chat

การครอบแก้ว เป็นอีกทางเลือกหนึ่งของการรักษาตามแนวทางแพทย์แผนจีน ช่วยกระตุ้นการไหลเวียนของโลหิต ทะลวงเส้นลมปราณ ขจัดเลือดคั่ง ลดอาการอักเสบและสลายบวม ระงับอาการเจ็บปวดได้ โดยโรคหรือภาวะที่สามารถบำบัดรักษาด้วยการครอบแก้ว ได้แก่ ไหล่ติด ไข้หวัด คออักเสบ ท้องผูก นอนไม่หลับ โรควิตกกังวลและภาวะซึมเศร้า สิว โรคกระเพาะอาหาร ปวดศีรษะ ไมเกรน อัมพาต ปวดประจำเดือน ต่อมลูกหมากโต เส้นเลือดขอด อาการปวดบริเวณต่าง ๆ อาทิ กล้ามเนื้ออักเสบ ปวดเส้น สะบักจม ปวดคอบ่าไหล่ ปวดหลัง ปวดเอว ฯลฯ ทั้งนี้การครอบแก้วไม่เหมาะสำหรับสตรีมีครรภ์ และผู้ที่มีอาการติดเชื้อบริเวณผิวหนัง ซึ่งระยะเวลาในการบำบัดรักษา ขึ้นอยู่กับอาการและดุลยพินิจของแพทย์

ก่อนทำครอบแก้ว

ก่อนทำการครอบแก้ว ควรเตรียมตัวให้พร้อมโดยการรับประทานอาหารตามปกติ ควรรับประทานอาหารมาก่อนประมาณ 1-2 ชั่วโมง และไม่ควรรับประทานอาหารอิ่มจนเกินไป หากมีโรคประจำตัวสามารถรับประทานยาได้ตามปกติ

ครอบแก้วทำอย่างไร

แพทย์สอบถามอาการผู้ป่วยและจับชีพจร (แมะ) เพื่อวินิจฉัยโรค จากนั้นแพทย์จะทำการรักษาโดยใช้แก้วสีใสปลอดเชื้อ อาศัยความร้อนไล่อากาศภายในแก้วเพื่อให้เกิดภาวะสุญญากาศ จากนั้นครอบแก้วลงบนผิวหนัง แก้วจะดูดผิวหนังและกล้ามเนื้อขึ้นมา ผิวหนังจะเริ่มเปลี่ยนสี

1. การครอบแก้วแบบครอบทิ้งไว้บนผิวหนัง เพื่อรักษาอาการปวดจากความเย็น ปวดจากร่างกายเสียสมดุล หรือปวดเฉพาะที่

2. การครอบแก้วแบบเคลื่อนไหวหรือการเดินถ้วย (โจ่วก้วน) เพื่อรักษาอาการปวดจากลมปราณติดขัด และอาการชา

3. การครอบแก้วแบบดึงเร็ว (ส่านก้วน) ใช้รักษาผู้ป่วยที่มีอาการปวดและชาที่ผิวหนัง หรือสมรรถภาพ (ทางร่างกาย) เสื่อมถอย

4.การครอบแก้วที่ประสานกับการใช้เข็มปลอดเชื้อ (ซื่อลั้วป๋าก้วน) ใช้รักษาโรคไฟลามทุ่ง ฝีหนอง รวมถึงอาการปวดเมื่อยเคล็ดขัดยอก

5.การครอบแก้วที่ใช้คู่กับการฝังเข็ม เพิ่มประสิทธิภาพการฝังเข็มและครอบแก้วควบคู่กัน



การครอบแก้วอาจทำให้เกิดผลข้างเคียงและภาวะแทรกซ้อน ได้แก่ เกิดรอยแดง ม่วง ช้ำ ซึ่งถือเป็นอาการปกติ สามารถหายได้เองภายใน 1-2 สัปดาห์

ปฏิบัติตัวอย่างไรหลังครอบแก้ว

  • หลีกเลี่ยงการดื่มน้ำเย็น ควรดื่มน้ำสะอาดที่อุณหภูมิห้องหรือน้ำอุ่นเป็นเวลา 1 วัน เพราะการดื่มน้ำอุ่นจะมีส่วนช่วยให้ร่างกายขับของเสียออกได้โดยง่าย
  • งดอาบน้ำหรือตากแอร์เย็นเป็นเวลา 2 ชั่วโมง หลังจากครอบแก้ว
  • ควรพักผ่อนหลังจากครอบแก้ว เพราะการครอบแก้วอาจทำให้ผู้ป่วยบางรายเกิดอาการอ่อนเพลียได้
  • อาการผิดปกติที่ควรโทรสอบถามหรือมาพบแพทย์ เช่น มีอาการบวม แดง แสบร้อน มากผิดปกติ ปวดรุนแรงบริเวณจุดครอบแก้วหรือมีไข้สูง
  • โดยเฉลี่ยสามารถครอบแก้วได้สัปดาห์ละ 1-2 ครั้ง หากผู้ป่วยมารับการรักษาต่อเนื่อง ร่วมกับการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมตามคำแนะนำของแพทย์ จะทำให้ผลการรักษามีประสิทธิภาพสูงขึ้น

ข้อมูลโดยพจ.ศุภชัย ชุณหสวัสดิกุล

ค่ารักษา

ครอบแก้ว (ส่วนละ) 570 บาท

ครอบแก้ว (ส่วนละ)

570 บาท