chat

ป้องกันหลอดเลือดดำที่ขาอุดตัน…ในผู้ป่วยศัลยกรรม

ป้องกันหลอดเลือดดำที่ขาอุดตัน…ในผู้ป่วยศัลยกรรม

หลอดเลือดดำอุดตันจากลิ่มเลือด เป็นภาวะที่มีลิ่มเลือดไปขัดขวางการไหลเวียนของเลือดในหลอดเลือดดำ มักพบในหลอดเลือดดำส่วนลึกที่ขา เวลาพูดถึงภาวะนี้จึงมักเรียกว่า หลอดเลือดดำที่ขาอุดตัน มักไม่มีอาการ ถ้ามี จะมีอาการขาบวม, ปวด, แดง, อุ่น สีผิวเปลี่ยนไป เจ็บที่ผิวหนัง หรือพบเส้นเลือดดำที่ขาโป่งพองขึ้น หลอดเลือดดำที่ขาอุดตันเป็นภาวะแทรกซ้อนที่มีโอกาสเกิดขึ้นได้ในผู้ป่วยศัลยกรรมบางอย่าง อาทิ

ผ่าตัดเปลี่ยนข้อเข่า – ข้อสะโพกเทียม

การผ่าตัดหัวใจและทรวงอก

การผ่าตัดหลอดเลือด

การผ่าตัดระบบทางเดินปัสสาวะ

การผ่าตัดระบบประสาท

ซึ่งการผ่าตัดเหล่านี้มักเป็นการผ่าตัดใหญ่ ผู้ป่วยต้องดมยาสลบ ใช้ระยะเวลาในการผ่าตัด และถูกจำกัดการเคลื่อนไหวเป็นเวลานาน นอกจากนี้ภาวะลิ่มเลือดดำอุดตันอาจเกิดขึ้นบริเวณอื่นๆ ภายในร่างกาย เช่น

ในช่องท้อง ทำให้มีอาการปวดท้อง

ในช่องท้อง ทำให้มีอาการปวดท้อง

ในสมอง ทำให้มีอาการปวดศีรษะ อาเจียนหรือชัก

ในสมอง ทำให้มีอาการปวดศีรษะ อาเจียนหรือชัก

ที่แขน อาจทำให้แขนบวมได้

ที่แขน อาจทำให้แขนบวมได้

นอกจากนี้เมื่อเกิดภาวะหลอดเลือดดำที่ขาอุดตัน สิ่งที่อาจเกิดตามมาก็คือ หากลิ่มเลือดหลุดลอยตามกระแสเลือดเข้าไปอุดตันในเส้นเลือดดำของปอด จะเกิดผลกระทบที่รุนแรงอาจถึงขั้นเสียชีวิตได้ ด้วยเหตุนี้ หลอดเลือดดำที่ขาอุดตันจึงเป็นภาวะที่ไม่ควรละเลย

การป้องกันภาวะหลอดเลือดดำอุดตันที่ขา

โดยทั่วไป หากผู้ป่วยเข้ารับการผ่าตัดใหญ่ๆ ที่อาจเสี่ยงให้เกิดภาวะนี้ เมื่อผู้ป่วยได้รับการตรวจและวางแผนการรักษาแล้ว แพทย์จะแจ้งให้ทราบถึงความเสี่ยงที่จะเกิดขึ้นจากการผ่าตัด จากนั้นผู้ป่วยจะถูกประเมินความเสี่ยง โดยใช้ “ แบบฟอร์มประเมินความเสี่ยงต่อการเกิดภาวะหลอดเลือดดำอุดตัน ” ซึ่งจะมี 2 ส่วนคือ

ส่วนที่ 1 จะประเมินโดยพยาบาล

ส่วนที่ 2 ศัลยแพทย์จะเป็นผู้ประเมิน ก็จะทำให้ทราบว่าผู้ป่วยมีระดับความเสี่ยงมากน้อยเพียงใด ซึ่งการป้องกันจะขึ้นกับระดับความเสี่ยง และดุลยพินิจของแพทย์ เช่น

ถ้ามีความเสี่ยงต่ำ โอกาสเกิดหลอดเลือดดำอุดตันน้อยกว่า 10% ก็ไม่ต้องให้การรักษาเฉพาะ เพียงกระตุ้นให้ผู้ป่วยมีการเคลื่อนไหวโดยเร็วที่สุด

ถ้ามีระดับความเสี่ยงตั้งแต่ปานกลาง – สูงมาก คือ โอกาสเกิดหลอดเลือดดำอุดตันตั้งแต่ 10 – 80% การป้องกันก่อนการเกิดภาวะหลอดเลือดดำอุดตันเป็นเรื่องที่ต้องกระทำเพื่อลดโอกาสเกิดภาวะแทรกซ้อนนี้

วิธีป้องกันการเกิดภาวะหลอดเลือดดำอุดตัน 3 วิธี

วิธีที่ 1

การกระตุ้นให้ผู้ป่วยมีการเคลื่อนไหวโดยเร็วที่สุด เพื่อช่วยป้องกันและลดการหยุดนิ่งและการคั่งของเลือดดำที่ขา ควรเริ่มเร็วที่สุดเท่าที่จะทำได้

แพทย์จะพยายามเอาอุปกรณ์ต่างๆในการรักษาที่อยู่ติดตัวผู้ป่วยออกโดยเร็วเพื่อให้ผู้ป่วยสามารถลุกจากเตียงและมีกิจกรรมในระดับที่ปกติได้

ถ้าไม่ได้จำกัดน้ำดื่ม กระตุ้นให้ผู้ป่วยดื่มน้ำให้เพียงพอ เพราะการขาดน้ำเป็นการเพิ่มความหนืดของเลือด ซึ่งเป็นปัจจัยส่งเสริมให้เลือดแข็งตัวเร็วขึ้น

ผู้ป่วยควรยกขาสูงกว่าหัวใจ เพื่อเพิ่มการไหลกลับของเลือด รวมถึงการบริหารเท้าและข้อเท้าในผู้ป่วยที่สามารถปฏิบัติได้เอง

วิธีที่ 2

การให้ยาละลายลิ่มเลือด โดยการฉีดเข้าใต้ผิวหนัง วันละ 1 หรือ 2 ครั้ง ซึ่งยาในกลุ่มนี้จะมีหลายตัว ความแตกต่างจะอยู่ตรงระยะเวลาการออกฤทธิ์ คือ ยาบางตัวมีระยะเวลาการออกฤทธิ์สั้นประมาณ 12 ชั่วโมง แต่บางตัวใช้ระยะเวลานาน 24 ชั่วโมง ซึ่งจะเลือกใช้ยาตัวไหนขึ้นกับดุลยพินิจของแพทย์

วิธีที่ 3

การใช้เครื่องมือป้องกันการเกิดลิ่มเลือด ซึ่งถ้าไม่มีข้อห้ามใดๆ แพทย์จะเริ่มใช้เร็วที่สุดเท่าที่จะทำได้ และใช้จนกว่าผู้ป่วยจะสามารถเดินได้ เครื่องมือที่ว่านี้มี 2 แบบ คือ

เครื่องมือที่ใช้ลมบีบให้เกิดแรงกดเป็นระยะๆ (intermittent pneumatic compression)

เครื่องมือที่ใช้ลมบีบให้เกิดแรงกดเป็นระยะๆ (intermittent pneumatic compression)

เพื่อส่งเสริมการไหลเวียนของเลือด วิธีการคือ ใช้พันรอบขาและจะมีเครื่องอัดอากาศเข้าไปให้เกิดการพองและยุบที่ขาเป็นจังหวะ

ถุงน่องชนิดแกรดูเอ็ด คอมเพรสชั่น (graduated compression stockings: GCS)

ถุงน่องชนิดแกรดูเอ็ด คอมเพรสชั่น (graduated compression stockings: GCS)

ถุงน่องชนิดนี้จะมีแรงกดรอบขา ช่วยป้องกันการเกิดลิ่มเลือด

โดยทั่วไป หากแพทย์เลือกใช้เครื่องมือป้องกันการเกิดลิ่มเลือด จะใช้เครื่องมือที่ใช้ลมบีบเพื่อให้แรงกดเป็นระยะๆ เป็นหลัก โดยจะใช้ถุงน่องป้องกันลิ่มเลือดร่วมด้วยหรือไม่ก็ได้ แต่จะไม่ใช้ถุงน่องป้องกันลิ่มเลือดเพียงอย่างเดียว

การป้องกันการเกิดภาวะหลอดเลือดดำอุดตันมีหลายวิธีดังกล่าวข้างต้น แพทย์จะเลือกใช้วิธีใด หรือเลือกวิธีใดก่อนหลัง แพทย์จะพิจารณาจากระดับความเสี่ยงของผู้ป่วย เช่น ถ้าเสี่ยงสูงมากนอกจากต้องใช้หลายๆ วิธีร่วมกันแล้ว ยังต้องเลือกใช้วิธีที่ได้ผลเร็วอย่างการให้ยาละลายลิ่มเลือดก่อน เพื่อให้การป้องกันมีประสิทธิภาพมากที่สุด เป็นต้น

นอกจากนั้น ระหว่างเตรียมผู้ป่วยที่หอผู้ป่วย เจ้าหน้าที่/พยาบาล จะสอนวิธีบริหารกล้ามเนื้อขาและน่องเพื่อเพิ่มการไหลของเลือดกลับสู่หัวใจให้แก่ผู้ป่วย และฝึกให้ทำเป็นระหว่างรอเริ่มผ่าตัด หรือขณะทำการผ่าตัดถ้าการดมยาสลบนานเกิน 3 ชั่วโมง แพทย์จะใส่สายสวนปัสสาวะเพื่อมิให้กระเพาะปัสสาวะโป่งพองจนไปกดเส้นเลือดดำในอุ้งเชิงกรานได้ หรือหลังผ่าตัดเมื่อผู้ป่วยรู้สึกตัวดีและไม่มีข้อห้ามใดๆ จะกระตุ้นให้ผู้ป่วยเริ่มบริหารกล้ามเนื้อขาและน่อง และกระตุ้นให้ผู้ป่วยลุกเดินโดยเร็ว

ส่วนหลักการป้องกันที่สำคัญอีกประการ คือ การตรวจหาภาวะหลอดเลือดดำอุดตันหลังการผ่าตัดให้พบอย่างรวดเร็ว ก่อนจะเริ่มมีอาการชัดเจนและเริ่มการรักษาอย่างทันท่วงที ก็เป็นสิ่งที่แพทย์โดยทั่วไปปฏิบัติกันอยู่ อย่างไรก็ตาม การป้องกันก่อนการเกิดภาวะหลอดเลือดดำอุดตันย่อมจะเป็นการดีที่สุด คุ้มค่ากว่าจะมาแก้ไขกันในภายหลัง และลดอัตราเสี่ยงที่จะเกิดภาวะแทรกซ้อนที่อันตรายถึงขั้นเสียชีวิต