chat

การเสริมสร้างเต้านมใหม่ โดยการฉีดเสริมด้วยไขมัน (Lipofilling)

การเสริมสร้างเต้านมใหม่-โดยการฉีดเสริมด้วยไขมัน

การเสริมสร้างเต้านมใหม่ โดยการฉีดเสริมด้วยไขมัน (Lipofilling)

การเสริมสร้างเต้านมใหม่โดยการฉีดเสริมด้วยไขมัน เป็นการนำเอาไขมันในร่างกายของผู้ป่วยเอง เช่น บริเวณหน้าท้อง ต้นขา เป็นต้น มาฉีดเสริมเพื่อสร้างเต้านมใหม่ ถือเป็นเทคนิคที่ทำได้ง่าย และได้ผลดี สามารถปรับแต่งเต้านมให้ได้รูปสวยดูเป็นธรรมชาติ โดยเฉพาะในผู้ป่วยที่มีเต้านมเล็กถึงปานกลาง หรือในผู้ป่วยที่เคยได้รับรังสีรักษาบริเวณทรวงอกและมีเนื้อเยื่อหรือผิวหนังถูกทำลายจากการฉายแสง การเสริมสร้างเต้านมใหม่โดยการฉีดเสริมด้วยไขมันจะช่วยฟื้นฟูผิวหนังบริเวณเต้านมให้ดีขึ้นได้ ผลพลอยได้อีกประการของเทคนิคนี้ก็คือ การดูดไขมันออกไปจะช่วยลดไขมันไม่พึงประสงค์ในตำแหน่งที่มักสร้างปัญหาให้กับคุณผู้หญิง ทำให้คุณผู้หญิงมีรูปร่างสัดส่วนสวยงามขึ้น

โดยทั่วไป การเสริมสร้างเต้านมใหม่ โดยการฉีดเสริมด้วยไขมัน จะทำภายใต้การดมยาสลบ โดยแบ่งเป็น 2 ขั้นตอน ดังนี้

  1. ขั้นตอนการดูดไขมัน
  2. ขั้นตอนการฉีดเสริมไขมันเพื่อสร้างเต้านม

ขั้นตอนการดูดไขมัน

แพทย์จะทำการดูดเก็บไขมันที่จะนำมาใช้ฉีด โดยตำแหน่งที่เหมาะสมในการดูดคือ บริเวณหน้าท้อง สะโพก บั้นเอว และต้นขา เพราะนอกจากจะมีปริมาณไขมันมากแล้ว ยังเป็นตำแหน่งที่ทำได้สะดวก ผู้ป่วยไม่ต้องเปลี่ยนท่าในขณะทำผ่าตัด

ส่วนขั้นตอนในการดูดไขมัน เริ่มจากแพทย์จะฉีดสารละลายผสมยาชาที่ช่วยให้การดูดไขมันทำได้ง่ายขึ้น ลดการเสียเลือดระหว่างทำ และยังช่วยลดความเจ็บปวดหลังการทำในบริเวณที่จะดูดเก็บไขมัน จากนั้นแพทย์จะเปิดแผลขนาดเล็กประมาณ 2 – 3 มม. ตรงตำแหน่งที่แทงเข็มฉีดยาแล้วสอดหัวดูดเข้าไปดูดไขมันออกมา ซึ่งแพทย์จะระมัดระวังไม่ดูดที่ตำแหน่งหนึ่งตำแหน่งใดมากจนเกินไป เพื่อป้องกันการเกิดผิวไม่เรียบสม่ำเสมอบริเวณที่ดูดไขมันในภายหลัง

เมื่อดูดไขมันจนได้ปริมาณตามที่ต้องการแล้ว จะเย็บปิดแผลด้วยไหมละลาย และกดปิดแผลตรงตำแหน่งที่ดูดไขมันให้แน่นเพื่อลดอาการบวม จากนั้นแพทย์จะนำไขมันที่ได้ไปจัดเตรียมให้อยู่ในสภาพที่เหมาะจะนำมาใช้ฉีดเสริมสร้างเต้านมต่อไป

สำหรับปริมาณไขมันว่าจะดูดออกมามากน้อยแค่ไหนนั้น แพทย์จะประเมินตั้งแต่ก่อนผ่าตัดจากขนาดของเต้านมที่จะสร้างขึ้นใหม่ และจะบวกเพิ่มอีกเล็กน้อยประมาณ 30 – 40% เผื่อการสูญสลายของไขมันที่อาจเกิดขึ้นในภายหลัง 

ขั้นตอนการฉีดเสริมไขมันเพื่อสร้างเต้านม

หลังจากได้ไขมันมาเป็นที่เรียบร้อยแล้ว แพทย์จะนำไขมันมาฉีดเพื่อเสริมสร้างเต้านมใหม่ให้กับ

ผู้ป่วย โดยทั่วไปไขมันที่ฉีดเข้าไปจะสูญสลายไปเหลือเพียง 50 – 70 % ดังนั้นแพทย์จะฉีดไขมันให้มากกว่าปกติเล็กน้อย

ในการฉีดไขมันเพื่อสร้างเต้านมใหม่ แพทย์จะพิจารณาหลาย ๆ ส่วนประกอบกัน เพื่อให้ผลการรักษาออกมาเป็นที่พอใจมากที่สุด ปริมาณไขมันที่ฉีดควรฉีดมากน้อยแค่ไหน บริเวณหรือตำแหน่งที่จะฉีด ผู้ป่วยเคยได้รับการฉายแสงมาก่อนหรือไม่  เทคนิคการฉีดก็เป็นเรื่องสำคัญ แพทย์จะเลือกตำแหน่งที่จะไม่รบกวนการตรวจแมมโมแกรมและอัลตราซาวนด์ในอนาคต นอกจากนั้นในการฉีดไขมันเพื่อเสริมสร้างเต้านม แพทย์จะฉีดไขมันให้กระจายตัว ไม่ฉีดกองรวมที่ใดที่หนึ่ง เพื่อป้องกันไขมันที่ฉีดเข้าไปก่อตัวเป็นถุงไขมัน หรือมีการตายจับตัวเป็นหินปูน

หลังฉีดไขมันแพทย์จะเย็บปิดแผลตรงตำแหน่งที่ฉีดไขมัน และปิดด้วยผ้าปิดแผลธรรมดา ไม่ต้องพันรัดแน่นแต่อย่างใด

ภายหลังการฉีดเสริมไขมันเพื่อสร้างเต้านม

อาจพบภาวะแทรกซ้อนได้บ้างเล็กน้อยทั้งบริเวณที่ดูดไขมันและที่ฉีดไขมัน อาทิ มีน้ำเหลืองคั่งใต้ผิว, มีภาวะเลือดคั่ง, มีการติดเชื้อ, มีการตายของเซลล์ไขมัน แต่ภาวะเหล่านี้พบได้น้อยและสามารถแก้ไขให้ดีขึ้นได้

ส่วนภาวะแทรกซ้อนในระยะยาวที่พบบ่อยคือ การสลายของไขมันที่ฉีด ซึ่งผู้ป่วยจะต้องมารับการฉีดไขมันเพิ่มเติมในภายหลัง แต่จะฉีดเพิ่มอีกกี่ครั้งแพทย์จะพิจารณาจากขนาดของเต้านมว่าขยายขนาดได้ตามที่ผู้ป่วยต้องการแล้วหรือไม่ นอกจากนั้นอาจเกิดถุงไขมันหรือหินปูนหลังการฉีดไขมันได้ซึ่งไม่เป็นอันตราย

 —————————————————

เสริมเต้านมไปพร้อมกับการตัดเต้านมได้หรือไม่
สามารถทำได้ แต่ต้องเป็นมะเร็งเต้านมในระยะแรก เนื้อเยื่อเต้านมต้องไม่ได้รับความเสียหายจากการฉายแสงหรือมีบาดแผล และมีขนาดเต้านมที่เหมาะสม ข้อดีของการเสริมพร้อมกับการตัดคือ จะทำผ่าตัดแค่ครั้งเดียว แผลผ่าตัดจะเป็นแผลเดียวกับที่ผ่าตัดมะเร็ง แพทย์สามารถกำหนดบริเวณผิวหนังที่จะผ่าออก รอยแผลเป็น และสามารถรักษาโครงสร้างสำคัญไว้ได้ อาทิ ผิวหนังบริเวณเต้านม, หัวนม, ลานหัวนม นอกจากนั้นการผ่าตัดเสริมเต้านมพร้อมกับการผ่าตัดมะเร็งเต้านมยังไม่ส่งผลต่อการเกิดซ้ำของมะเร็งเต้านม
—————————————————-
ตัดเต้านมนานแล้ว สามารถเสริมสร้างเต้านมได้หรือไม่
สามารถทำได้ ไม่ว่าจะตัดเต้านมไปนานแค่ไหนก็ตาม หากท่านมีความพร้อมและความต้องการที่จะเสริมสร้างเต้านมก็มาปรึกษาแพทย์ได้ ส่วนผู้ป่วยมะเร็งเต้านมที่เพิ่งตัดเต้านมออกไป ควรรักษามะเร็งเต้านม เช่น รังสีรักษา, เคมีบำบัด ให้เรียบร้อยก่อน จึงค่อยมาเสริมเต้านม ซึ่งมักทิ้งเวลาห่างจากตัดเต้านมไปแล้วประมาณ 1-2 ปี
—————————————————-
เสริมแล้วเต้านมทั้งสองข้างจะเท่ากันหรือไม่
ในการเสริมเต้านมแพทย์จะพยายามเสริมให้เต้านมสองข้างมีขนาดใกล้เคียงกันมากที่สุด
—————————————————-
เต้านมข้างที่เหลืออยู่มีขนาดใหญ่ จะเสริมอีกข้างให้ขนาดใกล้เคียงกันได้หรือไม่
สามารถทำได้ โดยแพทย์จะเลือกวิธีการผ่าตัดที่เหมาะสมที่จะช่วยสร้างเต้านมใหม่ให้ได้ขนาดใกล้เคียงกับเต้านมอีกข้างมากที่สุด และจะอธิบายถึงขั้นตอนการทำให้ทราบอย่างละเอียด
—————————————————-
เสริมแล้วมีโอกาสกลับมาเป็นมะเร็งอีกหรือไม่
หากท่านได้รับการรักษาหลังผ่าตัดก้อนมะเร็งออกแล้ว อาทิ รักษาด้วยยาเคมีบำบัด, การฉายแสง ครบถ้วนตามมาตรฐานการรักษาแล้ว การผ่าตัดเสริมสร้างเต้านมไม่พบว่ามีผลกระทบต่อการดำเนินของโรค, การหายจากการเป็นมะเร็ง รวมถึงการเกิดมะเร็งเต้านมซ้ำ อย่างไรก็ตาม หลังเสริมเต้านมใหม่ท่านควรเข้ารับการตรวจเช็คเป็นระยะอย่างสม่ำเสมอตามแพทย์นัด ส่วนเต้านมข้างที่ยังปกติควรตรวจแมมโมแกรมและตรวจอัลตราซาวนด์เป็นประจำ เพื่อค้นหาความผิดปกติที่อาจเกิดขึ้นใหม่
—————————————————-
การผ่าตัดเสริมสร้างเต้านม ต้องปลอดจากมะเร็งเต้านมนานเท่าไหร่
หลังผ่าตัดเต้านมที่เป็นมะเร็งออกไปแล้ว อาจต้องรักษาให้ครบถ้วนตามมาตรฐานเพื่อให้แน่ใจว่าปลอดจากมะเร็งแล้ว ซึ่งผู้มารับบริการอาจต้องเลื่อนเวลาในการเสริมสร้างเต้านมออกไปก่อนประมาณ 1-2 ปี แต่ถ้าผ่าตัดเต้านมมานานแล้ว ไม่ว่าจะนานแค่ไหนก็ตาม หากมีความพร้อมและความต้องการที่จะผ่าตัดเสริมสร้างเต้านมก็สามารถทำได้เลย
เสริมสร้างเต้านมใหม่แล้วจะทำหัวนมให้ด้วยหรือไม่
ในการผ่าตัดเสริมสร้างเต้านมใหม่ แพทย์จะทำการสร้างเต้าขึ้นมาก่อน หลังจากนั้นประมาณ 3-4 เดือน จึงจะสร้างในส่วนของหัวนมและลานหัวนม สำหรับการทำลานหัวนมจะใช้วิธีการสักสีเพื่อให้ได้สีใกล้เคียงธรรมชาติ
—————————————————-
ต้องพักฟื้นใน รพ.นานแค่ไหน
การผ่าตัดเสริมสร้างเต้านมมีหลายวิธี แต่ละวิธีอาจใช้เวลาพักฟื้นใน รพ. ไม่เท่ากัน แพทย์จะเป็นผู้แจ้งให้ทราบว่าจะต้องใช้เวลาในการพักฟื้นใน รพ. นานเท่าใด
—————————————————-

ค่ารักษา

เพิ่มเติม
การรักษา ราคา(บาท)
อัตราค่ารักษาพยาบาล แพทย์ที่ทำการรักษาเป็นผู้ประเมิน สอบถามข้อมูลเพิ่มเติม โทร 1723
การรักษา
อัตราค่ารักษาพยาบาล แพทย์ที่ทำการรักษาเป็นผู้ประเมิน สอบถามข้อมูลเพิ่มเติม
โทร 1723

แพทย์ประจำศูนย์เสริมสร้างเต้านม

เพิ่มเติม

เกร็ดความรู้

เพิ่มเติม