chat

การเสริมสร้างเต้านมใหม่ โดยใช้ถุงเต้านมเทียม (Tissue Expander – Prosthesis technique)

การเสริมสร้างเต้านมใหม่-โดยใช้ถุงเต้านมเทียม

การเสริมสร้างเต้านมใหม่ โดยใช้ถุงเต้านมเทียม (Tissue Expander – Prosthesis technique)

การ ผ่าตัดเสริมสร้างเต้านม โดยการเสริมด้วยถุงเต้านมเทียม เป็นการผ่าตัดที่ได้รับความนิยมมากขึ้น เป็นการผ่าตัดที่มีความปลอดภัย กระบวนการผ่าตัดไม่ยุ่งยาก ใช้เวลาพักฟื้นน้อย ผู้ป่วยสามารถเปลี่ยนหรือเลือกขนาดรูปทรงของถุงเต้านมเทียมให้เหมาะสมกับความต้องการได้

ในปัจจุบันเทคโนโลยีในการผลิตถุงเต้านมเทียมมีความก้าวหน้าไปมาก นอกจากจะมีความปลอดภัยสูง ไม่ก่อปฏิกิริยากับเนื้อเยื่อในร่างกายของมนุษย์แล้ว ยังพบว่าไม่มีผลต่อการเกิดเป็นซ้ำของมะเร็ง ในส่วนของรูปทรงของถุงเต้านมเทียมก็ได้มีการพัฒนาเพิ่มขึ้น นอกจากถุงเต้านมเทียมรูปทรงกลมก็ยังมีรูปทรงหยดน้ำที่ช่วยให้เต้านมที่เสริมสร้างใหม่ดูสวยงามเป็นธรรมชาติมากขึ้น

การผ่าตัดเสริมสร้างเต้านมโดยใช้ถุงเต้านมเทียมต้องมีการเลือกผู้ป่วยที่เหมาะสมจึงจะให้ผลลัพธ์ที่ดี แพทย์จะพิจารณาความเหมาะสมของผู้ป่วยเป็นราย ๆ ไป

สำหรับเทคนิคในการผ่าตัดเสริมสร้างเต้านมโดยใช้ถุงเต้านมเทียม มีด้วยกัน  3 แบบ ได้แก่

  1. การเสริมด้วยถุงเต้านมเทียมแบบถาวรในขั้นตอนเดียว (direct to implant)
  2. การเสริมด้วยถุงเต้านมเทียมแบบสองขั้นตอน (expander – implant substitution)
  3. การเสริมด้วยถุงเต้านมเทียมแบบผสม (Becker’s implant)

เทคนิคการผ่าตัดเสริมเต้านมโดยใช้ถุงเต้านมเทียมแต่ละแบบจะมีความแตกต่างกันอย่างไร จะอธิบายให้ทราบดังต่อไปนี้

การเสริมด้วยถุงเต้านมเทียมแบบถาวรในขั้นตอนเดียว (direct to implant)

เป็นการใช้ถุงเต้านมเทียมแบบสำเร็จรูป ซึ่งถูกออกแบบมาสำหรับการใส่อย่างถาวร มีความคงรูปมาก และสามารถอยู่ได้นานอย่างปลอดภัยในตัวผู้ป่วย โดยจะใส่เข้าไปแทนที่เนื้อเยื่อเต้านมที่ถูกตัดออกไป เหมาะสำหรับผู้ป่วยที่มีเต้านมขนาดเล็ก และมีช่องกล้ามเนื้อที่กว้างเพียงพอในการบรรจุถุงเต้านมเทียม

สำหรับรูปทรงของถุงเต้านมเทียมที่นิยมใช้มี 2 แบบ คือ

  1. รูปทรงกลม
  2. รูปทรงหยดน้ำ

แพทย์จะเลือกถุงเต้านมเทียมรูปทรงใดจะพิจารณาให้เหมาะสมกับผู้ป่วยแต่ละราย โดยแพทย์จะพิจารณาเลือกถุงเต้านมเทียมให้ใกล้เคียงกับขนาดเต้านมเดิมของผู้ป่วยมากที่สุด เมื่อนำถุงเต้านมเทียมไปใส่แทนเต้านมที่ตัดออกไปก็จะทำให้ได้เต้านมที่เสริมสร้างใหม่มีรูปทรงและขนาดใกล้เคียงเต้านมเดิม

แม้ว่าถุงเต้านมเทียมรูปทรงหยดน้ำเมื่อนำมาเสริมสร้างเต้านมจะให้ความเป็นธรรมชาติและสวยงามกว่าทรงกลม แต่ก็อาจจะไม่เหมาะกับผู้ป่วยบางราย ซึ่งแพทย์และผู้ป่วยอาจจะต้องร่วมกันพิจารณาเลือกรูปทรงของถุงเต้านมเทียมที่เหมาะสมกับสภาพของเต้านมตนเอง

การเสริมด้วยถุงเต้านมเทียมแบบสองขั้นตอน (expander – implant substitution)

การผ่าตัดเสริมสร้างเต้านมด้วยถุงเต้านมเทียมแบบสองขั้นตอน เหมาะสำหรับผู้ป่วยที่มีผิวหนังหรือเนื้อบริเวณเต้านมน้อย ซึ่งถ้าผ่าตัดเสริมถุงเต้านมเทียมแบบขั้นตอนเดียวจะทำให้ผิวเต้านมตึงมากเกินไป จึงต้องทำการถ่างขยายผิวหนังเต้านมก่อน วิธีนี้เหมาะกับผู้ป่วยเต้านมขนาดเล็กถึงปานกลาง โดยการผ่าตัดจะแบ่งเป็น 2 ขั้นตอน ดังนี้

ขั้นตอนแรก การใส่ตัวถ่างขยายผิวหนัง (Tissue Expander) หรือถุงเต้านมชั่วคราว ไว้ในช่องใต้กล้ามเนื้อ ซึ่งตัวถ่างขยายผิวหนังหรือถุงเต้านมชั่วคราวนี้จะมีลักษณะเป็นถุง ภายนอกจะเป็นซิลิโคน มีช่องภายในให้ค่อย ๆ ใส่น้ำเกลือเข้าไปเพื่อยืดขยายผิวหนังและเนื้อเยื่อบริเวณเต้านม โดยแพทย์จะฉีดน้ำเกลือเข้าไปในตัวถ่างขยายผิวหนังเป็นระยะ ๆ เพื่อขยายขนาดตัวถ่างขยายผิวหนังจนได้ขนาดตามต้องการตามที่ได้วางแผนไว้ก่อนแล้ว

ขั้นตอนที่สอง การผ่าตัดเอาตัวถ่างขยายผิวหนังออกแล้วใส่ถุงเต้านมเทียมซิลิโคนตัวจริงเข้าไปแทนที่  ผู้ป่วยก็จะได้เต้านมใหม่อย่างที่ต้องการ

ข้อดีของการเสริมเต้านมด้วยถุงเต้านมเทียมแบบสองขั้นตอน คือ

  • สามารถขยายขนาดของเต้านมได้ตามความพึงพอใจ
  • สามารถเพิ่มพื้นที่ผิวของเต้านมทำให้เต้านมมีขนาดและรูปร่างสวยงามดูเป็นธรรมชาติมากขึ้น
  • การถ่างขยายผิวหนังเป็นวิธีการที่ค่อย ๆ เพิ่มปริมาตรของเต้านมทีละน้อยในช่วงเวลาหลายเดือน โดยปกติจะประมาณ 3 – 6 เดือน

ส่วนข้อด้อยของการผ่าตัดวิธีนี้ก็คือ ผู้ป่วยต้องทำการผ่าตัดสองครั้ง และต้องมาฉีดน้ำเกลือเพิ่มขยายขนาดเป็นระยะๆ

การเสริมด้วยถุงเต้านมเทียมแบบผสม (Becker’s implant)

ถุงเต้านมเทียมแบบผสม หรือ Becker’s implant เป็นถุงเต้านมเทียมที่ได้รับการพัฒนาขึ้นมาโดยรวมเอาตัวถ่างขยายผิวหนัง (Tissue Expander) กับถุงเต้านมเทียมแบบถาวรเข้าไว้ด้วยกัน นั่นคือ ส่วนภายนอกของถุงเต้านมเทียมแบบผสม จะเป็นซิลิโคนชนิดหนาแน่น และมีโพรงข้างในให้บรรจุน้ำเกลือได้ ซึ่งในช่วงแรกเมื่อแพทย์ใส่ถุงเต้านมชนิดนี้เข้าไว้ในช่องใต้กล้ามเนื้อแล้ว จะค่อย ๆ ใส่น้ำเกลือเข้าไปทีละน้อยซึ่งถุงเต้านมชนิดนี้จะทำหน้าที่เป็นตัวถ่างขยายผิวหนัง จนเมื่อขยายขนาดได้ตามความต้องการแล้ว แพทย์จะนำเอาท่อสำหรับฉีดน้ำเกลือออกโดยใช้แค่ยาชาเฉพาะที่ ถุงเต้านมชนิดนี้ก็จะเปลี่ยนหน้าที่จากตัวถ่างขยายผิวหนังไปเป็นถุงเต้านมเทียมถาวรต่อไป ผู้ป่วยจึงไม่ต้องผ่าตัดอีกครั้งเพื่อเปลี่ยนมาใส่ถุงเต้านมเทียมถาวร
ข้อดีของการเสริมเต้านมด้วยถุงเต้านมเทียมแบบผสม หรือ Becker’s implant ก็คือ

  • ทำการผ่าตัดเพียงครั้งเดียว
  • สามารถขยายขนาดของเต้านมได้ตามความพึงพอใจ

ภายหลังการเสริมเต้านมด้วยถุงเต้านมเทียมไม่ว่าด้วยวิธีใด ภาวะแทรกซ้อนในระยะแรกที่อาจพบได้ อาทิ มีเลือดออก การติดเชื้อ อย่างไรก็ตาม ภาวะเหล่านี้สามารถป้องกันและแก้ไขได้ ส่วนการแตกทะลุของแผลผ่าตัดแทบไม่มีถ้าผิวหนังบริเวณเต้านมมีคุณภาพดี ผู้ป่วยไม่เคยได้รับการฉายแสงมาก่อน

ส่วนภาวะแทรกซ้อนที่มีโอกาสเกิดขึ้นได้ในระยะยาว ได้แก่ อาจเกิดริ้วที่ผิดปกติบริเวณผิวหนังเต้านม เนื่องจากผิวหนังบริเวณเต้านมอาจมีความบาง หรืออาจเกิดการหดดึงรั้งของแคปซูลที่เกิดจากถุงเต้านมเทียมในกรณีผู้ป่วยที่อาจต้องฉายรังสีรักษาในอนาคต อย่างไรก็ตามปัญหาเหล่านี้สามารถแก้ไขด้วยการฉีดไขมันเพิ่มความหนาของเนื้อและผิวหนัง

—————————————————-

เสริมเต้านมไปพร้อมกับการตัดเต้านมได้หรือไม่
สามารถทำได้ แต่ต้องเป็นมะเร็งเต้านมในระยะแรก เนื้อเยื่อเต้านมต้องไม่ได้รับความเสียหายจากการฉายแสงหรือมีบาดแผล และมีขนาดเต้านมที่เหมาะสม ข้อดีของการเสริมพร้อมกับการตัดคือ จะทำผ่าตัดแค่ครั้งเดียว แผลผ่าตัดจะเป็นแผลเดียวกับที่ผ่าตัดมะเร็ง แพทย์สามารถกำหนดบริเวณผิวหนังที่จะผ่าออก รอยแผลเป็น และสามารถรักษาโครงสร้างสำคัญไว้ได้ อาทิ ผิวหนังบริเวณเต้านม, หัวนม, ลานหัวนม นอกจากนั้นการผ่าตัดเสริมเต้านมพร้อมกับการผ่าตัดมะเร็งเต้านมยังไม่ส่งผลต่อการเกิดซ้ำของมะเร็งเต้านม
—————————————————-
ตัดเต้านมนานแล้ว สามารถเสริมสร้างเต้านมได้หรือไม่
สามารถทำได้ ไม่ว่าจะตัดเต้านมไปนานแค่ไหนก็ตาม หากท่านมีความพร้อมและความต้องการที่จะเสริมสร้างเต้านมก็มาปรึกษาแพทย์ได้ ส่วนผู้ป่วยมะเร็งเต้านมที่เพิ่งตัดเต้านมออกไป ควรรักษามะเร็งเต้านม เช่น รังสีรักษา, เคมีบำบัด ให้เรียบร้อยก่อน จึงค่อยมาเสริมเต้านม ซึ่งมักทิ้งเวลาห่างจากตัดเต้านมไปแล้วประมาณ 1-2 ปี
—————————————————-
เสริมแล้วเต้านมทั้งสองข้างจะเท่ากันหรือไม่
ในการเสริมเต้านมแพทย์จะพยายามเสริมให้เต้านมสองข้างมีขนาดใกล้เคียงกันมากที่สุด
—————————————————-
เต้านมข้างที่เหลืออยู่มีขนาดใหญ่ จะเสริมอีกข้างให้ขนาดใกล้เคียงกันได้หรือไม่
สามารถทำได้ โดยแพทย์จะเลือกวิธีการผ่าตัดที่เหมาะสมที่จะช่วยสร้างเต้านมใหม่ให้ได้ขนาดใกล้เคียงกับเต้านมอีกข้างมากที่สุด และจะอธิบายถึงขั้นตอนการทำให้ทราบอย่างละเอียด
—————————————————-
เสริมแล้วมีโอกาสกลับมาเป็นมะเร็งอีกหรือไม่
หากท่านได้รับการรักษาหลังผ่าตัดก้อนมะเร็งออกแล้ว อาทิ รักษาด้วยยาเคมีบำบัด, การฉายแสง ครบถ้วนตามมาตรฐานการรักษาแล้ว การผ่าตัดเสริมสร้างเต้านมไม่พบว่ามีผลกระทบต่อการดำเนินของโรค, การหายจากการเป็นมะเร็ง รวมถึงการเกิดมะเร็งเต้านมซ้ำ อย่างไรก็ตาม หลังเสริมเต้านมใหม่ท่านควรเข้ารับการตรวจเช็คเป็นระยะอย่างสม่ำเสมอตามแพทย์นัด ส่วนเต้านมข้างที่ยังปกติควรตรวจแมมโมแกรมและตรวจอัลตราซาวนด์เป็นประจำ เพื่อค้นหาความผิดปกติที่อาจเกิดขึ้นใหม่
—————————————————-
การผ่าตัดเสริมสร้างเต้านม ต้องปลอดจากมะเร็งเต้านมนานเท่าไหร่
หลังผ่าตัดเต้านมที่เป็นมะเร็งออกไปแล้ว อาจต้องรักษาให้ครบถ้วนตามมาตรฐานเพื่อให้แน่ใจว่าปลอดจากมะเร็งแล้ว ซึ่งผู้มารับบริการอาจต้องเลื่อนเวลาในการเสริมสร้างเต้านมออกไปก่อนประมาณ 1-2 ปี แต่ถ้าผ่าตัดเต้านมมานานแล้ว ไม่ว่าจะนานแค่ไหนก็ตาม หากมีความพร้อมและความต้องการที่จะผ่าตัดเสริมสร้างเต้านมก็สามารถทำได้เลย
เสริมสร้างเต้านมใหม่แล้วจะทำหัวนมให้ด้วยหรือไม่
ในการผ่าตัดเสริมสร้างเต้านมใหม่ แพทย์จะทำการสร้างเต้าขึ้นมาก่อน หลังจากนั้นประมาณ 3-4 เดือน จึงจะสร้างในส่วนของหัวนมและลานหัวนม สำหรับการทำลานหัวนมจะใช้วิธีการสักสีเพื่อให้ได้สีใกล้เคียงธรรมชาติ
—————————————————-
ต้องพักฟื้นใน รพ.นานแค่ไหน
การผ่าตัดเสริมสร้างเต้านมมีหลายวิธี แต่ละวิธีอาจใช้เวลาพักฟื้นใน รพ. ไม่เท่ากัน แพทย์จะเป็นผู้แจ้งให้ทราบว่าจะต้องใช้เวลาในการพักฟื้นใน รพ. นานเท่าใด
—————————————————-

ค่ารักษา

เพิ่มเติม
การรักษา ราคา(บาท)
อัตราค่ารักษาพยาบาล แพทย์ที่ทำการรักษาเป็นผู้ประเมิน สอบถามข้อมูลเพิ่มเติม โทร 1723
การรักษา
อัตราค่ารักษาพยาบาล แพทย์ที่ทำการรักษาเป็นผู้ประเมิน สอบถามข้อมูลเพิ่มเติม
โทร 1723

แพทย์ประจำศูนย์เสริมสร้างเต้านม

เพิ่มเติม

เกร็ดความรู้

เพิ่มเติม