chat

ท่อน้ำนมอุดตัน สลายได้ด้วย “อัลตราซาวนด์”

ท่อน้ำนมอุดตัน สลายได้ด้วย “อัลตราซาวนด์”

ภาวะท่อน้ำนมอุดตัน เป็นอีกหนึ่งปัญหาที่พบบ่อยของคุณแม่หลังคลอดบุตร รวมไปถึงคุณแม่มือใหม่ทั้งหลายที่ต้องเจอภาวะท่อน้ำนมอุดตัน ส่งผลให้น้ำนมไหลน้อยลง และลูกน้อยก็ไม่ได้ดื่มน้ำนมแม่อย่างเต็มที่ และที่ร้ายไปกว่านั้น หากเกิดอาการเต้านมอักเสบก็จะสร้างความเจ็บปวดทรมานให้กับคุณแม่เป็นอย่างยิ่ง ปัญหาเหล่านี้สามารถรักษาได้ด้วยวิธีอัลตราซาวนด์ (Ultrasound) เพื่อสลายท่อน้ำนมอุดตันและทำให้น้ำนมไหลดีขึ้น

ภาวะท่อน้ำนมอุดตันคืออะไร

ภาวะท่อน้ำนมอุดตัน เกิดจากท่อน้ำนมบางส่วนเกิดการอุดตัน ทำให้น้ำนมที่สร้างขึ้นนั้นไม่สามารถไหลได้สะดวก เกิดการสะสมของน้ำนมที่ค้างภายในเต้านมมากเกินไป ส่งผลให้เต้านมบางบริเวณ มีลักษณะแข็งเป็นแผ่นหนาหรือเป็นก้อนอยู่ใต้ผิวหนัง พบมากในกลุ่มคุณแม่หลังคลอด และสามารถเป็นได้ตั้งแต่หลังคลอดลูกจนกระทั่งลูกหย่านมแม่แล้ว

สาเหตุที่ทำให้เกิดภาวะท่อน้ำนมอุดตัน คือ

  • ลูกดูดนมไม่เกลี้ยงเต้า หรือไม่ได้ให้ลูกดูดนมบ่อย ไม่ได้ปั๊มตามรอบ
  • ปล่อยให้น้ำนมค้างอยู่ในเต้านาน
  • มีน้ำนมมากเกินไป ทำให้ระบายน้ำนมออกไม่สมดุลกับที่ผลิต
  • ใส่เสื้อชั้นในคับหรือแน่นเกินไป ทำให้การไหลเวียนเลือดไม่สะดวก
  • ใส่เสื้อชั้นในหลวมเกินไป ไม่กระชับ เต้านมหย่อนคล้อย ทำให้เกิดการกดทับท่อส่งน้ำนม
  • รับประทานอาหารและเครื่องดื่มที่มีรสหวาน หรือไขมันสูง
  • มีภาวะเครียด ทำให้หลั่งฮอร์โมนที่ทำให้น้ำนมไหลลดลง

อาการเมื่อเกิดภาวะท่อน้ำนมอุดตัน

คุณแม่อาจรู้สึกว่ามีก้อนแข็งที่บริเวณเต้านม ลักษณะหัวนมและลานนมผิดรูป บางครั้งอาจมีอาการเส้นเลือดปูดอย่างเห็นได้ชัด ผิวหนังบริเวณเหนือก้อนเมื่อเวลากดแล้วเจ็บ มีอาการปวดระบมเต้านม อาจมีอาการบวมแดงแต่ไม่มีไข้ หรืออาจจะพบเจอจุดสีขาวที่หัวนม (White dot) และสามารถพัฒนาไปเป็นเต้านมอักเสบได้ หากปล่อยทิ้งไว้เป็นเวลานานและไม่ได้รับการรักษาที่ถูกต้อง

การวินิจฉัยของแพทย์เมื่อมารดาเป็นภาวะท่อน้ำนมอุดตัน

  • แพทย์มักสอบถามคุณแม่โดยให้สังเกตขณะที่ให้นมลูก โดยดูตำแหน่งการวางนิ้วมือหรือกดเต้านมที่ไม่เหมาะสม ส่งผลต่อการขัดขวางการไหลของน้ำนม
  • แพทย์มักสอบถามคุณแม่โดยให้สังเกตบริเวณด้านล่างของเต้านม ถ้ามีอาการอักเสบหรือเกิดภาวะท่อน้ำนมอุดตัน อาจเกิดจากการที่เต้านมมีน้ำหนักมากเกินไป ปัญหานี้แก้ไขได้ด้วยการพยุงหรือยกเต้านมขึ้นขณะให้นมลูก อาจจะช่วยให้ท่อน้ำนมส่วนล่างไหลดีขึ้น
  • แพทย์สอบถามความถี่ของการให้นม และคุณแม่ให้นมตามความต้องการของลูกหรือไม่
  • แพทย์สอบถามเรื่องการสวมใส่เสื้อผ้าที่คับหรือแน่นเกินไปหรือไม่ โดยเฉพาะการใส่เสื้อชั้นในในเวลากลางคืน

การเตรียมตัวก่อนการรักษาภาวะท่อน้ำนมอุดตัน

สำหรับคุณแม่ที่มีภาวะท่อน้ำนมอุดตัน ไม่ต้องเตรียมตัวอะไรเลย สามารถเข้ามาพบแพทย์เพื่อทำการตรวจและวินิจฉัยเพื่อดูอาการ และสามารถทำการรักษาได้ทันที

การรักษาภาวะท่อน้ำนมอุดตันด้วยคลื่นอัลตราซาวนด์

เมื่อตรวจพบว่าเกิดภาวะท่อน้ำนมอุดตัน สามารถรักษาได้หลากหลายวิธี เช่น การประคบร้อน การใช้ยาในการรักษา หากรักษาด้วยการประคบร้อนหรือใช้ยาแล้วไม่เห็นผล สามารถรักษาร่วมกับ “การใช้คลื่นอัลตราซาวนด์ (Ultrasound)” ซึ่งเป็นการส่งคลื่นเสียงความถี่สูงลงไปยังเนื้อเยื่อ(ที่ต้องการรักษา)ได้ลึกประมาณ 2-5 เซนติเมตร ทำให้โมเลกุลภายในเนื้อเยื่อเกิดการสั่นสะเทือน และเกิดเป็นพลังงานความร้อนลึก ในระหว่างการนวดจึงอาจทำให้รู้สึกอุ่นๆ ในเต้านมได้

การรักษาภาวะท่อน้ำนมอุดตันด้วยคลื่นอัลตราซาวนด์ จะช่วยเร่งกระบวนการซ่อมสร้างเนื้อเยื่อที่บาดเจ็บ เพิ่มความยืดหยุ่นของเนื้อเยื่อและการไหลเวียนเลือด ส่งผลให้มีการกระตุ้นการไหลเวียนเลือดเพิ่มขึ้นในบริเวณเต้านมที่ทำการอัลตราซาวนด์ นอกจากนี้การทำอัลตราซาวนด์ ยังช่วยลดอาการปวดจากภาวะท่อน้ำนมอุดตัน และช่วยให้ท่อน้ำนมขยายออก กระตุ้นให้ท่อน้ำนมที่อุดตันสลายได้ง่ายขึ้น ในการกระตุ้นให้น้ำนมไหลนั้น จะใช้ความแรงของคลื่นเบากว่าและเคลื่อนที่รอบๆ เต้านม ส่วนกรณีที่มีการรักษาการอุดตันของท่อน้ำนมจะใช้ความแรงของคลื่นที่สูงกว่าและอาจเน้นในบริเวณที่มีอาการ ข้อดีของการใช้คลื่นอัลตราซาวนด์ คือ ไม่ทำให้เจ็บปวด และใช้เวลาน้อยโดยทำข้างละประมาณ 15 นาที นับเป็นอีกทางเลือกหนึ่งของคุณแม่ที่มีภาวะท่อน้ำนมอุดตัน

การปฏิบัติตัวภายหลังการรักษาท่อน้ำนมอุดตันด้วยคลื่นอัลตราซาวนด์

  • ให้ลูกดูดนมเพื่อช่วยระบายน้ำนมออกหลังจากการทำอัลตราซาวนด์หรือปั้มนมเป็นเวลาอย่างน้อย 30-45 นาที
  • ให้ลูกดูดนมบ่อยๆ ทุกๆ 2-3 ชั่วโมง โดยถ้าลูกหิวและดูดได้แรง ให้ดูดข้างละ 15-20 นาที หากรู้สึกว่ายังมีน้ำนมค้างในเต้า ให้พยายามปั๊มจนเกลี้ยงเต้า
  • การระบายน้ำนมออกจากเต้าในครั้งถัดไป แนะนำให้ประคบอุ่น 15-20 นาที และนวดเต้านมก่อนปั๊ม
  • หลีกเลี่ยงการรับประทานอาหารและเครื่องดื่มที่มีรสหวาน ไขมัน เพื่อลดภาวะท่อน้ำนมอุดตัน
  • หลีกเลี่ยงการใส่เสื้อชั้นในที่คับหรือหลวมเกินไป ให้เลือกเสื้อชั้นในที่ใส่พอดี ขอบไม่กดทับเต้านมหรือแบบไม่มีโครง
  • มาตรวจตามที่แพทย์นัดทุกครั้งอย่าสม่ำเสมอ เพื่อป้องกันภาวะเต้านมอักเสบ

ข้อห้ามในการใช้คลื่นอัลตราซาวนด์

  • ห้ามทำในบริเวณที่ใส่เครื่องกระตุ้นการเต้นของหัวใจ
  • บริเวณหลังและท้องของหญิงตั้งครรภ์
  • ผู้ที่เป็นโรคมะเร็งทุกชนิด
  • ผู้ที่มีภาวะหลอดเลือดดำอักเสบ
  • บริเวณที่มีการติดเชื้อ
  • บริเวณกระดูกที่ยังเจริญเติบโตไม่เต็มที่
  • บริเวณดวงตา
  • บริเวณเนื้อเยื่อที่ขาดเลือดมาเลี้ยง
  • บริเวณที่มีแผลเปิด

การป้องกันภาวะท่อน้ำนมอุดตัน

  • ไม่ควรทิ้งเต้านมไว้เป็นเวลานาน ควรบริหารเวลาในการระบายน้ำนมออกจากเต้า
  • ควรให้ลูกดูด/ปั๊มนมให้เกลี้ยงเต้า
  • ควรให้ลูกดูดนมตั้งแต่หัวนมจนถึงลานนม เพื่อช่วยกระตุ้นต่อมน้ำนมให้กระจายทั่วเต้านม อีกทั้งควรให้นมบุตรทุก 2-3 ชั่วโมง
  • ควรงดรับประทานอาหารที่มีรสหวาน ไขมันสูง แป้ง และน้ำตาล
  • การรับประทานยาเพื่อช่วยละลายไขมันในร่างกาย รวมไปถึงไขมันในน้ำนมด้วย แต่ควรรับประทานตามคำสั่งแพทย์
  • เลือกเสื้อชั้นในที่ช่วยพยุงเต้านม มีขนาดที่ไม่หลวมหรือคับจนเกินไป

การอัลตราซาวนด์เปิดท่อน้ำนม สลายท่อน้ำนมอุดตัน นับเป็นทางเลือกหนึ่งที่น่าสนใจสำหรับคุณแม่หลังคลอดบุตรที่มีภาวะเต้านมคัดตึง หรือท่อน้ำนมอุดตัน เมื่อท่อน้ำนมถูกสลาย จะส่งผลให้น้ำนมไหลมากขึ้น ส่งผลดีกับลูกน้อย เพราะน้ำนมแม่เป็นอาหารที่ดีที่สุดและเป็นการสร้างภูมิคุ้มกันที่ดีให้กับลูก ทั้งนี้ การสลายท่อน้ำนมอุดตันด้วยวิธีอัลตราซาวนด์ ควรอยู่ภายใต้การดูแลของแพทย์และนักกายภาพบำบัด เพื่อความปลอดภัยและเกิดประสิทธิภาพของผลการรักษาที่ดีที่สุด

ค่ารักษา

เพิ่มเติม
การรักษา ราคา(บาท)
อัตราค่ารักษาพยาบาล แพทย์ที่ทำการรักษาเป็นผู้ประเมิน สอบถามข้อมูลเพิ่มเติม โทร 1723
การรักษา
อัตราค่ารักษาพยาบาล แพทย์ที่ทำการรักษาเป็นผู้ประเมิน สอบถามข้อมูลเพิ่มเติม
โทร 1723

หัตถการของศูนย์กายภาพบำบัด