chat

นิ่วในถุงน้ำดี

รักษานิ่วในถุงน้ำดีด้วยการผ่าตัด ไม่น่ากลัวอย่างที่คิด

“ถุงน้ำดี” หนึ่งในอวัยวะที่เชื่อว่าหลายท่านยังไม่ทราบว่าคืออะไร อยู่ตรงส่วนไหนของร่างกาย ทำหน้าที่อะไร และมักจะไม่ค่อยสนใจกับอวัยวะส่วนนี้มากนัก จนกระทั่งวันหนึ่งเกิดความผิดปกติกับ ถุงน้ำดี และสร้างความเจ็บปวดจนต้องเข้าโรงพยาบาล ถึงตอนนั้นก็เพิ่งจะได้ทราบจาแพทย์ว่าเกิดปัญหากับถุงน้ำดี อวัยวะที่ใครหลายคนนึกไม่ถึงมาก่อน เรามาทำความรู้จักกับ ถุงน้ำดี กันสักนิดดีกว่าว่าทำหน้าที่อะไร และอะไรที่เป็นสาเหตุทำให้เกิดโรคที่เกี่ยวกับถุงน้ำดีได้บ้าง

นิ่วในถุงน้ำดี

ถุงน้ำดีคืออะไร

ชนิดของนิ่วในถุงน้ำดี

สาเหตุของนิ่วในถุงน้ำดี

อาการโรคนิ่วในถุงน้ำดี

การวินิจฉัยโรคนิ่วในถุงน้ำดี

การผ่าตัดรักษานิ่วในถุงน้ำดี

การดูแลหลังการผ่าตัด

ถุงน้ำดีคืออะไร

นิ่วในถุงน้ำดี

“ถุงน้ำดี” มีความหมายตามชื่อ เป็นส่วนที่คอยเก็บกักน้ำดีซึ่งเป็นสารที่ช่วยย่อยและแตกไขมันที่เรารับประทานเข้าไป โดยแหล่งสะสมน้ำดีจะวางอยู่ทางพื้นผิวด้านล่างของตับ ยาวประมาณ 7-10 เซนติเมตร มีทางเชื่อมต่อกับตับและลำไส้เล็กตอนต้น มีลักษณะเป็นสีเขียวคล้ำ ซึ่งหน้าที่หลักๆ ของมันก็คือการสะสมน้ำดีเก็บไว้ให้ได้ 1.5 ออนซ์ โดยการหลั่งของน้ำดีนี้จะถูกกระตุ้นก็ต่อเมื่อมีไขมันเป็นส่วนประกอบถูกลำเลียงเข้ามาในลำไส้เล็ก ทำให้มีการหลั่งของฮอร์โมนคอลิซิสโทไคนิน (cholecystokinin) จึงมีการหลั่งน้ำดีออกมา นอกจากนี้ถุงน้ำดียังมีหน้าที่ในการทำให้น้ำดีที่ผลิตจากตับมีความเข้มข้นมากขึ้น ซึ่งอาศัยการดูดซึมน้ำโดยเซลล์เยื่อบุผิวของถุงน้ำดี ดังนั้นเมื่อไหร่ก็ตามที่มีการทำงานไม่ปกติเกิดขึ้น เกิดการตกผลึกของคอเลสเตอรอล เลซิติน และกรดน้ำดี ก็จะเป็นที่มาของการเกิด ‘โรคนิ่วในถุงน้ำดี’ นั่นเอง

โรคนิ่วในถุงน้ำดีจัดว่าเป็นโรคที่เรามักพบบ่อย และส่วนมากแล้วจะพบในผู้หญิงมากกว่าผู้ชาย และจะพบในผู้ใหญ่ที่มีอายุมากกว่า 40 ปีขึ้นไป ซึ่งนอกจากนี้ก็ยังมีปัจจัยอื่นๆ ที่เป็นสาเหตุทำให้เกิดโรคนี้ได้อีกเช่นกัน ไม่ว่าจะเป็น

  • คนที่มีน้ำหนักมากจะทำให้มีคอเลสเตอรอลสูงและอาจส่งผลให้เกิดการตกผลึกของคอเลสเตอรอลในถุงน้ำดี
  • การได้รับฮอร์โมนเอสโตรเจนจากการรับประทานหรือตั้งครรภ์ทำให้ระดับคอเลสเตอรอลในถุงน้ำดีสูงขึ้น
  • ในคนไข้บางรายที่ได้รับยาลดไขมันบางชนิด ทำให้ร่างกายมีคอเลสเตอรอลในถุงน้ำดีสูงขึ้น หรือแม้กระทั่งในผู้ป่วยเบาหวานเองก็เกิดขึ้นได้เช่นกัน

ชนิดของนิ่วในถุงน้ำดี

นิ่วในถุงน้ำดี

นิ่วในถุงน้ำดีที่เกิดจากคอเลสเตอรอล (Cholesterol stones)ถ้าตับขับคอเลสเตอรอลออกมามากอาจทำให้เกิดเป็นตะกอนกลายเป็นก้อนนิ่ว (ก้อนสีขาว สีเหลือง หรือสีเขียว) หรือสมรรถภาพในการบีบตัวของกล้ามเนื้อในถุงน้ำดีไม่ดีพอ จนทำให้ก้อนในถุงน้ำดี ไม่สามารถถูกบีบออกมาได้หมด

นิ่วในถุงน้ำดี

นิ่วในถุงน้ำดีที่เกิดจากเม็ดสีหรือบิลิรูบิน (Pigment stones)นิ่วมีลักษณะก้อนเล็กกว่าและสีคล้ำกว่าชนิดที่เกิดจากคอเลสเตอรอล มักพบในผู้ป่วยที่มีความผิดปกติของเลือด หรือ ผู้ป่วยโรคตับแข็ง

สาเหตุของนิ่วในถุงน้ำดี

  • น้ำดีมีคอเลสเตอรอลมากเกินไป จากการที่ร่างกายมีคอเลสเตอรอลสูง ตับจึงขับคอเลสเตอรอลในน้ำดีมากตาม และอาจทำให้มีการสะสมและตกเป็นตะกอนกลายเป็นก้อนนิ่ว
  • น้ำดีมีบิลิรูบินมากเกินไป เกิดจากโรคที่ทำให้ตับสร้างบิลิรูบินมาก เช่น โรคตับอักเสบ โรคตับแข็ง หรือเกิดได้จากการแตกทำลายของเม็ดเลือดแดงจำนวนมาก เช่น ภาวะโลหิตจาง เป็นต้น
  • น้ำดีมีความเข้มข้น ทำให้คอเลสเตอรอลและบิลิรูบินตกตะกอน และรวมกับสารอื่นๆ ในน้ำดีกลายเป็นก้อนนิ่วได้

การเกิดนิ่วในถุงน้ำดีอาจสร้างปัญหาตามมาจากการที่ก้อนนิ่วไปอุดที่ถุงน้ำดี จึงทำให้ถุงน้ำดีเกิดการอักเสบ

อาการของโรคนิ่วในถุงน้ำดี

อาการในเบื้องต้น

  • ท้องอืด
  • รับประทานอาหารแล้วรู้สึกแน่นท้อง อิ่มง่าย
  • อาหารไม่ย่อย
  • ปวดมวนท้อง
  • เรอเปรี้ยว
  • มีลมในช่องท้อง

อาการแบบเฉียบพลันที่เกิดขึ้นได้

  • อาการปวดท้องบริเวณใต้ชายโครงขวาหรือลิ้นปี่กินเวลานานหลายชั่วโมง
  • ปวดสะบักขวาและไหล่ขวา
  • หากเป็นหนักก็จะมีอาการคลื่นไส้ร่วมด้วย
  • ส่วนใครที่มีอาการไข้สูง มีเหงื่อออกมาก ตัวเหลืองตาเหลืองหรือดีซ่าน อาการเหล่านี้แนะนำให้รีบเข้าพบแพทย์ทันทีเพื่อรักษาต่อไป
นิ่วในถุงน้ำดี

การวินิจฉัยโรคนิ่วในถุงน้ำดี

ในเบื้องต้นหากคุณไปพบแพทย์เมื่อมีอาการต้องสงสัยเกิดขึ้น ไม่ว่าจะเป็น อาการปวดท้องหรืออาการปวดสะบักขวา ดังที่ได้กล่าวมา แพทย์จะทำการวินิจฉัยว่าคุณเป็นโรคนิ่วในถุงน้ำดีจริงหรือไม่ ด้วยวิธีการทำอัลตราซาวนด์เพื่อตรวจหา ซึ่งเป็นวิธีที่ดีที่สุดและหลังจากพบแล้วว่าคุณเป็นนิ่วในถุงน้ำดีจริงๆ แพทย์จะพิจารณาการรักษา สำหรับวิธีการรักษาในปัจจุบันนั้นยังไม่มียาตัวใดที่สามารถรักษาให้หายได้ทันที ดังนั้นวิธีที่ดีที่สุดในการรักษาตอนนี้ก็คือ การผ่าตัดเอาถุงน้ำดีออก เพื่อไม่ให้เกิดนิ่วได้อีกต่อไป อีกทั้งยังป้องกันภาวะแทรกซ้อนต่างๆ ที่จะตามมาอีกด้วย

การผ่าตัดรักษานิ่วในถุงน้ำดี

สำหรับการผ่าตัดในปัจจุบันมีอยู่ 2 แบบด้วยกันนั่นก็คือ

นิ่วในถุงน้ำดี

การผ่าตัดแบบดั้งเดิม โดยวิธีการผ่าตัดเปิดหน้าท้อง ซึ่งวิธีนี้จะค่อนข้างใช้เวลาในการพักฟื้นนาน และนิยมใช้การผ่าตัดแบบนี้กับคนไข้ที่มีการอักเสบมากหรือถุงน้ำดีแตกเท่านั้น

นิ่วในถุงน้ำดี

การผ่าตัดแบบส่องกล้อง (Laparoscopic Cholecystectomy) เป็นวิธีที่นิยมกันมากในปัจจุบัน เพราะใช้เวลาในการพักฟื้นน้อยกว่าเพียงแค่ 1-2 วันในการพักฟื้นที่โรงพยาบาล ไม่มีแผลยาวเหมือนการผ่าตัดแบบดั้งเดิม เป็นแค่การเจาะรูเล็กๆ 4 รู โดย 3 รู จะอยู่บริเวณหน้าท้อง อีก 1 รู จะเป็นรูที่สะดือ และเมื่อแพทย์เจาะรูเรียบร้อยแล้วก็จะใส่กล้องที่มีลักษณะเป็นก้านยาวๆ และเครื่องมือต่างๆ ที่ใช้ในการผ่าตัดผ่านทางรูนั้นๆ ทำให้สามารถมองเห็นถุงน้ำดีได้อย่างชัดเจน และทำการเลาะแยกถุงน้ำดีออกจากตับ พร้อมทั้งใช้คลิปหนีบห้ามเลือดแทนการเย็บไหม หลังจากนั้นจึงนำถุงน้ำดีออกมาจากร่างกาย แล้วเย็บปิดแผลผ่าตัดก็เป็นอันเสร็จสิ้นการผ่าตัด สำหรับการผ่าตัดแบบส่องกล้องนั้นอาจมีค่าใช้จ่ายที่มากกว่าการผ่าตัดแบบเดิม

การดูแลหลังการผ่าตัด หลังจากผ่าตัดคนไข้ต้องใช้เวลาในการพักฟื้นเพื่อรักษาตัวประมาณ 1 สัปดาห์ สำหรับการผ่าตัดแบบส่องกล้อง แต่หากเป็นการผ่าตัดแบบดั้งเดิมอาจต้องใช้เวลานานกว่าประมาณ 1 เดือน จึงจะสามารถกลับมาทำงานได้ตามปกติ ที่เหลือก็เพียงแต่รับประทานยาอื่นๆ เพื่อรักษาแผลตามที่แพทย์สั่ง ส่วนผลข้างเคียงนั้นต้องบอกว่าการผ่าตัดแบบส่องกล้องแทบจะไม่มีโอกาสในการติดเชื้อหลังผ่าตัดเลย เพราะแผลจะมีขนาดเล็ก ทำให้ดูแลง่ายกว่าแผลจากการผ่าตัดแบบดั้งเดิมที่มีรอยกว้าง และที่สำคัญเมื่อแผลหายแล้วก็จะเหลือเพียงแผลเป็นเล็กๆ ไม่กี่เซนติเมตรเท่านั้น

หลายท่านสงสัยว่า หลังผ่าตัดนำถุงน้ำดีออกแล้ว จะส่งผลกระทบต่อร่างกายหรือทำให้พิการหรือไม่ การตัดถุงน้ำดีออกจะไม่ทำให้ร่างกายพิการแต่อย่างใด เพียงแต่อาจต้องควบคุมการรับประทานอาหารให้มากขึ้น เพราะน้ำดีมีหน้าที่ช่วยย่อยไขมันจากอาหารที่เรารับประทาน น้ำดีถูกสร้างมากจากตับและถูกเก็บไว้ในถุงน้ำดี ดังนั้นหลังผ่าตัดเอาถุงน้ำดีออกแล้ว ควรลดอาหารประเภทไขมัน และเน้นการรับประทานอาหารจำพวกผัก ผลไม้ และเนื้อสัตว์ที่ย่อยง่าย เช่น เนื้อปลา เป็นต้น

การรักษาโรคไม่ว่าจะเป็นการกินยาหรือการผ่าตัดก็ตาม สิ่งหนึ่งที่เราควรคำนึงไว้เสมอก็คือ เมื่อไหร่ก็ตามที่มีอาการแปลกๆ เกิดขึ้นกับร่างกาย ไม่ว่าจะปวดท้องมาก ปวดด้านซ้าย ปวดท้องด้านขวา ปวดมวนท้อง ปวดสะบักขวา ปวดไหล่ขวา หากรับประทานยาเองเป็นระยะเวลานานๆ แล้วไม่หาย ก็ควรรีบปรึกษาแพทย์ทันที เพราะอย่าลืมว่าโรคบางโรคอาจไม่สามารถรักษาให้หายได้ด้วยยา และจำเป็นต้องพึ่งวิธีการรักษาด้วยการผ่าตัดเท่านั้น ดังเช่น ‘โรคนิ่วในถุงน้ำดี’ นั่นเอง

ค่ารักษาผ่าตัดนิ่วในถุงน้ำดี

ตัดถุงน้ำดีผ่าท่อน้ำดี

91,000 บาท

ผ่าตัดนิ่วถุงน้ำดี ชนิดเปิดช่องท้อง

พัก 3 คืน

71,000 บาท

ผ่าตัดนิ่วถุงน้ำดี ชนิดผ่านกล้อง

พัก 3 คืน

110,000 บาท

แพทย์ที่ทำหัตถการนิ่วในถุงน้ำดี