chat

นิ้วหัวแม่เท้าเกผิดรูป

นิ้วหัวแม่เท้าเกผิดรูป

สาวๆ ท่านใดกำลังประสบปัญหาเกี่ยวกับนิ้วหัวแม่เท้าเกผิดรูป โคนนิ้วหัวแม่เท้านูนออกมา รูปเท้าไม่สวย บางครั้งมีอาการบวมแดง รู้สึกปวดเมื่อยืนลงน้ำหนัก เดิน หรือวิ่ง เกิดผลกระทบต่อการใช้ชีวิตประจำวันอยู่บ่อยๆ บ้างไหมคะ อีกทั้งยังสร้างความกังวลใจ ไม่มั่นใจ เมื่อเปลือยเท้า ทำให้ไม่กล้าถอดรองเท้า หรือต้องใส่รองเท้าที่ปกปิดปลายเท้าตลอดเวลา ปัญหาเหล่านี้ไม่อยากมีกันเลยใช่ไหมคะ

นิ้วหัวแม่เท้าเกผิดรูป

“ภาวะนิ้วหัวแม่เท้าเกผิดรูป”(Hallux valgus) เป็นโรคที่เกิดจากความผิดปกติของนิ้วหัวแม่เท้าที่เกิดการผิดรูปโดยนิ้วหัวแม่เท้าเก หรือบิดโค้งเข้าหานิ้วชี้มากเกินไป จนทำให้กระดูกของนิ้วหัวแม่เท้าโป่งนูนออกมา ในกรณีที่เป็นมากๆ นิ้วโป้งเท้าอาจเกทับหรืออยู่ใต้นิ้วเท้าอื่นๆ การเอียงของนิ้วเท้าทำให้เส้นเอ็นที่อยู่รอบๆนิ้วเท้า ถูกดึงยึดมากเกินไป เป็นผลให้เส้นเอ็นขาดความมั่นคง นิ้วเท้าจึงเกิดความผิดรูปได้ง่ายมากขึ้นไปอีก ผลที่ตามมาคือ แนวการเดินของเท้าจะเริ่มผิดปกติ ตาปลาหรือหนังแข็งมักจะเกิดขึ้นในบริเวณด้านข้างของขอบนิ้วโป้งที่เบน อีกทั้งยังมีโคนนิ้วโป้งนูนโค้งออกมาจนสังเกตเห็นได้ชัด และมักมีอาการปวดในเวลาเดินที่โคนนิ้วโป้งที่โค้งนูนได้ จึงเป็นปัญหาในการเดิน การลงน้ำหนักและการสวมใส่รองเท้า ซึ่งอาจส่งผลเสียในระยะยาวทำให้อาจมีอาการปวดเข่า แล้วเกิดโรคข้อเข่าเสื่อมตามมา

มีอาการ เป็นอย่างไร

นิ้วหัวแม่เท้าเกผิดรูป

  • นิ้วหัวแม่เท้าบิดเกเข้าหานิ้วเท้าที่ 2 หากเป็นมากๆ นิ้วหัวแม่เท้าอาจเกไปทับนิ้วที่ 2 หรืออยู่ใต้นิ้วได้
  • ลักษณะปลายเท้าแบนกว้างมากขึ้น
  • โคนนิ้วหัวแม่เท้านูนออกมาอย่างเห็นได้ชัด และอาจมีลักษณะบวมแดง
  • พบตาปลาที่โคนนิ้วเท้า จากที่โคนนิ้วเท้านูนออกมามาก จนไปเสียดสีกับขอบรองเท้า
  • เกิดอาการปวดที่นิ้วหัวแม่เท้า เมื่อยืนลงน้ำหนัก เดิน วิ่ง
  • กรณีที่นิ้วเท้าเกมานานอาจส่งผลให้เกิดอาการปวดเข่า และเป็นโรคข้อเข่าเสื่อมได้ในอนาคต

สาเหตุที่ทำให้เกิดโรคนิ้วหัวแม่เท้าเกผิดรูป

  • การใส่รองเท้าปลายแหลม รองเท้าส้นสูง รองเท้าที่คับเกินไปเป็นเวลานาน ซึ่งเป็นสาเหตุส่วนใหญ่ที่พบมากในผู้หญิง
  • เกิดจากความผิดปกติตั้งแต่กำเนิด
  • เกิดจากโครงสร้างเท้าผิดปกติ เช่นผู้ป่วยเป็นโรคเท้าแบน นิ้วหัวแม่เท้ายาวกว่าปกติ เหล่านี้ล้วนเป็นปัจจัยส่งเสริมให้นิ้วหัวแม่เท้าเก
  • มีความผิดปกติต่อกล้ามเนื้อ และเส้นเอ็น หรือเป็นโรคที่เกี่ยวกับข้อต่อ เช่นโรคเก๊าส์ โรครูมาตอยด์เป็นต้น

วิธีการรักษา

การรักษามีหลากหลายวิธี ตั้งแต่การรักษาเบื้องต้น ตั้งแต่พบอาการเริ่มแรก ไปจนถึงการผ่าตัดในผู้ที่มีอาการรุนแรง

การรักษาเบื้องต้น

นิ้วหัวแม่เท้าเกผิดรูป

correct

การเลือกใส่รองเท้าที่เหมาะสม ใส่รองเท้าขนาดพอดี ไม่คับ หัวรองเท้ากว้าง (wide toe box) เมื่อสวมใส่แล้วสามารถขยับนิ้วเท้าได้ไม่บีบรัดนิ้วเท้า พื้นรองเท้านุ่ม ควรหลีกเลี่ยงรองเท้าที่มีหัวส่วนปลายที่แหลมและส้นรองเท้าสูงมากกว่า 2นิ้ว

นิ้วหัวแม่เท้าเกผิดรูป

correct

การใส่อุปกรณ์ประคองนิ้วโป้งเท้า ได้แก่ เจลคั่นนิ้วเท้า (Gel ToeSeparator) หรือ อุปกรณ์กันนิ้วโป้งเบน (Hullux ValgusSplint) ซึ่งจะช่วยให้มุมในการที่นิ้วโป้งเท้าเกไม่เพิ่มมากไปกว่าเดิม และเป็นการทำให้เอ็นรอบข้อนิ้วโป้งเท้าหย่อน จึงสามารถช่วยบรรเทาและลดอาการปวดบริเวณโคนนิ้วโป้งเท้าได้

นิ้วหัวแม่เท้าเกผิดรูป

correct

การเลือกใช้รองเท้าที่มีพื้นรองเท้าหรือแผ่นรองเท้าที่เหมาะสม ในกรณีของผู้ที่มีโครงสร้างเท้าผิดปกติ เช่นผู้ที่มีปัญหาเท้าแบน การเลือกใช้รองเท้าที่มีพื้นรองเท้า หรือการใช้แผ่นรองเท้าที่เหมาะสม ที่จะช่วยจัดโครงสร้างเท้าให้เหมาะสมกลับมาอยู่ในแนวที่ปกติ เพื่อไม่ให้อุ้งเท้าแบนล้ม กระดูกส้นเท้าบิดล้มเข้าทางฝั่งด้านใน หรือเอ็นร้อยหวายบิดโค้งเข้าทางฝั่งด้านใน ซึ่งเป็นความเสี่ยงที่เป็นปัจจัยทำให้นิ้วโป้งเท้าเกผิดรูป

นิ้วหัวแม่เท้าเกผิดรูป

correct

การแช่นํ้าอุ่นโดยให้นํ้าอุ่นสูงถึงข้อเท้า ถึงแม้การแช่นํ้าอุ่นจะไม่ช่วยให้นิ้วหัวแม่เท้ากลับมาสู่แนวปกติได้โดยตรง แต่ช่วยลดปวดและให้เนื้อเยื่อรอบข้อต่ออ่อนตัวลง การดัดข้อนิ้วจะมีอาการปวดน้อยลงและดัดได้ง่ายขึ้น ในกรณีที่นิ้วหัวแม่เท้าอักเสบบวม แดง ร้อน ควรหลีกเลี่ยงการแช่นํ้าอุ่นเพราะจะทำให้อักเสบ บวมมากขึ้น ให้เปลี่ยนไปใช้การประคบนํ้าแข็งแทน จนกว่าอาการบวมแดงจะหายไป จึงสามารถกลับไปแช่นํ้าอุ่นได้ตามปกติ

นิ้วหัวแม่เท้าเกผิดรูป

correct

การทำกายภาพบำบัดเพื่อดัดหรือดึงข้อให้กลับมาอยู่ในแนวปกติได้มากที่สุด ทั้งนี้ควรใช้อุปกรณ์เสริมร่วมด้วย

นิ้วหัวแม่เท้าเกผิดรูป

correct

การรับประทานยากลุ่มลดการอักเสบที่ไม่ใช่สเตียรอยด์ (NSAIDs) เพื่อบรรเทาอาการปวด

อย่างไรก็ดีในกรณีผู้ป่วยมีอาการปวด และข้อผิดรูปมากรวมทั้งมีภาวะข้อกระดูกเสื่อมเกิดขึ้น แพทย์อาจรักษาด้วยวิธีการผ่าตัดกระดูกที่นูนออก และตัดกระดูก เพื่อแก้ไขภาวะนิ้วผิดรูป แล้วยึดกระดูกด้วยโลหะ ร่วมกับการปรับแต่งกล้ามเนื้อและเนื้อเยื่อรอบๆ โดยการผ่าตัดจะทำให้หายเจ็บเท้า เท้าแคบลง ทำให้เลือกใส่รองเท้าได้ง่ายขึ้น

การรักษาด้วยการผ่าตัด มีด้วยกันหลายวิธี ยกตัวอย่าง เช่น

นิ้วหัวแม่เท้าเกผิดรูป

  • การตัดต่อกระดูก(Osteotomy) เป็นวิธีที่นิยมใช้มากที่สุด แม้ว่าจะมีกระบวนการที่หลากหลาย แต่โดยส่วนใหญ่แล้ว จะมีการตัดกระดูกที่เท้าออกไป และจัดกระดูกที่นิ้วหัวแม่เท้าใหม่ นอกจากนี้อาจมีการจัดเนื้อเยื่ออ่อนส่วนปลายเท้า เพื่อแก้ไขเท้าผิดรูปและเพิ่มความเสถียร (Stability) ของเท้าให้มากขึ้น
  • การผ่าตัดเชื่อมกระดูกข้อเท้า(Arthrodesis) มักแนะนำในผู้ที่มีนิ้วหัวแม่เท้าผิดรูปอย่างรุนแรง โดยหลังการผ่าตัดการเคลื่อนไหวของนิ้วหัวแม่เท้าจะทำได้น้อยลง และไม่สามารถใส่รองเท้าส้นสูงได้
  • การผ่าตัดที่เรียกว่า Excision (Keller’s) arthroplasty ซึ่งเป็นการตัดก้อนและข้อต่อที่เท้าออก ใช้ในกรณีที่รุนแรงในผู้ป่วยที่สูงอายุ

หลังการผ่าตัดผู้ป่วยสามารถเดินช้าหรือเร็ว ขึ้นอยู่กับสภาวะของผู้ป่วย อาจใช้เวลาเป็นสัปดาห์หรือเป็นเดือนเพื่อการฟื้นตัว โดยอาจใช้ไม้เท้าช่วยพยุงตัวประมาณ 4-6 สัปดาห์แรก แต่ทั้งนี้การผ่าตัดไม่สามารถรับประกันได้ว่านิ้วโป้งเท้า จะไม่กลับไปเกในลักษณะเดิมอีก หากต้นเหตุหลักที่แท้จริงยังไม่ได้รับการแก้ไข

ดังนั้นหากปรารถนาไม่ให้เกิดภาวะหัวแม่เท้าเกผิดรูปซ้ำ ภายหลังการผ่าตัดแล้ว การดูแลสุขภาพเท้าด้วยการใส่รองเท้าที่เหมาะสม งดใส่รองเท้าหัวแคบ รองเท้าส้นสูง จึงมีความจำเป็นและนำมาเป็นวิธีการรักษาร่วมกัน ในปัจจุบันนะคะ

แขนโก่งขาโก่ง