chat
งูสวัด


โรคงูสวัด

ลดความเสี่ยงโรคงูสวัดได้ ด้วยการฉีดวัคซีนป้องกัน

น้อยคนนักที่จะไม่เคยได้ยินชื่อโรคงูสวัด บางคนอาจไม่เคยเป็นมาก่อนด้วยซ้ำ โรคงูสวัดเกิดจากเชื้อไวรัสชนิดเดียวกับที่ทำให้เกิดโรคอีสุกอีใส นั่นก็คือเชื้อไวรัสวาริเซลล่า ซอสเตอร์ (varicella zoster virus) คนที่เคยมีประวัติเป็นอีสุกอีใสมาก่อนจึงเสี่ยงเป็นโรคงูสวัดได้ทุกคน เนื่องจากเมื่อหายจากอีสุกอีใสแล้ว เชื้อจะหลบเข้าไปแฝงตัวอยู่อย่างสงบที่ปมประสาทเป็นเวลานานหลายปี โดยไม่มีอาการผิดปกติใดๆ จนเมื่อภูมิคุ้มกันร่างกายอ่อนแอ เชื้อที่แฝงอยู่ก็จะแบ่งตัวกลับออกมาทางเส้นประสาทอีกครั้งกลายเป็นโรคงูสวัด

คนที่เคยมีประวัติเป็นอีสุกอีใสมาก่อนจะมีความเสี่ยงเป็นโรคงูสวัดได้ทุกคน แต่คนที่เสี่ยงเป็นโรคงูสวัดมากกว่าคนทั่วไป ได้แก่

  • ผู้สูงอายุอายุตั้งแต่ 50 ปีขึ้นไป เป็นกลุ่มเสี่ยงที่ต้องคอยระวัง เนื่องจากพบอุบัติการณ์โรคนี้เพิ่มขึ้นในผู้สูงอายุ เพราะผู้สูงอายุพออายุมากขึ้นภูมิคุ้มกันร่างกายจะต่ำลง จึงเสี่ยงเป็นโรคงูสวัดได้ง่าย
  • ผู้ที่มีความเครียดสูง
  • ผู้ที่มีภาวะภูมิคุ้มกันบกพร่อง เช่น เป็นเบาหวาน, ผู้ป่วยที่ได้รับยากดภูมิคุ้มกัน, เอดส์

อาการของโรคงูสวัดเริ่มแรกจะรู้สึกไม่ค่อยสบาย อาจมีไข้ อ่อนเพลีย ปวดศีรษะ และปวดตามผิวกายตรงบริเวณแนวเส้นประสาทที่จะเกิดงูสวัด 3-5 วันต่อมาจะเริ่มมีผื่นแดงๆ ขึ้นตรงบริเวณที่ปวดแล้วพุเป็นตุ่มน้ำใสเป็นกลุ่มและเรียงตัวเป็นทางยาวตามแนวเส้นประสาทที่มาเลี้ยงผิวหนัง ต่อมาตุ่มน้ำจะแตกและค่อยๆ ยุบไปจนแห้งกลายเป็นสะเก็ดและค่อยๆ หลุดไปเองภายใน 2-3 สัปดาห์ โรคงูสวัดมักพบว่าเป็นข้างเดียวของร่างกายหรือซีกใดซีกหนึ่ง มากกว่าครึ่งของผื่นโรคงูสวัดที่พบจะเกิดขึ้นบริเวณลำตัว อย่างไรก็ตามเราสามารถพบโรคงูสวัดขึ้นบริเวณใบหน้า ดวงตา และใบหูได้เช่นกัน

โดยทั่วไปโรคงูสวัดมักมีอาการไม่รุนแรงและหายได้เอง แต่มีสิ่งที่น่าห่วงและไม่อยากให้มองข้ามก็คือ เรื่องของภาวะแทรกซ้อน โดยเฉพาะในคนสูงอายุเพราะโรคนี้จะมีอาการรุนแรงมากขึ้นตามอายุ และในคนที่มีภูมิต้านทานต่ำจะเป็นรุนแรงและหายช้ากว่าปกติ ภาวะแทรกซ้อนที่พบได้บ่อย คือ อาการปวดตามแนวผื่นงูสวัดหลังจากแผลหายแล้ว พบได้บ่อยในคนสูงอายุและพวกที่มีภูมิต้านทานต่ำ อาการปวดอาจเป็นอยู่นาน 1-6 เดือนกว่าจะทุเลา แต่มีบางรายอาจปวดอยู่นานเป็นแรมปี ภาวะแทรกซ้อนอื่น ได้แก่ การติดเชื้อแบคทีเรียแทรกซ้อน แผลเป็น สูญเสียการรับสัมผัส ภาวะแทรกซ้อนทางตา หากงูสวัดนั้นขึ้นผ่านเส้นประสาทที่เกี่ยวข้องกับตาผู้ป่วยจะต้องเข้ารับการรักษาอย่างเร่งด่วน เป็นต้น ส่วนภาวะแทรกซ้อนที่รุนแรงแต่พบน้อย เช่น ปอดอักเสบ เยื่อหุ้มสมองอักเสบ ประสบปัญหาด้านการได้ยินและมองเห็น รวมถึงอาจจะเสียชีวิตได้

คงเห็นแล้วว่าโดยตัวโรคเองไม่น่ากลัวสักเท่าไหร่ แต่ถ้าเกิดภาวะแทรกซ้อนตามมาด้วยก็จะกลายเป็นโรคที่วางใจไม่ได้เหมือนกัน ดังนั้น ถ้าเป็นโรคงูสวัดก็ควรไปพบแพทย์เพื่อทำการรักษาแต่เนิ่นๆ โดยเฉพาะในคนสูงอายุ แต่ถ้ายังไม่เป็นก็ควรหาทางป้องกันโรคงูสวัดไว้ก่อนดีกว่า นอกจากการดูแลรักษาสุขภาพร่างกายให้แข็งแรงแล้ว หากเป็นผู้สูงอายุแล้วเคยมีประวัติเป็นโรคอีสุกอีใสมาก่อน ควรฉีด “วัคซีนป้องกันโรคงูสวัด” กันไว้ก่อนเพื่อความไม่ประมาท

รู้จักวัคซีนป้องกันโรคงูสวัด

วัคซีนป้องกันโรคงูสวัดเป็นวัคซีนที่อาจจะไม่ค่อยได้ยินชื่อกันบ่อยเท่าวัคซีนป้องกันไข้หวัดใหญ่ เพราะวัคซีนชนิดนี้เพิ่งเริ่มใช้ในประเทศไทยเมื่อปลายปี 2557 ที่ผ่านมา แต่ถ้าพูดถึงการใช้วัคซีนชนิดนี้ในต่างประเทศก็มีฉีดกันมานานกว่า 10 ปีแล้ว

การฉีดวัคซีนป้องกันโรคงูสวัดสามารถช่วยป้องกันและลดภาวะการเกิดโรคงูสวัดได้ ในกรณีผู้ที่ได้รับวัคซีนแล้วยังเป็นโรคงูสวัดก็จะช่วยลดความรุนแรงและป้องกันภาวะปวดเรื้อรังหรือลดความเจ็บปวดจากโรคงูสวัดเมื่อผื่นงูสวัดหายไปแล้ว ซึ่งจากการศึกษาพบว่า วัคซีนสามารถลดอุบัติการณ์เกิดโรคงูสวัดได้ถึงร้อยละ 51.3 และป้องกันการเกิดอาการปวดตามแนวเส้นประสาทในผู้ป่วยที่เป็นโรคงูสวัดได้ถึงร้อยละ 66.5

สำหรับการฉีดวัคซีนป้องกันโรคงูสวัด แนะนำฉีดในผู้สูงอายุที่มีอายุตั้งแต่ 60 ปีขึ้นไป จะฉีดเพียง 1 เข็ม จะได้รับประโยชน์สูงสุดในผู้รับการฉีดวัคซีนในช่วงอายุ 60-69 ปี ถ้าให้วัคซีนในผู้ที่อายุมากกว่า 69 ปี ประสิทธิภาพของวัคซีนจะลดลง

หลังฉีดวัคซีนป้องกันโรคงูสวัด อาจมีอาการข้างเคียงเกิดขึ้นได้บ้าง แต่ส่วนใหญ่จะเป็นอาการเฉพาะที่ เช่น อาการปวด, แดง บริเวณที่ฉีดยา ส่วนอาการทางร่างกายที่อาจเกิดขึ้นได้ เช่น มีไข้, ปวดศีรษะ ซึ่งอาการต่างๆ เหล่านี้มักหายได้เองภายใน 1-2 วัน โดยไม่ต้องรับการรักษส่วนอาการแพ้รุนแรงที่เป็นอันตรายต่อชีวิตนั้นมีโอกาสเกิดขึ้นน้อยมาก แต่ก็ไม่ควรประมาท ดังนั้น แนะนำผู้ที่ต้องการฉีดวัคซีนให้ปรึกษาแพทย์ก่อนฉีดวัคซีนทุกครั้ง และหากเคยมีประวัติเกิดอาการแพ้อย่างรุนแรงต่อส่วนประกอบต่างๆ ของวัคซีนควรเลี่ยงการฉีดวัคซีน

ส่วนบุคคลที่ไม่ควรได้รับวัคซีนป้องกันงูสวัด มีดังนี้

  • มีประวัติแพ้เจลาติน, นีโอมัยซิน
  • ผู้ป่วยที่มีภูมิคุ้มกันบกพร่อง เช่น เอดส์, ได้ยากดภูมิคุ้มกัน, มะเร็งที่ยังได้รับการรักษาอยู่, มะเร็งเม็ดเลือดขาว, มะเร็งต่อมน้ำเหลือง
  • ผู้หญิงตั้งครรภ์ หรือกำลังจะตั้งครรภ์ สำหรับผู้หญิงที่ได้รับวัคซีนป้องกันงูสวัด ควรคุมกำเนิดต่อไปอีก 4 สัปดาห์ หลังได้รับวัคซีน

สิ่งที่อยากฝากไว้สำหรับวัคซีนป้องกันโรคงูสวัดคือ วัคซีนชนิดนี้ไม่สามารถใช้รักษาโรคงูสวัดได้ ฉีดแล้ว ก็ยังมีโอกาสเป็นโรคงูสวัดได้ แต่วัคซีนงูสวัดจะช่วยลดความรุนแรงของโรคหรือภาวะแทรกซ้อนลง อีกประการหนึ่งคือ ถึงแม้ว่าโรคอีสุกอีใสกับโรคงูสวัดจะเกิดจากเชื้อชนิดเดียวกัน แต่การฉีดวัคซีนป้องกันโรคงูสวัดไม่ได้ช่วยป้องกันโรคอีสุกอีใส ถ้าต้องการป้องกันอีสุกอีใสก็ต้องฉีดวัคซีนป้องกันโรคอีสุกอีใสโดยตรง

เชื้อหรือโรคบางชนิดเมื่อเราติดอาจทำให้เกิดโรค อย่างไม่สามารถหลีกเลี่ยงได้ สิ่งที่เราสามารถทำได้ คือลดความรุนแรงของโรค เมื่อได้รับเชื้อ เชื้อโรคที่เรามองด้วยตาเปล่าไม่เห็น และก็ไม่รู้ว่าจะได้รับเชื้อจากไหนเมื่อไหร่ ได้มาแล้วอาการจะรุนแรงไหม ไม่มีใครรู้ หากป้องกันได้ ก็ควรกันไว้ดีกว่าแก้ เพื่อความปลอดภัยของชีวิตดีกว่านะคะ

ค่ารักษา

เพิ่มเติม
การรักษา ราคา(บาท)
อัตราค่ารักษาพยาบาล แพทย์ที่ทำการรักษาเป็นผู้ประเมิน สอบถามข้อมูลเพิ่มเติม โทร 1723
การรักษา
อัตราค่ารักษาพยาบาล แพทย์ที่ทำการรักษาเป็นผู้ประเมิน สอบถามข้อมูลเพิ่มเติม
โทร 1723

หัตถการของศูนย์อายุรกรรม

เกร็ดความรู้

เพิ่มเติม