chat

การผ่าตัดเปลี่ยนข้อเข่าเทียม

การผ่าตัดเปลี่ยนข้อเข่าเทียม (Total Knee Replacement:TKR)

ด้วยอายุที่เพิ่มมากขึ้น ร่างกายย่อมมีความเสื่อมโทรมและถดถอยลงอย่างเห็นได้ชัดเจน รวมไปถึงอวัยวะต่างๆ ที่ถูกใช้งานมาอย่างยาวนาน บางทีก็ถูกใช้งานแบบผิดวิธีและขาดการดูแลเอาใจใส่ ซึ่งหนึ่งในอวัยวะที่เสื่อมโทรมและเกิดปัญหาสุขภาพที่พบได้บ่อยนั่นก็คือ “ข้อเข่า” เนื่องจากเป็นอวัยวะที่ต้องรับน้ำหนักตัว ช่วยทำให้เราสามารถทรงตัวได้ มีบทบาทสำคัญที่ทำให้เราเคลื่อนไหวได้อย่างอิสระและคล่องตัว โดยนอกจากปัจจัยเรื่องอายุที่มากขึ้นแล้ว การใช้ชีวิตประจำวันก็ส่งผลให้ข้อเข่าเสื่อมได้เช่นกัน อย่างการออกกำลังกายหรือเล่นกีฬาอย่างหนัก และยังมีในเรื่องของโรคข้อเข่าอักเสบแบบเรื้องรัง เช่น รูมาตอยด์ รวมถึงการอักเสบจากอุบัติเหตุที่เกิดจากการกระแทกอย่างแรง จนส่งผลให้กระดูกร้าวหรือแตก เกิดเป็นปัญหาข้อเข่าเสื่อมตามมา

ปัญหาข้อเข่าเสื่อมส่งผลกระทบต่อการใช้ชีวิตประจำวันเป็นอย่างมาก ผู้ป่วยมักจะรู้สึกเจ็บปวดในเวลาเดินขึ้น-ลงบันได หรือในบางรายที่เป็นโรคข้อเข่าเสื่อมขั้นรุนแรงจะรู้สึกปวดเข่ามากๆ ในทุกอิริยาบถแม้กระทั่งการเดิน นั่ง หรือนอนก็ตาม

การรักษาข้อเข่าเสื่อมมักจะเริ่มจากการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการใช้ชีวิตประจำวัน อย่างการระมัดระวังการใช้ข้อเข่าที่หนักจนเกินไป การใช้ยาลดการอักเสบ หรืออาจใช้ไม้เท้าเพื่อช่วยพยุงตัวไม่ให้ข้อเข่ารับน้ำหนักมาก แต่ในผู้ป่วยบางรายที่มีอาการรุนแรงอาจรักษาด้วยวิธีเหล่านี้แล้วยังไม่ได้ผล อาจต้องเข้ารับการผ่าตัดเปลี่ยนข้อเข่าเทียม เพื่อการใช้ชีวิตประจำวันที่สะดวกสบาย ไม่ต้องทนทรมานกับอาการเจ็บปวดข้อเข่าอีกต่อไป

ส่วนประกอบของ“ข้อเข่า”

การผ่าตัดเปลี่ยนข้อเข่าเทียม

ก่อนอื่นเรามาทำความรู้จักกับ “กายวิภาคของข้อเข่า” กันก่อน หัวเข่าจะประกอบไปด้วยกระดูก 3 ชิ้น ได้แก่ ส่วนปลายของกระดูกต้นขา ส่วนบนของกระดูกหน้าแข้ง และกระดูกสะบ้าหัวเข่า โดยจะมีเอ็นยึดกระดูกทั้ง 3 ส่วนเอาไว้ ส่วนบริเวณผิวของกระดูกทั้ง 3 ชิ้นจะถูกปกคลุมไปด้วยกระดูกอ่อน ซึ่งจะทำหน้าที่เปรียบเสมือนเบาะรองกันกระแทกของกระดูก ส่วนที่เหลือของข้อเข่าที่ไม่ได้ถูกปกคลุมด้วยกระดูกอ่อน แต่จะถูกคลุมด้วยเยื่อหุ้มข้อที่ทำหน้าที่สร้างน้ำหล่อเลี้ยงให้ข้อเข่าเปรียบเสมือนเป็นตัวหล่อลื่นให้ผิวนั่นเอง

ใครบ้างที่ควรได้รับการผ่าตัดเปลี่ยนข้อเข่าเทียม

  • ผู้ที่มีอาการปวดข้อเข่าอย่างรุนแรง จนรบกวนการใช้ชีวิตประจำวันเป็นอย่างมาก
  • ผู้ที่รักษาด้วยยาแก้ปวดเป็นประจำ หรือรักษาด้วยวิธีอื่นๆ แต่อาการก็ยังไม่ดีขึ้น
  • ผู้ที่มีข้อเข่าผิดรูป เช่น โก่งเข้าด้านใน หรือ โก่งออกด้านนอก
  • ผู้ที่เคลื่อนไหวเข่าได้ลดลง มีการงอและเหยียดเข่าได้ไม่เต็มที่ซึ่งเป็นอาการข้อเข่ายึด
  • ผู้ที่เข้ารับการผ่าตัดเปลี่ยนข้อเข่าเทียมควรมีอายุ 60-80 ปี เพราะอุปกรณ์ที่ใช้ในการผ่าตัดนั้นจะมีการสึกหรอตามกาลเวลา (ข้อเข่าเทียมมีอายุการใช้งานประมาณ 15-20 ปี) หากผ่าตัดในรายที่อายุน้อย อาจมีโอกาสที่จะต้องผ่าตัดซ้ำอีกครั้ง

หมายเหตุ ข้อจำกัดในการผ่าตัดข้อเข่าเทียมได้แก่ ผู้ที่มีน้ำหนักตัวมากๆ ซึ่งการผ่าตัดเปลี่ยนข้อเข่าเทียมอาจไม่ช่วยให้อาการข้อเข่าดีขึ้น, ในผู้ป่วยที่มีอาการข้อเข่าติดเชื้อ เพราะการผ่าตัดข้อเข่าเทียมอาจทำให้เกิดการอักเสบติดเชื้อตามมาได้ และผู้ที่มีอาการทางระบบประสาทที่การรับความรู้สึกสูญเสียไป (คนไข้กลุ่มนี้จะไม่มีความรู้สึกเจ็บเข่า) ซึ่งการผ่าตัดอาจไม่มีความจำเป็น

กรณีการผ่าตัดเปลี่ยนข้อเข่าในคนที่ได้รับอุบัติเหตุ

คนส่วนใหญ่ที่ได้รับอุบัติเหตุมา มักมีการแตกหรือหักของกระดูก จำเป็นต้องได้รับการรักษาโดยการผ่าตัดยึดกระดูกเสียก่อน หรือในรายที่มีกระดูกที่แตกจนไม่สามารถจัดเรียงข้อได้ จึงทำให้มีโอกาสที่จะเกิดข้อเข่าเสื่อมตามมา ผู้ที่จะผ่าตัดเปลี่ยนข้อเข่าอาจต้องได้รับการตรวจวินิจฉัยจากแพทย์ผู้ชำนาญการเสียก่อน

การผ่าตัดเปลี่ยน ข้อเข่าเทียมTRK

การผ่าตัดเปลี่ยนข้อเข่าเทียม

เป็นการผ่าตัดเปลี่ยนข้อเข่าเทียมทั้งหมด โดยศัลยแพทย์ผู้ชำนาญการจะทำการกรีดบริเวณหน้าเข่าให้ถึงกระดูกสะบ้า จากนั้นนำกระดูกส่วนที่ได้ออกชั่วคราว แล้วนำเข้าไปยังบริเวณข้อต่อที่อยู่ด้านหลัง สำหรับส่วนที่เสียหายบริเวณกระดูกต้นขาและกระดูกแข้ง จะถูกผ่าออกและนำส่วนที่ได้มาวัดขนาด และรูปร่างที่เหมาะสมเพื่อเตรียมอวัยวะเทียมที่เหมาะสมที่สุด โดยศัลยแพทย์จะทำการทดสอบการใช้งานของข้อต่อเทียมนี้ และปรับให้เข้าที่ก่อนใส่เข้าไปให้พอดี

การเตรียมตัวก่อนการผ่าตัด

  • เริ่มจากการได้รับการตรวจร่างกายทั่วไปอย่างละเอียด มีการตรวจคัดกรองเกี่ยวกับการติดเชื้อ โดยแพทย์อายุรกรรมเพื่อดูความพร้อมในการผ่าตัด รวมถึงอาจต้องตรวจซ้ำโดยแพทย์เฉพาะทางอีกครั้ง เช่น แพทย์อายุรกรรมทางด้านหัวใจ เป็นต้น
  • จากนั้นมีการตรวจเลือด ปัสสาวะ และเอกซเรย์
  • ผู้เข้ารับการผ่าตัดควรเข้ารับการตรวจฟัน หากตรวจแล้วว่าต้องมีการรักษารากฟัน การติดเชื้อของเหงือก ควรได้รับการรักษาก่อนเข้ารับการผ่าตัดข้อเข่าเทียม เพราะมิเช่นนั้นอาจมีการติดเชื้อในกระแสเลือดได้
  • ผู้เข้ารับการผ่าตัดอาจจำเป็นต้องงดยาบางชนิด เช่น ยาที่มีผลต่อการแข็งตัวของเลือด ยาแอสไพริน และยาแก้อักเสบบางตัว เป็นต้น ทั้งนี้ควรแจ้งแพทย์ก่อนการผ่าตัดว่าตอนนี้ท่านกำลังใช้ยาตัวใดอยู่บ้าง
  • ควรเตรียมในเรื่องของสิ่งแวดล้อมภายในบ้าน เพื่อความปลอดภัยในการพักฟื้นร่างกายหลังผ่าตัด อาทิ การทำราวจับตามห้องน้ำ เพื่อช่วยในการเดิน การทำราวบันไดที่ลาดชัน การใช้เก้าอี้นั่งในเวลาอาบน้ำ และควรย้ายที่นอนลงมาอยู่ชั้นล่าง เพื่อหลีกเลี่ยงการเดินขึ้น-ลงบันไดในช่วงพักฟื้น

ขั้นตอนการผ่าตัดเปลี่ยนข้อเข่าเทียม

  • การผ่าตัดเปลี่ยนข้อเข่าเทียมอาจใช้วิธีระงับความรู้สึกระหว่างผ่าตัดแบ่งได้เป็น 2 วิธี คือ การดมยาสลบ หรือการฉีดยาเข้าไขสันหลัง ส่วนจะใช้วิธีการใดนั้นขึ้นอยู่กับดุลยพินิจของแพทย์
  • ศัลยแพทย์ทำการผ่าตัด โดยนำผิวที่เสียหายออก แล้วจึงใส่ข้อต่อเทียมที่มีความเรียบมัน ซึ่งทำจากผิวโลหะโดยมีพลาสติกกั้นเข้าไปแทนที่ เพื่อให้ข้อเข่ากลับไปใช้งานได้ตามปกติอีกครั้ง
  • ขั้นตอนในการผ่าตัดจะใช้เวลาประมาณ 1-3 ชั่วโมง
  • หลังผ่าตัดต้องนอนพักฟื้นที่โรงพยาบาลประมาณ 4-5 วัน มีการทำกายภาพบำบัดเพื่อช่วยให้คนไข้สามารถหัดลุก-นั่ง-เดินได้ และเมื่อคนไข้สามารถช่วยเหลือตัวเองได้แล้ว รวมถึงแผลผ่าตัดไม่มีการติดเชื้อ แพทย์จะพิจารณาให้คนไข้กลับไปพักฟื้นต่อที่บ้านได้

ภาวะแทรกซ้อนที่อาจเกิดหลังผ่าตัด

ภาวะแทรกซ้อนที่อาจเกิดหลังผ่าตัด

หลังผ่าตัดเปลี่ยนข้อเข่าเทียมนั้น อาจเกิดภาวะแทรกซ้อนได้ค่อนข้างน้อยมาก โดยแบ่งได้เป็น ภาวะแทรกซ้อนด้านการติดเชื้อ สามารถสังเกตได้จากอาการเข่าบวม เจ็บเวลางอเข่า เริ่มมีไข้ต่ำๆ หากกรณีที่เชื้อเข้าสู่กระแสเลือดและปล่อยทิ้งไว้นานวันจะมีหนองไหลออกมา ต่อมาคือภาวะแทรกซ้อนด้านหัวใจ หากมีการเสียเลือดจำนวนมาก จะส่งผลให้หัวใจทำงานหนักและอาจเกิดภาวะหัวใจวายได้ และสุดท้ายคือ ภาวะเส้นเลือดดำอุดตัน ซึ่งเกิดจากที่มีลิ่มเลือดไปอุดตันที่กล้ามเนื้อหัวใจและปอด ทำให้หัวใจและระบบไหลเวียนเลือดล้มเหลวได้ สังเกตอาการได้จาก การปวดน่อง ปวดบวมแดงเหนือเข่าหรือใต้เข่า เริ่มบวมมากขึ้นบริเวณน่อง ข้อเท้าและเท้า เพื่อเป็นการป้องกันและลดโอกาสการอุดตันของเส้นเลือด คนไข้ควรขยับขาทั้งสองข้าง และเริ่มขยับให้ได้เร็วที่สุด เพราะการเคลื่อนไหวจะทำให้การไหลเวียนของเลือดดีขึ้น

ถึงแม้ภาวะแทรกซ้อนอาจเกิดขึ้นได้น้อยมาก แต่หากคนไข้สังเกตได้ถึงอาการของภาวะแทรกซ้อนเหล่านี้ ก็ควรรีบพบแพทย์โดยเร็ว เพื่อการรักษาที่เหมาะสมและถูกต้องอย่างทันท่วงที

การปฏิบัติตัวหลังการผ่าตัด

สำหรับการดูแลแผลผ่าตัดนั้น ควรหลีกเลี่ยงการสัมผัสแผลโดยตรง ส่วนมากศัลยแพทย์จะเย็บแผลด้วยไหมละลาย ดังนั้นจึงไม่จำเป็นต้องตัดไหม สังเกตหากแผลมีอาการแดงขึ้น ปวดขึ้น และรับประทานแก้ปวดแล้วไม่ดีขึ้น คนไข้ควรรีบพบแพทย์ หลังจากแกะแผ่นปิดแผลประมาณ 20 วันหลังผ่าตัด สามารถโดนน้ำได้ในช่วง 3 เดือนแรกหลังผ่าตัด

การปฏิบัติตัวหลังการผ่าตัด

การออกกำลังกายและหมั่นทำกายภาพบำบัดทุกวันในช่วง 3 เดือนแรกก็เป็นสิ่งที่สำคัญมาก แต่ยังไม่ควรทำกิจกรรมที่ต้องออกแรงมาก หลีกเลี่ยงการเคลื่อนไหวแรงๆ หรือการเล่นกีฬาหนักๆ คนไข้สามารถเดินออกกำลังกายเป็นระยะทางสั้นๆ ได้ทุกๆ 2 ชั่วโมง และจำเป็นต้องใช้ไม้เท้าหรือวอร์กเกอร์ในการช่วยพยุงตัว โดยหลีกเลี่ยงการเดินบนพื้นที่ไม่เรียบขรุขระ ส่วนการนั่ง ควรนั่งบนเก้าอี้ที่มีพนักพิงและมีที่วางแขนเพื่อช่วยพยุงตัวตอนลุกขึ้นยืน เบาะนั่งไม่นิ่มหรือไม่แข็งจนเกินไป ไม่ควรนั่งนานจนเกินไป หากเกิน 30 นาทีควรลุกขึ้นขยับ-ยืน-เดินบ้างเพื่อเป็นการบริหารให้เลือดไหลเวียนดี

ระยะเวลาที่สามารถกลับมาเดินได้ปกติ

หลังจากการผ่าตัดประมาณ 6 สัปดาห์ คนไข้จะสามารถเดินได้โดยไม่ต้องใช้ไม้เท้าหรือวอร์กเกอร์ แต่อาจจะยังมีอาการปวดและบวมอยู่บ้างเป็นเวลาประมาณ 3 เดือน ส่วนการฟื้นตัวนั้น คนไข้ส่วนใหญ่ร้อยละ 80-90 จะเริ่มฟื้นตัวประมาณ 3-4 เดือนหลังผ่าตัด และฟื้นตัวได้เต็มที่ใกล้เคียงปกติ หลังผ่าตัดไปแล้ว 1 ปี โดยเนื้อเยื่อ กล้ามเนื้อ และข้อเข่าเทียมจะได้รับการการฟื้นตัวเรื่อยๆ ซึ่งระยะเวลาในการพักฟื้นนั้นอาจจะแตกต่างกันในแต่ละคน ทั้งนี้คนไข้จำเป็นต้องปฏิบัติตามคำแนะนำของแพทย์อย่างเคร่งครัด เพื่อการฟื้นตัวที่ดีและสามารถกลับไปใช้ชีวิตประจำวันได้อย่างปกติในเร็ววัน

การดูแลข้อเข่าข้างที่ไม่ได้ผ่าตัด

การดูแลข้อเข่าข้างที่ไม่ได้ผ่าตัด
การดูแลข้อเข่าข้างที่ไม่ได้ผ่าตัด

ส่วนมากนั้น การผ่าตัดเปลี่ยนข้อเข่าเทียมมักจะทำในข้างที่มีอาการข้อเข่าเสื่อมมาก ส่วนอีกข้างที่ไม่ได้ผ่าตัด คนไข้จำเป็นต้องให้ความสำคัญและหมั่นดูแลข้อเข่าข้างที่ไม่ได้ผ่าตัด ด้วยการออกกำลังกาย โดยนั่งบนเก้าอี้โดยให้ข้อพับเข่าทั้งสองข้างชิดกับขอบเก้าอี้ จากนั้นเหยียดขาข้างหนึ่งออกไปข้างหน้า ยกค้างไว้ประมาณ 10 วินาที งอข้อเข่าที่ยกลงในท่าปกติ ทำสลับกันทั้งสองข้าง วันละประมาณ 100 ครั้ง โดยทำควบคู่ไปกับการออกกำลังกายทั่วๆ ไป ให้เหมาะสมกับน้ำหนักตัวและวัย อาทิ การเดิน ปั่นจักรยาน ว่ายน้ำ และหลีกเลี่ยงการออกกำลังกายที่ทำให้เกิดแรงกระแทกมากๆ รวมถึงหลีกเลี่ยงการนั่งพับเพียบ นั่งคุกเข่า นั่งยองๆ เพราะจะยิ่งเป็นการทำให้กระดูกที่ข้อเข่าเสื่อมเร็วขึ้น

ข้อเข่า เป็นอวัยวะที่สำคัญที่ช่วยให้เราเคลื่อนไหวได้อย่างที่ต้องการ ทั้งการยืน เดิน นั่ง หรือวิ่ง ช่วยให้เราได้ทำกิจกรรมต่างๆ ได้อย่างคล่องแคล่วสะดวกสบาย ดังนั้นการดูแลข้อเข่าจึงเป็นสิ่งที่เราทุกคนต้องให้ความสำคัญ เริ่มได้ตั้งแต่อายุน้อยๆ โดยการหมั่นออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ รับประทานอาหารที่มีประโยชน์ หลีกเลี่ยงกิจกรรมหรืออิริยาบถที่ทำร้ายข้อเข่า รวมไปถึงการตรวจสุขภาพประจำปีอย่างสม่ำเสมอ เพื่อการป้องกัน ชะลอ และรักษาโรคข้อเข่าเสื่อมที่ได้ผลที่สุด

นอกจาก “ข้อเข่า” แล้ว ก็ยังมีอีกหนึ่งอวัยวะ ที่เป็นอวัยวะยอดฮิตของโรคข้อเสื่อมนั่นก็คือ “สะโพก” แต่ปัญหาเหล่านี้จะถูกดูแลและได้รับการรักษาโดยทีมแพทย์ผู้ชำนาญการด้านกระดูกและข้อ โรงพยาบาลยันฮี ด้วย “การผ่าตัดเปลี่ยนข้อสะโพกเทียม” รวมไปถึงการรักษาอื่นๆ ที่ช่วยแก้ปัญหาด้านกระดูกและข้อต่างๆ เช่น นิ้วล็อค การรักษาโรคการกดทับเส้นประสาทบริเวณข้อมือ การผ่าตัดแก้ไขนิ้วมือผิดรูป การผ่าตัดแก้ไขเท้าปุก เท้าแป เป็นต้น

“ผ่าตัดเปลี่ยนข้อเข่าเทียม เพื่อสุขภาพข้อเข่าที่ฟิตอยู่เสมอ พร้อมรับทุกกิจกรรมที่รอคุณอยู่”

การดูแลข้อเข่าข้างที่ไม่ได้ผ่าตัด