chat

การเสริมสร้างเต้านมใหม่ โดยใช้เนื้อเยื่อของตัวผู้ป่วยเอง (Autologous technique)

การเสริมสร้างเต้านมใหม่-โดยใช้เนื้อเยื่อของตัวผู้ป่วยเอง

การเสริมสร้างเต้านมใหม่ โดยใช้เนื้อเยื่อของตัวผู้ป่วยเอง (Autologous  technique)

การผ่าตัดเสริมสร้างเต้านมโดยใช้เนื้อเยื่อของตัวผู้ป่วยเองก็เป็นเทคนิคที่นิยมทำกัน วิธีนี้แพทย์จะโยกย้ายเนื้อเยื่อจากส่วนอื่นของร่างกายผู้ป่วย อาทิ เนื้อเยื่อบริเวณหน้าท้อง กล้ามเนื้อหลัง กล้ามเนื้อสะโพก กล้ามเนื้อต้นขา เป็นต้น มาปลูกถ่ายที่หน้าอกเพื่อสร้างเต้านมใหม่

การใช้เนื้อเยื่อตนเองในการเสริมสร้างเต้านม   มีข้อดีคือเนื้อเยื่อที่นำมาเสริมสร้างเต้านมไม่ว่าจะเป็นผิวหนัง ไขมัน กล้ามเนื้อ และเส้นเลือด ล้วนเป็นเนื้อเยื่อจากร่างกายมนุษย์ จึงทำให้เต้านมที่สร้างขึ้นใหม่มีความคงทนกว่า เป็นธรรมชาติมากกว่าการเสริมด้วยถุงเต้านมเทียม นอกจากนั้นผู้ป่วยยังไม่ต้องกังวลกับปัญหาที่อาจเกิดขึ้นจากการใส่ถุงเต้านมเทียม หรือผู้ป่วยที่ไม่ต้องการใส่ถุงเต้านมเทียมเข้าในร่างกาย ก็มีทางเลือกในการเสริมสร้างเต้านมใหม่มากขึ้น และพบว่าการใช้เนื้อเยื่อตนเองในการเสริมสร้างเต้านมนั้นไม่มีผลต่อการกลับเป็นซ้ำของมะเร็งเช่นกัน

ส่วนข้อด้อยของการใช้เนื้อเยื่อตนเองในการเสริมสร้างเต้านมก็คือ วิธีนี้ถือเป็นการผ่าตัดใหญ่ ใช้ระยะเวลาการผ่าตัดนาน และในระยะยาวผู้ป่วยอาจเกิดภาวะแทรกซ้อนของบริเวณที่ผ่าตัดเอาเนื้อเยื่อหรือกล้ามเนื้อออกไป

สำหรับโรงพยาบาลยันฮี มีการ ผ่าตัดเสริมสร้างเต้านม โดยใช้เนื้อเยื่อของตัวผู้ป่วยเอง โดยแพทย์จะใช้เนื้อเยื่อจาก 2 บริเวณ ดังนี้

  1. การผ่าตัดเสริมสร้างเต้านม ด้วยเนื้อเยื่อบริเวณหน้าท้อง(Transverse Rectus Abdominis Musculo-cutaneous flap หรือ TRAM flap)
  2. การผ่าตัดเสริมสร้างเต้านม ด้วยกล้ามเนื้อที่หลัง(Latissimus Dorsi หรือ LD flap)

เทคนิคการผ่าตัดเสริมสร้างเต้านมโดยใช้เนื้อเยื่อจากแต่ละบริเวณจะมีความแตกต่างกันอย่างไร จะอธิบายให้ทราบดังต่อไปนี้

การผ่าตัดเสริมสร้างเต้านม ด้วยเนื้อเยื่อบริเวณหน้าท้อง(Transverse Rectus Abdominis Musculo-cutaneous flap หรือ TRAM flap)

ปัจจุบันการผ่าตัดเสริมสร้างเต้านมด้วยเนื้อเยื่อบริเวณหน้าท้อง หรือ TRAM flap เป็นอีกหนึ่งเทคนิคที่แพทย์นิยมนำมาใช้ในการผ่าตัดเสริมสร้างเต้านม เนื่องจากเป็นวิธีที่ปลอดภัย มีผลแทรกซ้อนน้อย ระยะเวลาที่ผู้ป่วยต้องนอนพักฟื้นใน รพ. สั้นประมาณ 3-5 วัน สามารถทำผ่าตัดได้กับเต้านมทุกขนาด หรือแม้แต่ผู้ป่วยที่มีเต้านมหย่อนคล้อยมาก หลังทำผ่าตัดนอกจากจะได้เต้านมที่สวยงามเป็นธรรมชาติกลับมาแล้ว ผลพลอยได้อีกประการหนึ่งของการผ่าตัดด้วยวิธีนี้ก็คือ การตัดเนื้อเยื่อจากหน้าท้องมาเสริมแทนเต้านมจะช่วยลดเนื้อเยื่อบริเวณหน้าท้อง ทำให้หน้าท้องแบนราบขึ้น

การเสริมสร้างเต้านมด้วยเนื้อเยื่อบริเวณหน้าท้อง หรือ TRAM flap มีเทคนิคการทำอยู่ 2 อย่าง คือ

  1. Pedicle TRAM flap

เทคนิคการผ่าตัดด้วยวิธีนี้คือ แพทย์จะผ่าตัดเลาะผิวหนัง ไขมัน กล้ามเนื้อหน้าท้อง และขั้วหลอดเลือด ส่วนที่อยู่ใต้สะดือไปถึงบริเวณหัวเหน่า แล้วโยกเนื้อเยื่อทั้งหมดผ่านช่องใต้ผิวหนังขึ้นมาไว้ที่หน้าอกตรงตำแหน่งที่ผ่าตัดเอาเต้านมออกไป  จากนั้นจะผ่าตัดตกแต่งให้เป็นรูปทรงของเต้านมให้สวยงามและสมบูรณ์มากที่สุด วิธีนี้เป็นการผ่าตัดที่มีความปลอดภัย ส่วนข้อด้อยของวิธีนี้ก็คือ ผู้ป่วยจะสูญเสียบางส่วนของกล้ามเนื้อหน้าท้องไป ทำให้อาจเกิดผลกระทบในระยะยาวได้ เช่น เกิดภาวะไส้เลื่อนได้ง่าย นอกจากนั้นยังมีโอกาสเสี่ยงที่เนื้อเยื่อที่นำมาปลูกถ่ายจะเกิดเป็นเนื้อตายได้

  1. Free DIEP flap (Free deep inferior epigastric artery perforator flap)

เทคนิคการผ่าตัดด้วยวิธีนี้คือ แพทย์จะผ่าตัดเลาะเฉพาะส่วนที่เป็นผิวหนังบริเวณหน้าท้อง เนื้อเยื่อไขมัน โดยหลีกเลี่ยงการตัดกล้ามเนื้อหน้าท้อง แล้วย้ายขึ้นมาไว้ที่หน้าอกตรงตำแหน่งที่ผ่าตัดเอาเต้านมออกไป โดยแพทย์จะใช้เทคนิคทางจุลศัลยกรรมในการต่อเส้นเลือดที่มาเลี้ยงส่วนหน้าอก จึงใช้เวลาในการทำนานกว่าวิธี Pedicle TRAM flap สำหรับข้อดีของการผ่าตัดด้วยวิธีนี้คือ ผู้ป่วยไม่ต้องสูญเสียส่วนของกล้ามเนื้อหน้าท้อง ลดผลกระทบด้านการสูญเสียกล้ามเนื้อในระยะยาวได้ ส่วนข้อด้อยก็คือ การผ่าตัดด้วยวิธีนี้ต้องใช้จุลศัลยกรรมเข้ามาช่วยในการปลูกถ่ายเนื้อเยื่อจึงต้องอาศัยความชำนาญพิเศษของศัลยแพทย์ จึงอาจเป็นข้อจำกัดในสถานพยาบาลที่ยังไม่มีแพทย์หรืออุปกรณ์ที่พร้อมเพียงพอ  นอกจากนั้นวิธีนี้ยังใช้เวลาในการผ่าตัดนานกว่าวิธีอื่น

ภายหลังการผ่าตัดเสริมสร้างเต้านมด้วยการใช้เนื้อเยื่อบริเวณหน้าท้อง ผู้ป่วยจะมีแผลผ่าตัดบริเวณเต้านมข้างที่ทำผ่าตัดและแผลผ่าตัดบริเวณหน้าท้องส่วนล่างสุดตามแนวขอบกางเกงใน ซึ่งจะสามารถซ่อนรอยแผลเป็นตามแนวพับของหน้าท้องได้ หลังผ่าตัดประมาณ 2 – 3 วัน ผู้ป่วยสามารถลุกนั่งบนเตียงและลุกเดินได้ โดยทั่วไป ผู้ป่วยจะนอนพักรักษาตัวในโรงพยาบาลภายหลังผ่าตัดประมาณ 7-10 วัน และจำหน่ายกลับบ้านพร้อมท่อระบายน้ำเหลือง ก็ไม่ต้องกังวลใจ แพทย์จะนัดมาติดตามผลการรักษาหลังจากนั้นประมาณ 1 สัปดาห์ ส่วนท่อระบายน้ำเหลืองจะคาไว้ประมาณ 10-14 วัน จึงจะสามารถถอดออกได้

สำหรับผลของการผ่าตัดในระยะยาว ผู้ป่วยจะได้เต้านมใหม่ที่คล้ายเต้านมจริงมากที่สุด ไม่ว่าจะเป็นในด้านรูปทรง ลักษณะเนื้อเต้านม และความรู้สึกเมื่อสัมผัส ทำให้ผู้ป่วยมีความพึงพอใจและช่วยสร้างความมั่นใจในความเป็นเพศหญิงมากขึ้น

การผ่าตัดเสริมสร้างเต้านม ด้วยกล้ามเนื้อที่หลัง (Latissimus Dorsi หรือ LD flap)

การผ่าตัดเสริมสร้างเต้านมโดยใช้กล้ามเนื้อที่หลัง หรือ LD flap เป็นอีกหนึ่งวิธีที่นิยมทำมากขึ้นในปัจจุบัน เนื่องจากมีความปลอดภัย มีผลแทรกซ้อนน้อย ระยะพักฟื้นสั้น เหมาะสำหรับผู้ป่วยที่มีเต้านมขนาดเล็ก เต้านมหย่อนคล้อยไม่มาก หรือใช้ผ่าตัดเสริมเพื่อแก้ไขในผู้ป่วยที่เคยผ่าตัดเสริมเต้านมด้วยวิธีอื่นมาก่อน ผู้ป่วยบางคนที่มีรอยแผลเป็นบริเวณหน้าท้องทำให้ไม่สามารถใช้เนื้อเยื่อบริเวณหน้าท้อง หรือ TRAM flap มาเสริมสร้างเต้านมได้ ก็จะเลี่ยงไปใช้กล้ามเนื้อที่หลังแทนได้

สำหรับข้อดีของการใช้กล้ามเนื้อที่หลังมาเสริมสร้างเต้านมก็คือ  กล้ามเนื้อหลังอยู่ใกล้หน้าอกจึงง่ายต่อการโยกย้ายมาสร้างเป็นเต้านมใหม่ และยังมีเลือดมาหล่อเลี้ยงดีกว่าจึงสมานตัวได้เร็วจึงใช้เวลาพักฟื้นเพียง 5 – 7 วัน เท่านั้น

ส่วนข้อเสียของการผ่าตัดด้วยวิธีนี้คือ ความแข็งแรงของกล้ามเนื้อในการเหยียดหัวไหล่จะลดลง อย่างคนที่ต้องใช้กล้ามเนื้อหนัก ๆ  เช่น นักกีฬา หรือผู้ที่ประกอบอาชีพบางอย่างที่ต้องใช้กล้ามเนื้อหัวไหล่ หลังการผ่าตัดอาจไม่สามารถใช้งานได้เต็มที่เหมือนเดิม นอกจากนั้นกล้ามเนื้อที่หลังจะมีความหนาน้อยมาก ทำให้ปริมาณกล้ามเนื้อโดยรวมที่จะนำมาสร้างเป็นเต้านมใหม่มีไม่มาก จึงเหมาะสำหรับผู้ที่มีเต้านมขนาดเล็ก

เทคนิคการผ่าตัดเสริมสร้างเต้านม ด้วยกล้ามเนื้อที่หลัง

แพทย์จะทำการเลาะกล้ามเนื้อที่หลัง รวมทั้งผิวหนัง เนื้อเยื่อใต้ผิวหนัง  และชั้นไขมัน หลังจากนั้นแพทย์จะโยกกล้ามเนื้อที่หลังผ่านช่องมาทางใต้รักแร้ แล้วนำมาตกแต่งเสริมสร้างเป็นเต้านมใหม่

ภายหลังผ่าตัดเสริมสร้างเต้านมด้วยกล้ามเนื้อที่หลัง ผู้ป่วยจะมีแผลผ่าตัดบริเวณเต้านมข้างที่ทำผ่าตัด และแผลผ่าตัดที่หลังข้างเดียวกับที่ทำผ่าตัดเสริมสร้างเต้านม หลังผ่าตัดประมาณ 2-3 วัน ผู้ป่วยก็สามารถลุกนั่งบนเตียงและลุกเดินได้ โดยทั่วไปผู้ป่วยจะนอนพักรักษาตัวในโรงพยาบาลประมาณ 5-7 วัน และจำหน่ายกลับบ้านพร้อมท่อระบายน้ำเหลือง แพทย์จะนัดมาติดตามผลการรักษาหลังจากนั้นประมาณ 1 สัปดาห์ ส่วนท่อระบายน้ำเหลืองจะคาไว้ประมาณ 10-14 วัน จึงจะสามารถถอดออกได้

ส่วนภาวะแทรกซ้อนหลังทำที่พบได้คือ มีน้ำเหลืองคั่งบริเวณแผลผ่าตัด และแขนข้างที่ทำผ่าตัด และในระยะยาวผู้ป่วยต้องระวังการเกิดภาวะข้อไหล่ติดของแขนข้างที่ทำผ่าตัด เนื่องจากเกิดพังผืดของแผลบริเวณใต้รักแร้ ทำให้มีการเคลื่อนไหวแขนและข้อไหล่น้อยลง ผู้ป่วยควรบริหารแขนและข้อไหล่ข้างที่ทำผ่าตัดเป็นระยะๆ อย่างสม่ำเสมอ โดยหลังผ่าตัด 3-5 วัน ให้เหยียดแขนและกำมือแบมือเป็นระยะ หลังจากนั้นให้เริ่มท่าอื่นๆ โดยเริ่มจากท่าง่ายๆ ก่อน เช่น ท่าก้มแกว่งแขน ท่าไต่ผนัง เป็นต้น ควรบริหารอย่างต่อเนื่องวันละ 2 ครั้งประมาณ 6 เดือน

สำหรับผลของการผ่าตัดในระยะยาวก็เช่นเดียวกับการผ่าตัดโดยใช้เนื้อเยื่อบริเวณหน้าท้อง คือ ผู้ป่วยจะได้เต้านมใหม่ที่คล้ายเต้านมจริงมากที่สุด ไม่ว่าจะเป็นในด้านรูปทรง ลักษณะเนื้อเต้านม และความรู้สึกเมื่อสัมผัส ทำให้ผู้ป่วยมีความพึงพอใจและช่วยสร้างความมั่นใจในความเป็นเพศหญิงมากขึ้น

เสริมเต้านมไปพร้อมกับการตัดเต้านมได้หรือไม่
สามารถทำได้ แต่ต้องเป็นมะเร็งเต้านมในระยะแรก เนื้อเยื่อเต้านมต้องไม่ได้รับความเสียหายจากการฉายแสงหรือมีบาดแผล และมีขนาดเต้านมที่เหมาะสม ข้อดีของการเสริมพร้อมกับการตัดคือ จะทำผ่าตัดแค่ครั้งเดียว แผลผ่าตัดจะเป็นแผลเดียวกับที่ผ่าตัดมะเร็ง แพทย์สามารถกำหนดบริเวณผิวหนังที่จะผ่าออก รอยแผลเป็น และสามารถรักษาโครงสร้างสำคัญไว้ได้ อาทิ ผิวหนังบริเวณเต้านม, หัวนม, ลานหัวนม นอกจากนั้นการผ่าตัดเสริมเต้านมพร้อมกับการผ่าตัดมะเร็งเต้านมยังไม่ส่งผลต่อการเกิดซ้ำของมะเร็งเต้านม
—————————————————-
ตัดเต้านมนานแล้ว สามารถเสริมสร้างเต้านมได้หรือไม่
สามารถทำได้ ไม่ว่าจะตัดเต้านมไปนานแค่ไหนก็ตาม หากท่านมีความพร้อมและความต้องการที่จะเสริมสร้างเต้านมก็มาปรึกษาแพทย์ได้ ส่วนผู้ป่วยมะเร็งเต้านมที่เพิ่งตัดเต้านมออกไป ควรรักษามะเร็งเต้านม เช่น รังสีรักษา, เคมีบำบัด ให้เรียบร้อยก่อน จึงค่อยมาเสริมเต้านม ซึ่งมักทิ้งเวลาห่างจากตัดเต้านมไปแล้วประมาณ 1-2 ปี
—————————————————-
เสริมแล้วเต้านมทั้งสองข้างจะเท่ากันหรือไม่
ในการเสริมเต้านมแพทย์จะพยายามเสริมให้เต้านมสองข้างมีขนาดใกล้เคียงกันมากที่สุด
—————————————————-
เต้านมข้างที่เหลืออยู่มีขนาดใหญ่ จะเสริมอีกข้างให้ขนาดใกล้เคียงกันได้หรือไม่
สามารถทำได้ โดยแพทย์จะเลือกวิธีการผ่าตัดที่เหมาะสมที่จะช่วยสร้างเต้านมใหม่ให้ได้ขนาดใกล้เคียงกับเต้านมอีกข้างมากที่สุด และจะอธิบายถึงขั้นตอนการทำให้ทราบอย่างละเอียด
—————————————————-
เสริมแล้วมีโอกาสกลับมาเป็นมะเร็งอีกหรือไม่
หากท่านได้รับการรักษาหลังผ่าตัดก้อนมะเร็งออกแล้ว อาทิ รักษาด้วยยาเคมีบำบัด, การฉายแสง ครบถ้วนตามมาตรฐานการรักษาแล้ว การผ่าตัดเสริมสร้างเต้านมไม่พบว่ามีผลกระทบต่อการดำเนินของโรค, การหายจากการเป็นมะเร็ง รวมถึงการเกิดมะเร็งเต้านมซ้ำ อย่างไรก็ตาม หลังเสริมเต้านมใหม่ท่านควรเข้ารับการตรวจเช็คเป็นระยะอย่างสม่ำเสมอตามแพทย์นัด ส่วนเต้านมข้างที่ยังปกติควรตรวจแมมโมแกรมและตรวจอัลตราซาวนด์เป็นประจำ เพื่อค้นหาความผิดปกติที่อาจเกิดขึ้นใหม่
—————————————————-
การผ่าตัดเสริมสร้างเต้านม ต้องปลอดจากมะเร็งเต้านมนานเท่าไหร่
หลังผ่าตัดเต้านมที่เป็นมะเร็งออกไปแล้ว อาจต้องรักษาให้ครบถ้วนตามมาตรฐานเพื่อให้แน่ใจว่าปลอดจากมะเร็งแล้ว ซึ่งผู้มารับบริการอาจต้องเลื่อนเวลาในการเสริมสร้างเต้านมออกไปก่อนประมาณ 1-2 ปี แต่ถ้าผ่าตัดเต้านมมานานแล้ว ไม่ว่าจะนานแค่ไหนก็ตาม หากมีความพร้อมและความต้องการที่จะผ่าตัดเสริมสร้างเต้านมก็สามารถทำได้เลย
เสริมสร้างเต้านมใหม่แล้วจะทำหัวนมให้ด้วยหรือไม่
ในการผ่าตัดเสริมสร้างเต้านมใหม่ แพทย์จะทำการสร้างเต้าขึ้นมาก่อน หลังจากนั้นประมาณ 3-4 เดือน จึงจะสร้างในส่วนของหัวนมและลานหัวนม สำหรับการทำลานหัวนมจะใช้วิธีการสักสีเพื่อให้ได้สีใกล้เคียงธรรมชาติ
—————————————————-
ต้องพักฟื้นใน รพ.นานแค่ไหน
การผ่าตัดเสริมสร้างเต้านมมีหลายวิธี แต่ละวิธีอาจใช้เวลาพักฟื้นใน รพ. ไม่เท่ากัน แพทย์จะเป็นผู้แจ้งให้ทราบว่าจะต้องใช้เวลาในการพักฟื้นใน รพ. นานเท่าใด
—————————————————-

ค่ารักษา

เพิ่มเติม
การรักษา ราคา(บาท)
อัตราค่ารักษาพยาบาล แพทย์ที่ทำการรักษาเป็นผู้ประเมิน สอบถามข้อมูลเพิ่มเติม โทร 1723
การรักษา
อัตราค่ารักษาพยาบาล แพทย์ที่ทำการรักษาเป็นผู้ประเมิน สอบถามข้อมูลเพิ่มเติม
โทร 1723

แพทย์ประจำศูนย์เสริมสร้างเต้านม

เพิ่มเติม

เกร็ดความรู้

เพิ่มเติม