chat
ต่อมลูกหมากโต

ต่อมลูกหมากโต
ปัญหาที่คุณผู้ชายไม่ควรมองข้าม

พาคุณสามีสุดที่รักมาตรวจที่โรงพยาบาลเพราะมีอาการปัสสาวะขัด ปวดแสบเวลาปัสสาวะ ระหว่างรอคุณสามีตรวจอยู่จึงถามคุณหมอในการวินิจฉัยเบื้องต้น ซึ่งคุณหมอกรุณาอธิบาย ตามอาการอาจเป็นได้หลายโรค แต่คุณหมอแนะนำให้ตรวจให้ละเอียดไปเลย และเพื่อการวินิจฉัยที่ละเอียด และการรักษาที่เหมาะสมต่อไป ทางด้านคุณหมอเองก็ถามคำถามเพิ่มเติมว่า มีอาการปวดหลังช่วงล่างหรือต้นขาด้วยหรือไม่ เราก็ตอบคุณหมอไปว่าก็มีบ้าง แต่คิดว่าเป็นเพราะอายุมากขึ้นจึงมีอาการปวดเมื่อยเป็นปกติของคนอายุ 50 ปีเศษๆ ไม่คิดว่าจะมีความผิดปกติอะไร เพราะสามีเป็นคนที่ดูแลสุขภาพดี ออกกำลังกายเสมอ แต่ด้วยหน้าที่การงานที่มีงานสังสรรค์บ่อย ต้องเลี้ยงลูกค้า โดยเฉพาะโต๊ะจีนมีเกือบทุกเดือน จึงมีน้ำหนักมาก (อ้วน) แต่ปกติก็ไม่มีปัญหาเรื่องโรคอื่นๆ เราจึงอดไม่ได้ที่จะถามคุณหมอว่าคุณสามีเป็นโรคเกี่ยวกับเพศสัมพันธ์หรือเปล่า ทั้งๆ ที่คุณสามีไม่ใช่คนชอบเที่ยวแบบผู้ชาย แต่ก็เกิดอาการหึงแบบไม่มีเหตุผล ซึ่งโชคดีที่คุณหมอก็บอกว่าไม่น่าจะใช่เพราะไม่มีอาการไข้ตัวร้อน แต่อาจเป็น “นิ่ว” หรือเกี่ยวกับ “ต่อมลูกหมาก” มากกว่า ซึ่งจะทราบจากการตรวจ เช่น การตรวจด้วยอัลตราซาวนด์ หรือการตรวจค่าPSA

คำถามต่อมาของคุณหมอ ทำให้เราใจไม่ดีนัก เพราะคุณหมอถามว่า “ญาติทางสามีมีใครเคยเป็นต่อมลูกหมากโต หรือมะเร็งต่อมลูกหมากไหม” ซึ่งมีอาของสามีเคยเป็นมะเร็งต่อมลูกหมาก พอได้ยินคำว่า “มะเร็ง” เลยต้องขอซักคุณหมอเรื่องโรคมะเร็งต่อมลูกหมากนี้ให้ละเอียดหน่อย จึงได้คำตอบเรื่องนี้ว่า…

ปัจจัยเสี่ยงที่ทำให้เกิดโรคมะเร็งต่อมลูกหมากมีหลายสาเหตุ

– อายุเป็นปัจจัยเสี่ยงที่สำคัญของโรคมะเร็งต่อมลูกหมาก ซึ่งปกติผู้ชายที่อายุ 50-59 ปี มีความเสี่ยงแค่ 10-15% แต่เมื่ออายุมากขึ้นความเสี่ยงก็จะมากขึ้นตาม เช่น อายุ 70-80 ปี ความเสี่ยงจะมากถึง 70% คุณสามีตอนนี้ก็อายุ 56 ปีแล้ว จึงมีความเสี่ยงอยู่บ้าง

– ประวัติทางครอบครัวเคยมีสมาชิกเพศชายที่มีความสัมพันธ์โดยตรงในครอบครัว เช่น พ่อ พี่ชาย น้องชาย เป็นโรคมะเร็งต่อมลูกหมาก ก็จะทำให้อัตราการเกิดโรคนี้ของเพศชายในครอบครัวเพิ่มขึ้น เรียกว่าเป็นโรคที่สืบทอดทางพันธุกรรมได้

– เกิดจากเซลล์ในต่อมลูกหมากเกิดการเปลี่ยนแปลงทางพยาธิวิทยาที่ผิดปกติ ผู้ชายที่มีการเปลี่ยนแปลงของเซลล์เนื้องอกในเยื่อบุผิวต่อมลูกหมากในระดับสูง จะมีอัตราการเป็นโรคมะเร็งต่อมลูกหมากสูง ซึ่งเป็นการเกิดความผิดปกติของระบบในร่างกายเอง ยังไม่ทราบสาเหตุ หรือตัวกระตุ้นที่ทำให้เซลล์เกิดการเปลี่ยนแปลงนี้

– เกิดจากพฤติกรรมการรับประทานอาหาร ผู้ชายที่ชอบทานอาหารที่มีไขมันสัตว์สูง มักจะมีโอกาสเสี่ยงเป็นโรคมะเร็งต่อมลูกหมากได้

– อีกสาเหตุที่พบได้คือ ระดับแอนโดรเจน (Androgen) แอนโดรเจนในร่างกายจะช่วยกระตุ้นให้เกิดมะเร็งต่อมลูกหมากได้ ซึ่งร่างกายสร้างเอง ต้องตรวจจึงจะพบ ซึ่งอาจไม่มีอาการแสดงให้รู้มาก่อนเลยก็ได้

คุณสามีมีอัตราเสี่ยงที่จะเป็นมะเร็งต่อมลูกหมากหลายข้ออยู่เหมือนกัน เพราะด้วยปัจจัยเรื่องอายุ พันธุกรรมและพฤติกรรมการบริโภคอาหาร ถ้าเป็นมะเร็งต่อมลูกหมากจริงๆ จะทำอย่างไรดี มีวิธีการรักษาให้หายได้หรือไม่ เป็นคำถามที่กังวลใจมากขึ้นกว่าตอนแรก ซึ่งคุณหมออธิบายว่า

คุณสามีของดิฉัน อาจจะเป็นแค่ต่อมลูกหมากโต หรือต่อมลูกหมากอักเสบก็ได้ อาจไม่ถึงขั้นมะเร็งต่อมลูกหมาก ถึงแม้อายุ 50 กว่าๆ แต่ก็ยังเสี่ยงน้อยอยู่ และมาหาหมอตั้งแต่การเป็นครั้งแรก อาการก็ยังไม่รุนแรงมาก เพราะถ้ามีอาการมากกว่านี้ ร่วมกับปัสสาวะขัด เช่น อาการอุดตันของการปัสสาวะ เกิดความลำบากในการปัสสาวะ เกิดความเจ็บปวด ปัสสาวะเป็นเลือด หรืออั้นปัสสาวะไม่อยู่ หรือไม่สามารถปัสสาวะได้ ต้องเบ่งปัสสาวะนาน ปัสสาวะบ่อย โดยเฉพาะเวลากลางคืน ปัสสาวะอ่อนแรง ไม่พุ่ง อาจมีอาการปวดแสบระหว่างปัสสาวะ มีเลือดปนในปัสสาวะ หรือปนกับอสุจิ

อาการแพร่กระจายอื่นๆ ของเซลล์เนื้อร้ายมะเร็งต่อมลูกหมากมักจะแพร่ไปยังกระดูกได้ง่าย โดยในช่วงแรกจะไม่ปรากฏอาการใดๆ และเมื่อมาพบแพทย์เนื่องจากการลามไปที่กระดูกจะทำให้กดทับเส้นประสาทหรือกระดูกหักก็จะพบว่าสาเหตุเพราะเป็นมะเร็งต่อมลูกหมากซึ่งอาจทำให้มีอาการปวดบริเวณหลังหรือสะโพกช่วงล่างได้

ถ้าตรวจอย่างละเอียดและถูกต้องจะพบตั้งแต่ระยะเริ่มแรก ถึงแม้เป็นมะเร็งต่อมลูกหมากก็สามารถรักษาได้ ซึ่งในขั้นตอนการตรวจเพื่อวินิจฉัยโรคมะเร็งต่อมลูกหมากจะตรวจได้หลายวิธี คือ

1. การตรวจทางทวารหนัก เหมาะสำหรับคนทั่วไปที่ยังไม่มีอาการใดๆ แต่มีอายุมากกว่า 45 ปี

2. การตรวจค่า Prostate-Specific Antigen (PSA) Test เป็นการเจาะเลือด เพื่อช่วยในการคัดกรองคนไข้ที่เป็นมะเร็งต่อมลูกหมาก ทำให้เราพบคนไข้ที่เป็นมะเร็งต่อมลูกหมากระยะแรกมากขึ้น ซึ่งสามารถรักษาให้หายขาดได้ โดยทั่วไป ค่า PSA ที่สูงนอกจากจะเกิดจากมะเร็งต่อมลูกหมากแล้วยังเกิดได้อีกหลายสาเหตุ เช่น โรคต่อมลูกหมากโต โรคต่อมลูกหมากอักเสบ การติดเชื้อระบบทางเดินปัสสาวะ ซึ่งจะทราบได้ว่าเป็นโรคอะไรจากการอ่านค่าและวินิจฉัย

3. การตรวจอัลตราซาวนด์

4. การตรวจชิ้นเนื้อ

5. การตรวจ CT และ MRI

โรคมะเร็งต่อมลูกหมากเป็นเนื้องอกร้ายที่เกิดขึ้นบริเวณต่อมลูกหมาก โดยเป็นผลมาจากการที่เซลล์ต่อมลูกหมากเติบโตขึ้นมาอย่างผิดปกติ มีการแพร่กระจายทางกระแสเลือดและต่อมน้ำเหลืองเป็นทิศทางการแพร่กระจายที่พบบ่อยของมะเร็งต่อมลูกหมาก โดยการกระจายที่พบบ่อยที่สุดคือไปยังกระดูกและปอด กระดูกเชิงกรานและกระดูกสันหลัง รวมไปถึงกระดูกซี่โครง กระดูกโคนขา กระดูกไหปลาร้าและกระดูกส่วนอื่นๆ ก็มีโอกาสที่จะถูกลุกลามได้ และยังมีหลักฐานยืนยันว่ามะเร็งต่อมลูกหมากก็มีการหมุนเวียนไปตามร่างกายเช่นเดียวกับมะเร็งชนิดอื่นๆ

วิธีการรักษาในปัจจุบัน ก็เหมือนกับมะเร็งทั่วไปคือ

1. การผ่าตัด เป็นวิธีรักษาที่ใช้กันมากที่สุด โดยเป็นการผ่าตัดส่วนที่เป็นมะเร็งต่อมลูกหมากออกไปหรือตัดต่อมลูกหมากทิ้ง เพื่อยับยั้งและควบคุมการแพร่กระจายของมะเร็ง การผ่าตัดต่อมลูกหมากโดยเอาต่อมลูกหมากออก ซึ่งใช้ในผู้ป่วยมะเร็งต่อมลูกหมากในระยะแรก (ระยะ 1 และ 2) สามารถทำได้หลายวิธีคือ การผ่าตัดต่อมลูกหมากโดยการเปิดผ่านหน้าท้อง, การผ่าตัดต่อมลูกหมากโดยการเปิดผ่านบริเวณฝีเย็บ, การผ่าตัดต่อมลูกหมากโดยการส่องกล้องผ่านผนังหน้าท้อง ปัจจุบันเป็นวิธีการที่นิยมมาก แผลขนาดเล็ก เสียเลือดน้อย และเจ็บน้อยกว่า และการผ่าตัดเอาอัณฑะออก ซึ่งอัณฑะเป็นแหล่งใหญ่ในการสร้างฮอร์โมนเพศชาย โดยมีบางส่วนซึ่งเป็นส่วนน้อยมาจากต่อมหมวกไต การลดปริมาณฮอร์โมนเพศชายในกระแสเลือดเพื่อควบคุมและลดการกระจายของมะเร็งต่อมลูกหมากไปยังอวัยวะต่างๆ มะเร็งต่อมลูกหมากส่วนใหญ่จะไม่โตขึ้นเป็นระยะเวลาหลายปี

2. รักษาโดยการฉายรังสี ซึ่งมีแยกเป็น การฉายรังสีนอกร่างกาย โดยผู้ป่วยจะได้รับรังสีจากเครื่องกำเนิดรังสีภายนอกร่างกายไปที่ต่อมลูกหมาก, การฉายรังสีภายในเนื้อเยื่อ โดยมักจะใช้ร่วมกับการผ่าตัดมะเร็งต่อมลูกหมากแบบถอนรากถอนโคนหรือการผ่าตัดต่อมน้ำเหลืองกระดูกเชิงกราน,การฝังแร่รังสีเข้าไปในเนื้อต่อมลูกหมาก เป็นการใช้แร่รังสีซึ่งเป็นเม็ดเล็กปริมาณหลายเม็ดขึ้นกับขนาดของต่อมลูกหมากฝังเข้าไปในเนื้อต่อมลูกหมาก นอกจากนั้นยังมีการฉายรังสีเพื่อลดความเจ็บปวดในส่วนที่ลุกลามไปยังกระดูกและลดการพัฒนาของเซลล์มะเร็งได้

3. การรักษาทางเคมีบำบัด ซึ่งเป็นการรักษามะเร็งต่อมลูกหมากโดยใช้ยาเคมีทั่วร่างกาย เพื่อควบคุมการแพร่กระจายและการลุกลามของเซลล์เนื้อร้ายหรือมะเร็ง

4. การใช้ยาต้านฮอร์โมนเพศชาย โดยมียาต้านทำให้อัณฑะไม่สามารถสร้างฮอร์โมนเพศชาย และยาต้านการออกฤทธิ์ของฮอร์โมนเพศชาย

คราวนี้ลองจินตนาการตามที่คุณหมออธิบายแล้วน่ากลัวไม่น้อย สงสารคุณสามีจังถ้าเป็นจริงๆ จะทำอย่างไรดี แต่คุณหมอบอกว่าอาจเป็นแค่ต่อมลูกหมากโตใช่ไหมคะ ถ้าเป็นต่อมลูกหมากโตจะเป็นอย่างไรและรักษาอย่างไร เหมือนกันไหม ก็ได้คำตอบจากคุณหมอเรื่องต่อมลูกหมากโตคือ ต่อมลูกหมากโตและมะเร็งต่อมลูกหมากเป็นโรคที่เกิดขึ้นในเพศชายที่มีอาการคล้ายๆ กัน โดยเริ่มปัสสาวะขัด เป็นในผู้ชายอายุมากกว่า 50 ปี แต่ตรวจค่า PSA ก็จะสามารถแยกได้ ต่อมลูกหมากโตเป็นคนละโรคกับมะเร็งต่อมลูกหมาก การรักษาเริ่มจากในรายที่เป็นเล็กน้อยก็ให้งดชาและกาแฟหรือเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ และดื่มน้ำก่อนนอนให้น้อยลง รับประทานยา ซึ่งหมอจะให้ยาตามการวินิจฉัย และตามอาการ เช่น ยาช่วยลดขนาดต่อมลูกหมาก การใส่ท่อปัสสาวะ แต่ถ้าอาการหนักมากอาจต้องผ่าตัด แต่ไม่รุนแรงเหมือนมะเร็ง เพราะเป็นที่ต่อมลูกหมากเท่านั้นไม่มีการแพร่กระจายแบบมะเร็ง อาจใช้เลเซอร์ตัดต่อมลูกหมากก็ได้ ไม่ยุ่งยาก และไม่มีการเปลี่ยนสภาพจากต่อมลูกหมากโตไปเป็นมะเร็งได้ แต่เราอาจพบร่วมกันได้ การตรวจและวินิจฉัยจึงสำคัญมากในการแยกโรคทั้ง 2 นี้

ผลการตรวจของคุณสามีจะออกมาเป็นอย่างไร ถ้าเป็นแค่ต่อมลูกหมากโตก็เบาใจหน่อย นับว่าโชคดีที่มาหาหมอตั้งแต่อาการเพิ่งเริ่มต้น และมาตรวจที่โรงพยาบาลที่มีเครื่องมือทันสมัย สามารถตรวจวินิจฉัยโรคที่ใกล้เคียงกันได้ และที่สำคัญมีคุณหมอผู้เชี่ยวชาญเฉพาะทางให้คำแนะนำอย่างละเอียด และคงจะเป็นเรื่องที่โชคดียิ่งขึ้นถ้าคุณสามีจะไม่เป็นมะเร็งต่อมลูกหมาก

ค่ารักษา

เพิ่มเติม
การรักษา ราคา(บาท)
อัตราค่ารักษาพยาบาล แพทย์ที่ทำการรักษาเป็นผู้ประเมิน สอบถามข้อมูลเพิ่มเติม โทร 1723
การรักษา
อัตราค่ารักษาพยาบาล แพทย์ที่ทำการรักษาเป็นผู้ประเมิน สอบถามข้อมูลเพิ่มเติม
โทร 1723

แพทย์ประจำศูนย์ศัลยกรรมระบบทางเดินปัสสาวะ

เพิ่มเติม

เกร็ดความรู้

เพิ่มเติม