำได้ แต่ต้องเป็นมะเร็งเต้านมในระยะแรก เนื้อเยื่อเต้านมต้องไม่ได้รับความเสียหายจากการฉายแสงหรือมีบาดแผล และมีขนาดเต้านมที่เหมาะสม ข้อดีของการเสริมพร้อมกับการตัดคือ จะทำผ่าตัดแค่ครั้งเดียว แผลผ่าตัดจะเป็นแผลเดียวกับที่ผ่าตัดมะเร็ง แพทย์สามารถกำหนดบริเวณผิวหนังที่จะผ่าออก รอยแผลเป็น และสามารถรักษาโครงสร้างสำคัญไว้ได้ อาทิ ผิวหนังบริเวณเต้านม, หัวนม, ลานหัวนม นอกจากนั้นการผ่าตัดเสริมเต้านมพร้อมกับการผ่าตัดมะเร็งเต้านมยังไม่ส่งผลต่อการเกิดซ้ำของมะเร็งเต้านม
—————————————————-
ตัดเต้านมนานแล้ว สามารถเสริมสร้างเต้านมได้หรือไม่
สามารถทำได้ ไม่ว่าจะตัดเต้านมไปนานแค่ไหนก็ตาม หากท่านมีความพร้อมและความต้องการที่จะเสริมสร้างเต้านมก็มาปรึกษาแพทย์ได้ ส่วนผู้ป่วยมะเร็งเต้านมที่เพิ่งตัดเต้านมออกไป ควรรักษามะเร็งเต้านม เช่น รังสีรักษา, เคมีบำบัด ให้เรียบร้อยก่อน จึงค่อยมาเสริมเต้านม ซึ่งมักทิ้งเวลาห่างจากตัดเต้านมไปแล้วประมาณ 1-2 ปี
—————————————————-
เสริมแล้วเต้านมทั้งสองข้างจะเท่ากันหรือไม่
ในการเสริมเต้านมแพทย์จะพยายามเสริมให้เต้านมสองข้างมีขนาดใกล้เคียงกันมากที่สุด
—————————————————-
เต้านมข้างที่เหลืออยู่มีขนาดใหญ่ จะเสริมอีกข้างให้ขนาดใกล้เคียงกันได้หรือไม่
สามารถทำได้ โดยแพทย์จะเลือกวิธีการผ่าตัดที่เหมาะสมที่จะช่วยสร้างเต้านมใหม่ให้ได้ขนาดใกล้เคียงกับเต้านมอีกข้างมากที่สุด และจะอธิบายถึงขั้นตอนการทำให้ทราบอย่างละเอียด
—————————————————-
เสริมแล้วมีโอกาสกลับมาเป็นมะเร็งอีกหรือไม่
หากท่านได้รับการรักษาหลังผ่าตัดก้อนมะเร็งออกแล้ว อาทิ รักษาด้วยยาเคมีบำบัด, การฉายแสง ครบถ้วนตามมาตรฐานการรักษาแล้ว การผ่าตัดเสริมสร้างเต้านมไม่พบว่ามีผลกระทบต่อการดำเนินของโรค, การหายจากการเป็นมะเร็ง รวมถึงการเกิดมะเร็งเต้านมซ้ำ อย่างไรก็ตาม หลังเสริมเต้านมใหม่ท่านควรเข้ารับการตรวจเช็คเป็นระยะอย่างสม่ำเสมอตามแพทย์นัด ส่วนเต้านมข้างที่ยังปกติควรตรวจแมมโมแกรมและตรวจอัลตราซาวนด์เป็นประจำ เพื่อค้นหาความผิดปกติที่อาจเกิดขึ้นใหม่
—————————————————-
การผ่าตัดเสริมสร้างเต้านม ต้องปลอดจากมะเร็งเต้านมนานเท่าไหร่
หลังผ่าตัดเต้านมที่เป็นมะเร็งออกไปแล้ว อาจต้องรักษาให้ครบถ้วนตามมาตรฐานเพื่อให้แน่ใจว่าปลอดจากมะเร็งแล้ว ซึ่งผู้มารับบริการอาจต้องเลื่อนเวลาในการเสริมสร้างเต้านมออกไปก่อนประมาณ 1-2 ปี แต่ถ้าผ่าตัดเต้านมมานานแล้ว ไม่ว่าจะนานแค่ไหนก็ตาม หากมีความพร้อมและความต้องการที่จะผ่าตัดเสริมสร้างเต้านมก็สามารถทำได้เลย
—————————————————-
เสริมสร้างเต้านมใหม่แล้วจะทำหัวนมให้ด้วยหรือไม่
ในการผ่าตัดเสริมสร้างเต้านมใหม่ แพทย์จะทำการสร้างเต้าขึ้นมาก่อน หลังจากนั้นประมาณ 3-4 เดือน จึงจะสร้างในส่วนของหัวนมและลานหัวนม สำหรับการทำลานหัวนมจะใช้วิธีการสักสีเพื่อให้ได้สีใกล้เคียงธรรมชาติ
—————————————————-
ต้องพักฟื้นใน รพ.นานแค่ไหน
การผ่าตัดเสริมสร้างเต้านมมีหลายวิธี แต่ละวิธีอาจใช้เวลาพักฟื้นใน รพ. ไม่เท่ากัน แพทย์จะเป็นผู้แจ้งให้ทราบว่าจะต้องใช้เวลาในการพักฟื้นใน รพ. นานเท่าใด

แพทย์ประจำศูนย์เสริมสร้างเต้านม

เพิ่มเติม

เกร็ดความรู้

เพิ่มเติม