chat
โรคนิ้วล็อค Trigger Finger

ทำความรู้จัก…โรคนิ้วล็อค

ลักษณะและอาการของนิ้วล็อค

ปัจจัยเสี่ยงโรคนิ้วล็อค

การตรวจวินิจฉัยโรคนิ้วล็อค

การรักษาโรคนิ้วล็อค

การผ่าตัดรักษานิ้วล็อคแบบเปิด

โรคนิ้วล็อค Trigger Finger

ภัยร้ายของคนทำงานที่ส่งผลต่อสุขภาพมีมากมายหลายโรค หนึ่งในนั้นก็คือ “โรคนิ้วล็อค” ซึ่งเป็นโรคที่เกิดจากการใช้งานนิ้วมือหนักจนเกินไป และใช้งานนิ้วมือในท่าเดิมซ้ำๆ เป็นระยะเวลานานๆ ติดต่อกัน เป็นโรคที่เกิดขึ้นได้ทุกเพศทุกวัย พบในผู้หญิงมากกว่าผู้ชาย โดยเฉพาะผู้หญิงในวัยกลางคนขึ้นไป ส่วนใหญ่แล้วจะพบในกลุ่มคนที่ทำงานหนัก ด้วยกิจวัตรการทำงานหรือกิจกรรมที่ต้องใช้งานนิ้วมือในลักษณะแบบนี้ ก็ยิ่งเสี่ยงต่อการเกิดโรคนิ้วล็อคมาก ตัวอย่างเช่น ผู้ที่ทำงานเอกสารทั้งวัน ต้องใช้การพิมพ์ดีด แม่ครัว แม่บ้าน งานซักรีด เกษตรกรที่ต้องจับเสียม จับจอบพรวนดินขุดดินทั้งวัน นักกีฬา(เทนนิส, กอล์ฟ และแบดมินตัน) พนักงานนวด เป็นต้น รวมไปถึงผู้คนที่อยู่ในสังคมโลกออนไลน์ ก็พบคนที่เป็นโรคนิ้วล็อคจากการใช้สมาร์ทโฟนและแท็บเล็ตมากขึ้นอีกด้วย

ทำความรู้จัก…โรคนิ้วล็อค

นิ้วล็อค หรือ Trigger Finger เกิดจากปลอกหุ้มเส้นเอ็นที่ฐานนิ้วมืออักเสบและหนาตัวขึ้น ซึ่งหากมีการอักเสบจะทำให้เส้นเอ็นเคลื่อนผ่านปลอกหุ้มเส้นเอ็นที่หนาขึ้นแบบลำบากขึ้น จนทำให้เกิดอาการปวดและขยับนิ้วมือได้ยาก การทำกิจวัตรต่างๆ ที่ต้องใช้งานนิ้วมืออย่างหนัก ต่อเนื่อง และยาวนาน ล้วนแล้วแต่ทำให้เกิดการเสียดสีขึ้นและเส้นเอ็นบวมได้ ซึ่งโดยปกติ การทำงานของนิ้วมือจะสามารถเหยียดออกไปให้ตรงและกำมือกลับเข้ามาได้ การทำงานของเอ็นที่ใช้สำหรับงอนิ้วจะเคลื่อนที่ลอดผ่านช่องโพรงเอ็นนิ้วมือไปมา แต่เมื่อคุณทำงานหนักมากๆ ใช้นิ้วมือเป็นอย่างหนัก จะทำให้เอ็นสำหรับงอนิ้วมือช่วงบริเวณฝ่ามือเกิดการบาดเจ็บและมีการอักเสบเรื้อรัง สังเกตได้จากเส้นเอ็นบริเวณนั้นจะบวมจนกลายเป็นปมขึ้นมา และเมื่อคุณจะกลับมาใช้งานนิ้วมืออีกครั้งจะทำให้เส้นเอ็นเคลื่อนที่ลอดผ่านโพรงเอ็นนิ้วมือไม่สะดวกไปจนกระทั่งติดค้างเหมือนมือหงิก และนิ้วล็อคในที่สุด

ลักษณะและอาการของโรคนิ้วล็อค

ลักษณะของนิ้วล็อคคือ นิ้วมืองอเข้าหาฝ่ามือมีลักษณะคล้ายไกปืน จึงเป็นที่มาของคำแปลชื่อภาษาอังกฤษ Trigger Finger นั่นเอง และอาการที่เป็นสัญญาณอันตรายของโรคนิ้วล็อคได้แก่ รู้สึกปวดตึงโคนนิ้ว หรือ มีอาการสะดุดเวลาที่กำมือ-แบมือ (แต่ยังสามารถเหยียดนิ้วได้เองได้) หรือ กรณีที่เป็นรุนแรง เวลากำมือแล้วนิ้วจะล็อคจนไม่สามารถเหยียดนิ้วได้เอง ต้องใช้มืออีกข้างมาช่วยง้างออก บางรายอาจมีนิ้วมืองอผิดรูปด้วย

ปัจจัยเสี่ยงโรคนิ้วล็อค

  • พฤติกรรมการใช้งานนิ้วมือ มักเกิดจากอาชีพหรือกิจกรรมที่ต้องใช้งานนิ้วมืออย่างหนัก ทำซ้ำๆ กันบ่อยๆ ใช้ท่าเดิมบ่อยๆ และใช้งานติดต่อกันเป็นระยะเวลานาน ทำให้เกิดความเสี่ยงที่จะเป็นโรคนิ้วล็อคมากยิ่งขึ้น
  • อาการป่วยจากโรคต่างๆ ได้แก่ โรคข้ออักเสบรูมาตอยด์ โรคเกาต์ โรคเบาหวาน โรคอะไมลอยด์ซิส และโรคการกดทับเส้นประสาทบริเวณข้อมือ โรคเหล่านี้มีความเสี่ยงที่จะเกิดอาการนิ้วล็อคร่วมด้วย

การตรวจวินิจฉัยโรคนิ้วล็อค

แพทย์เริ่มจากการซักประวัติอาการและประวัติเจ็บป่วย รวมถึงพฤติกรรมการใช้งานนิ้วมือ และจากการตรวจด้วยการให้คนไข้ลองกำมือ-แบมือ มีอาการเจ็บหรือไม่ เจ็บบริเวณใดบ้าง คลำว่ามีก้อนที่มือหรือไม่

การรักษาโรคนิ้วล็อค

เริ่มแรก แพทย์มักแนะนำให้ปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการใช้งานนิ้วมือให้น้อยลง หลีกเลี่ยงการนวดนิ้วมือแรงๆ ร่วมกับการบำบัดอาการด้วยตนเอง เช่น บริหารนิ้วด้วยการกำมือและแบมือ นวดมือ พักมือจากกิจกรรมที่ต้องใช้มือออกแรง ออกกำลังกายยืดเส้น การประคบร้อนหรือเย็นบริเวณฝ่ามือ หรือการแช่น้ำอุ่นก็สามารถช่วยให้อาการนิ้วล็อคดีขึ้นได้ การใส่อุปกรณ์ดามนิ้ว (Splinting) เป็นต้น

การรักษาด้วยการใช้ยาจำพวกสเตียรอยด์ฉีดเข้าตรงเอ็นบริเวณนั้น ซึ่งหากการรักษาด้วยการบำบัด การรับประทานยา และการฉีดยาสเตียรอยด์ไม่ได้ผล และอาการนิ้วล็อครุนแรงและเรื้องรังจนส่งผลกระทบต่อการใช้ชีวิตเป็นอย่างมาก แพทย์อาจพิจารณาการรักษาด้วยวิธีการผ่าตัดนิ้วล็อค

การผ่าตัดรักษาโรคนิ้วล็อคแบบเปิด (open trigger finger release surgery)

เป็นวิธีการที่สามารถมองเห็นตำแหน่งที่ผ่าตัดได้ชัดเจน โดยแพทย์จะโดยฉีดยาชาเฉพาะที่มีแผลผ่าตัด จากนั้นผ่าตัดเปิดแผลเล็กๆ บริเวณโคนนิ้วที่ล็อค แล้วผ่าเปิดปลอกหุ้มเอ็นส่วนที่ตึงโดยส่วนมากแล้ว ภายหลังผ่าตัดเสร็จคนไข้สามารถกลับบ้านได้ ไม่ต้องนอนค้างที่โรงพยาบาล และหลังผ่าตัดต้องหลีกเลียงการใช้งานมือและนิ้วมือหนักๆ และหลีกเลี่ยงการสัมผัสแผลประมาณ 2 สัปดาห์

นิ้วล็อกสามารถเกิดได้กับทุกเพศทุกวัย การรักษาโดยวิธีการผ่าตัดใช้เวลาไม่นานและไม่น่ากลัวอย่างที่คิด เพื่อการใช้ชีวิตประจำวันได้อย่างเป็นปกติไม่รบกวนการทำงานหรือกิจวัตรประจำวันอีกต่อไป

อย่างไรก็ตาม การป้องกันไม่ให้เกิดโรคดีกว่าต้องมารักษาในภายหลัง ดังนั้นการดูแลตัวเองเป็นสิ่งที่สำคัญ โดยเริ่มจากการหลีกเลี่ยงปัจจัยต่างๆ ที่อาจเสี่ยงเป็นนิ้วล็อค และเมื่อเป็นนิ้วล็อคควรปฏิบัติตามที่แพทย์ พยาบาล และนักกายภาพบำบัดแนะนำ รวมไปถึงเข้ารับการรักษาอย่างถูกต้องตามคำแนะนำของแพทย์ผู้ชำนาญการเมื่อมีอาการที่รุนแรงมากยิ่งขึ้น เพียงแค่นี้ก็ทำให้โรคนิ้วล็อคไม่กลายมาเป็นปัญหาที่ร้ายแรงในภายหลัง ส่งผลให้คุณภาพชีวิตดีขึ้นตามมา