chat

ความดันโลหิตสูง

ความดันโลหิตสูง

“รู้เท่าทัน “เพชฌฆาตเงียบ” ความดันโลหิตสูง”

เมื่อคุณได้ยินข่าวร้ายจากเพื่อนบ้านว่ามีคนที่คุณรู้จักเสียชีวิตเพราะเส้นเลือดในสมองแตก นอกจากความเสียใจกับการสูญเสียแล้วคุณมีความคิดเห็นต่อเรื่องนี้อย่างไร คุณคิดว่าใครๆ ก็มักจะเสียชีวิตด้วยสาเหตุนี้ หรือ คุณคิดว่าทำไมคนๆ นี้ถึงเสียชีวิตด้วยอาการเส้นเลือดในสมองแตกได้ ในเมื่อปกติก็ดูแข็งแรงดี

หลายคนรู้กันคร่าวๆ อยู่แล้วว่าเส้นเลือดในสมองแตกเกิดในคนที่เป็น “โรคความดันโลหิตสูง” ถ้าคุณมีความคิดเห็นดังข้อแรก นั่นหมายถึงว่า คนที่เสียชีวิตด้วยโรคความดันโลหิตสูงในปัจจุบันมีจำนวนเพิ่มขึ้นจนดูเหมือนเป็นเรื่องปกติ และความคิดเห็นข้อที่สอง คือลักษณะความรุนแรงของโรค ที่มาแบบไม่ให้รู้ตัว จนโรคนี้เป็นที่รู้จักกันดีว่า “เพชฌฆาตเงียบ”

เราทุกคนมีหัวใจที่ทำหน้าที่สูบฉีดเลือดไปเลี้ยงส่วนต่างๆ ของร่างกาย ความดันโลหิต คือ แรงดันของเลือดที่กระทบต่อผนังหลอดเลือด เกิดจากหัวใจบีบตัวและคลายตัว โดยอัตราการเต้นของหัวใจที่เป็นปกติจะอยู่ที่ประมาณ 60-80 ครั้ง ทุกครั้งที่หัวใจเต้นจะมีการบีบตัวและคลายตัว จึงทำให้การวัดค่าความดันโลหิต สามารถวัดได้ 2 ค่า คือ แรงดันโลหิตขณะหัวใจบีบตัว เป็นความดันโลหิตค่าบน และแรงดันโลหิตขณะหัวใจคลายตัว เป็นความดันค่าล่าง มีหน่วยวัดเป็นมิลลิเมตรปรอท ซึ่งคนปกติโดยทั่วไปที่มีสุขภาพดี จะมีความดันโลหิตอยู่ที่ 120/80 ถึง 139/89 มิลลิเมตรปรอท

แต่บางคนเวลาไปหาหมอแล้วจะต้องทำการวัดค่าความดันโลหิตก่อน อาจสังเกตได้ว่าในการวัดแต่ละครั้งทำไมความดันโลหิตของเราถึงไม่เท่ากันหรือเปลี่ยนแปลงอยู่เสมอ นั่นก็เป็นเพราะว่า ความดันโลหิตของคนเราจะไม่เท่ากันตลอดเวลา เพราะขึ้นอยู่กับสภาพแวดล้อม อากัปกิริยาท่าทาง สภาพจิตใจ อารมณ์ ความเครียด ช่วงเวลาระหว่างวัน รวมทั้งเพศและอายุ ถ้าอายุมากขึ้นความดันโลหิตจะเพิ่มสูงขึ้นเล็กน้อยแล้วอย่างไรถึงเรียกว่าเป็น “โรคความดันโลหิตสูง”

โรคความดันโลหิตสูง (Hypertension)คือ คนที่มีระดับความดันโลหิตสูงเรื้อรัง มีค่าตั้งแต่ 140/90 มิลลิเมตรปรอทขึ้นไป ปัจจุบันโรคความดันโลหิตสูงเป็นโรคที่พบได้บ่อย เนื่องจากมีความเจริญก้าวหน้าทางเศรษฐกิจและสังคม ทำให้คนไทยเกิดความเครียดมากขึ้น ส่งผลให้เกิดโรคความดันโลหิตสูงมากขึ้น ต่างกับเมื่อก่อนที่อาชีพของคนไทยส่วนใหญ่คืออาชีพเกษตรกร มีการดำรงชีวิตแบบเรียบง่าย ภาวะความกดดันในเรื่องต่างๆ มีน้อย จึงทำให้คนไทยมีทั้งสุขภาพกายและสุขภาพจิตที่ดี

ปัจจุบันพบว่าประชากรไทยที่มีอายุ 15 ปีขึ้นไป มีภาวะความดันโลหิตสูง 11.5 ล้านคน และในจำนวนผู้ที่มีความดันโลหิตสูง ร้อยละ 60 ในชาย และร้อยละ 40 ในหญิง ไม่รู้ตัวว่าเป็นความดันโลหิตสูง หรือไม่เคยได้รับการวินิจฉัยมาก่อน ทำให้ไม่ได้รับการรักษาหรือการปฏิบัติตนอย่างถูกต้องเหมาะสม จนกระทั่งเริ่มมีอาการจึงเริ่มใส่ใจที่จะรักษา ซึ่งบางครั้งอาจไม่ทันการณ์

โรคความดันโลหิตสูง เป็น 1 ในสาเหตุสำคัญของการเสียชีวิตก่อนวัยอันควร จากข้อมูลสถิติสำนักนโยบายและยุทธศาสตร์ สำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุข พบว่า ในปี 2554 มีผู้เสียชีวิตจากสาเหตุความดันโลหิตสูง เป็นจำนวน 3,664 คน และสถานการณ์ป่วยและเข้ารับการรักษาในสถานบริการสาธารณสุข ของกระทรวงสาธารณสุข ด้วยโรคความดันโลหิตสูง มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง

รู้ได้อย่างไรว่าเป็นโรคความดันโลหิตสูง

โรคความดันโลหิตสูง แบ่งออกได้ 2 ชนิด คือ (1) ชนิดมีสาเหตุ เช่น สาเหตุมาจากโรคเนื้องอกในสมอง โรคเนื้องอกที่ต่อมหมวกไต ภาวะไตวาย ภาวะครรภ์เป็นพิษ ได้รับยาหรือสารบางชนิด เป็นต้น พบได้ประมาณร้อยละ 5-10 ของผู้ป่วย (2) ชนิดไม่ทราบสาเหตุ พบได้ประมาณร้อยละ 90-95 ของผู้ป่วย ซึ่งส่วนใหญ่ตรวจพบโดยบังเอิญ

คนที่มีโอกาสเป็นโรคความดันโลหิตสูงมากกว่าคนอื่นๆ คือ คนที่มีพ่อ แม่ ญาติ พี่น้อง เป็นโรคความดันโลหิตสูง, คนอ้วนหรือมีไขมันในเลือดสูง, คนที่ป่วยเป็นโรคไตหรือเบาหวาน, คนที่ทานอาหารรสเค็มจัดเป็นประจำ, คนที่สูบบุหรี่หรือดื่มเหล้าเป็นประจำ รวมทั้งคนที่มีความเครียดอยู่เสมอ บุคคลเหล่านี้มีความเสี่ยงที่จะเป็นโรคความดันโลหิตสูง

แต่เนื่องจากเป็นโรคที่ไม่ค่อยมีอาการปรากฏที่ชัดเจนในช่วงแรก หลายคนจึงไม่รู้ตัวว่ากำลังมีภาวะนี้ โรคนี้จึงเป็นที่รู้จักกันว่า “เพชฌฆาตเงียบ” คนที่เป็นโรคความดันโลหิตสูงอาจมีอาการปวดศีรษะ ปวดมึนท้ายทอย ตึงที่ต้นคอ วิงเวียนศีรษะ อ่อนเพลีย เหนื่อยง่ายผิดปกติ ใจสั่น แน่นหน้าอก นอนไม่หลับ มีอาการสับสน มึนงง สูญเสียความทรงจำ ตามัว มือเท้าชา บางครั้งอาจมีเลือดกำเดาไหล เหล่านี้ล้วนเป็นอาการเล็กๆ น้อยๆ คนทั่วไปจึงไม่เอะใจ จึงทำให้ไม่ได้รับการรักษา คนที่ป่วยเป็นโรคความดันโลหิตสูงแล้วไม่ได้รับการรักษา อาจส่งผลต่ออวัยวะต่างๆ และทำให้เกิดอันตรายจากภาวะแทรกซ้อนดังนี้

สมอง   ทำให้เป็นโรคอัมพฤกษ์ อัมพาต เนื่องจากเส้นเลือดในสมองตีบ อุดตัน หรือแตก

หัวใจ    ทำให้เจ็บหน้าอก กล้ามเนื้อหัวใจตาย หัวใจวาย เนื่องจากหลอดเลือดหัวใจตีบ อุดตัน หรือเลือดไปเลี้ยงหัวใจไม่พอ

ไต    ทำให้ไตพิการหรือไตวาย มีอาการซีด ขาบวม เหนื่อยง่าย เนื่องจากหลอดเลือดที่ไปเลี้ยงไตเสื่อม ตีบตัน

ตา    ทำให้ตามัว ตาบอด เนื่องจากหลอดเลือดในลูกตาตีบ ตัน หรือแตก

ความดันโลหิตสูงในหญิงตั้งครรภ์    มีอันตรายทั้งแม่และเด็ก ทำให้คลอดก่อนกำหนดหรือชัก

หากความดันโลหิตสูงมีความรุนแรง    คนไข้อาจชัก หมดสติ และเสียชีวิตได้

การรักษาโรคความดันโลหิตสูง

โรคความดันโลหิตสูงสามารถรักษาด้วยการใช้ยาและไม่ใช้ยา ซึ่งแนวทางการรักษาจะแบ่งตามชนิดของโรค หากความดันโลหิตสูงเป็นชนิดไม่ทราบสาเหตุ แพทย์จะให้ปฏิบัติตัวตามคำแนะนำ ร่วมกับการให้ยาลดความดันโลหิต และตรวจวัดความดันโลหิตอย่างสม่ำเสมอ เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดโรคแทรกซ้อน หากความดันโลหิตสูงเป็นชนิดที่มีสาเหตุมาจากโรคแทรกซ้อนอื่นๆ แพทย์จะให้ยารักษาโรคที่เป็นสาเหตุ พยายามควบคุมระดับความดันโลหิตให้อยู่ในเกณฑ์ที่ปกติ และให้คนไข้ปฏิบัติตัวตามคำแนะนำของแพทย์

โรคความดันโลหิตสูงเป็นโรคเรื้อรัง การดูแลรักษาจึงต้องเป็นไปตลอดชีวิต เมื่อคุณได้รับการรักษาด้วยยาแล้ว จำเป็นจะต้องปรับเปลี่ยนพฤติกรรมร่วมด้วยเสมอ นอกจากจะสามารถลดความดันโลหิตได้แล้ว ยังสามารถควบคุมปัจจัยเสี่ยงของการเกิดหลอดเลือดตีบ และลดการใช้ยาลดความดันโลหิตลงได้ด้วย

การปรับเปลี่ยนพฤติกรรมร่วมกับการรักษาด้วยยา สามารถทำได้โดยการหยุดสูบบุหรี่ ออกกำลังกาย ควบคุมน้ำหนัก จำกัดการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ลดเกลือ ลดการรับประทานอาหารรสเค็ม อาหารที่มีไขมันอิ่มตัว เน้นรับประทานอาหารเพื่อสุขภาพ เพิ่มผักและผลไม้ ใช้ชีวิตอย่างกระฉับกระเฉง พักผ่อนให้เพียงพอ ทำจิตใจให้สดชื่นเบิกบาน ไม่เครียด

คนที่มีอายุ 35 ปีขึ้นไป ควรตรวจวัดความดันโลหิตอย่างสม่ำเสมอ และหญิงมีครรภ์ควรมีการฝากท้อง ซึ่งจะต้องได้รับการวัดความดันโลหิตทุกครั้ง เพื่อให้ค่าความดันโลหิตอยู่ในเกณฑ์ปกติ ทำให้สามารถควบคุมและลดอาการของภาวะแทรกซ้อนต่างๆ ส่งผลให้ดำเนินชีวิตได้อย่างมีความสุขมากขึ้น และยังเป็นการป้องกันการเกิดภาวะความดันโลหิตสูงได้ด้วย

ค่ารักษา

เพิ่มเติม
การรักษา ราคา(บาท)
อัตราค่ารักษาพยาบาล แพทย์ที่ทำการรักษาเป็นผู้ประเมิน สอบถามข้อมูลเพิ่มเติม โทร 1723
การรักษา
อัตราค่ารักษาพยาบาล แพทย์ที่ทำการรักษาเป็นผู้ประเมิน สอบถามข้อมูลเพิ่มเติม
โทร 1723

หัตถการของศูนย์อายุรกรรม

เกร็ดความรู้

เพิ่มเติม