chat

การผ่าตัดเปลี่ยนข้อสะโพกเทียม (Total Hip Replacement: THR)

การผ่าตัดเปลี่ยนข้อสะโพกเทียม
การผ่าตัดเปลี่ยนข้อสะโพกเทียม

ส่วนประกอบของข้อสะโพก

ภาวะที่ทำให้สะโพกเสียหาย

อาการบ่งชี้ข้อสะโพกเสื่อมที่ต้องได้รับการผ่าตัดเปลี่ยนข้อสะโพกเทียม

การเปลี่ยนข้อสะโพกเทียม THR

การเตรียมตัวก่อนการผ่าตัด

ขั้นตอนการผ่าตัดเปลี่ยนข้อสะโพกเทียม

ภาวะแทรกซ้อนที่อาจเกิดหลังผ่าตัด

การปฏิบัติตัวหลังการผ่าตัด

ระยะเวลาที่กลับมาใช้งานสะโพกได้เป็นปกติหลังผ่าตัด

ปัญหาข้อต่อภายหลังผ่าตัดเปลี่ยนข้อสะโพกเทียม

การทำกายบริหารหลังการผ่าตัดเปลี่ยนข้อสะโพกเทียม

การผ่าตัดเปลี่ยนข้อสะโพกเทียม(Total hip Replacement : THR)

การผ่าตัดเปลี่ยนข้อสะโพกเทียม

นอกจากข้อเข่าที่ต้องรับน้ำหนักตัว และช่วยให้เราเคลื่อนไหวได้อย่างอิสระแล้ว ข้อต่อบริเวณสะโพกก็เป็นส่วนที่ต้องรับน้ำหนักตัวในทุกอิริยาบถเช่นเดียวกัน และทำหน้าที่เปลี่ยนทิศทางขณะเดิน โดยเกิดแรงที่มาปะทะกับข้อสะโพกประมาณ 3-5 เท่าของน้ำหนักตัว และขณะที่มีการเคลื่อนไหว เช่น การวิ่ง กระโดด แรงปะทะอาจสูงถึง 10 เท่าของน้ำหนักตัว แน่นอนว่าเมื่อเวลาผ่านไป ข้อสะโพกย่อมผ่านการใช้งานมาอย่างยาวนาน ทำให้เกิดภาวะสะโพกเสื่อมได้ง่าย จึงเป็นที่มาของ “โรคข้อสะโพกเสื่อม” นั่นเอง เมื่อข้อสะโพกเกิดความเสื่อม ย่อมสร้างความเจ็บปวดและเป็นอุปสรรคต่อการขยับร่างกายไม่ว่าจะเดิน ยืน หรือวิ่ง รวมถึงการเคลื่อนไหวอย่างการงอตัวหรือยืดตัว เป็นต้น

เมื่ออุปสรรคจากโรคข้อสะโพกเสื่อมเกิดขึ้น ย่อมส่งผลต่อการใช้ชีวิตประจำวันเป็นอย่างมาก จนต้องใช้ยาแก้ปวด ยาแก้อักเสบ การฟื้นฟูโดยการทำกายภาพบำบัด รวมไปถึงการปรับเปลี่ยนการใช้สะโพกอย่างระมัดระวัง เพื่อไม่ให้เกิดหรือลดแรงกระแทกต่อสะโพก เช่น หลีกเลี่ยงการออกกำลังกาย หรือการทำกิจกรรมที่เกิดแรงปะทะหรือการกระแทกแรงๆ เป็นต้น แต่หากการรักษาเหล่านี้ยังไม่ส่งผลดีต่ออาการข้อสะโพกเสื่อมแล้ว แพทย์ผู้ชำนาญการอาจพิจารณาการผ่าตัดเปลี่ยนข้อสะโพกเทียม เพื่อให้คนไข้หายจากอาการปวด มีการเคลื่อนไหวที่ดี สามารถเดินและใช้งานได้เหมือนหรือใกล้เคียงกับสะโพกปกติที่สุด

ส่วนประกอบของข้อสะโพก

ข้อสะโพกเป็นข้อต่อที่ใหญ่ที่สุดในร่างกายและทำหน้าที่รับน้ำหนักตัวมากที่สุด ข้อต่อสะโพกเป็นรอยต่อระหว่างกระดูกเชิงกรานกับกระดูกต้นขา ประกอบด้วย 2 ส่วนคือ

หัวกระดูกสะโพก รูปร่างทรงกลม เป็นส่วนที่อยู่ด้านบนสุดของกระดูกต้นขา

ส่วนหัวกระดูกสะโพกจะอยู่ในเบ้าสะโพกที่มีลักษณะเป็นแอ่งครึ่งวงกลมที่อยู่ในกระดูกเชิงกราน

ซึ่งทั้งหัวกระดูกสะโพกและเบ้าสะโพกจะมีผิวกระดูกอ่อนเคลือบอยู่ โดยมีเนื้อเยื่อไขข้อเป็นส่วนที่สร้างน้ำไขข้อนี้เพื่อเป็นการหล่อลื่นของข้อสะโพกให้เคลื่อนไหวได้อย่างไม่ติดขัด ไม่เสียดสีจนเกิดการสึกหรอ

ภาวะที่ทำให้สะโพกเสียหาย

โรคข้อสะโพกที่พบบ่อยในคนไทยมีอยู่หลายรูปแบบด้วยกันคือ ข้อสะโพกเสื่อมตามวัย, ข้อสะโพกผิดปกติแต่กำเนิด ไม่สามารถเจริญเติบโตเต็มที่, ข้อสะโพกขาดเลือดไปเลี้ยงที่กระดูกหัวของข้อสะโพก, ข้อสะโพกอักเสบจากโรครูมาตอยด์ ซึ่งโรคสะโพกเสื่อมมักพบได้ตั้งแต่คนอายุ 45 ปี แต่มักพบบ่อยเมื่ออายุมากกว่า 60 ปี และในคนอีกส่วนหนึ่งที่อายุน้อยกว่านี้ ที่อาจต้องเข้ารับการผ่าตัดเปลี่ยนข้อสะโพกเทียมเนื่องจากสะโพกเสียหายจากอุบัติเหตุ เช่น การตกจากที่สูง หรืออุบัติเหตุที่ทำให้สะโพกได้รับแรงกระแทกอย่างรุนแรง

อาการบ่งชี้ข้อสะโพกเสื่อมที่ต้องได้รับการผ่าตัดเปลี่ยนข้อสะโพกเทียม

อาการปวดสะโพก และปวดมากขึ้นจนไม่สามารถทำกิจวัตรประจำวันต่างๆ ได้ปกติ เช่น การยืน เดิน ลุก และนั่ง

การเคลื่อนไหวสะโพกติดขัด เคลื่อนไหวลำบาก มีเสียงลั่นในข้อ

ใช้ยาแก้ปวดเพื่อบรรเทาอาการปวดทุกวัน

หากอาการรุนแรงมาก จะมีอาการปวดมากจนไม่สามารถเหยียดข้อสะโพกได้ อาจทำให้ขาอ่อนแรงลงเนื่องจากกล้ามเนื้อที่ควบคุมข้อสะโพกอ่อนแอจากการใช้งานที่น้อยลง

หากอาการข้อเข่าเสื่อมส่งผลให้เกิดความเจ็บปวดอย่างมาก จนรบกวนการใช้ชีวิตประจำวันและการทำกิจกรรมต่างๆ รวมถึงหากคนไข้รับการรักษาด้วยการใช้ยา การทำกายภาพบำบัด และปรับเปลี่ยนการใช้งานสะโพกแล้วยังให้ผลการรักษาที่ไม่ดี รวมถึงในกรณีที่คอกระดูกสะโพกหักแล้วไม่สามารถรักษาด้วยวิธียึดดามกระดูกได้ แพทย์ผู้ชำนาญการอาจพิจารณาวิธีการผ่าตัดเปลี่ยนข้อสะโพกเทียมแก่คนไข้

การเปลี่ยนข้อสะโพกเทียม THR

เป็นการผ่าตัดเพื่อนำส่วนที่เสื่อมสภาพของทั้งส่วนหัวกระดูกต้นขาและเบ้าสะโพกออก และทดแทนด้วยข้อสะโพกเทียม (Total Hip Replacement) ซึ่งแบ่งเป็น 3 ส่วนได้แก่

1. เบ้าสะโพกเทียม (ทำจากโลหะหรือโพลีเอทธิลีน) มีหน้าที่ยึดกับเบ้าเดิมตรงกระดูกเชิงกราน

2. หัวสะโพกเทียม (ทำจากโลหะหรือเซรามิก) รูปทรงกลมทำหน้าที่เหมือนหัวสะโพกเดิมโดยจะยึดติดกับก้านสะโพกเทียมที่ถูกตอกยึดกับกระดูกต้นขาส่วนต้น

3. ก้านสะโพก (ทำจากโลหะ) โดยจะยึดกับส่วนหัวสะโพกเทียม ใช้ตอกยึดเข้ากับกระดูกต้นขาส่วนต้น

และมีวิธีการยึดข้อสะโพกเทียมกับกระดูก 2 วิธี คือ การใช้ซีเมนต์ชนิดพิเศษที่ใช้สำหรับยึดกระดูกกับข้อสะโพกเทียม และการยึดโดยการไม่ใช้ซีเมนต์ ซึ่งข้อเทียมจะมีพื้นผิวขรุขระ โดยเนื้อกระดูกจะฝังตัวเข้ากับพื้นผิวนี้ ข้อสะโพกเทียมมีอายุการใช้งานนานอย่างน้อย 15 ปี หากคนไข้สามารถดูแลตัวเองตามคำแนะนำของแพทย์เป็นอย่างดีรวมถึงไม่มีภาวะแทรกซ้อนใดๆ เกิดขึ้น

หมายเหตุ ข้อจำกัดในการผ่าตัดเปลี่ยนข้อสะโพกเทียมได้แก่ ผู้ที่มีโรคประจำตัวที่แพทย์ประเมินแล้วว่าไม่สามารถทนต่อการผ่าตัดได้, ผู้ที่มีร่างกายอยู่ในภาวะติดเชื้อ และผู้ที่ป่วยเป็นโรคที่ทำให้กล้ามเนื้อรอบข้อสะโพกอ่อนแรง จนไม่สามารถพยุงข้อสะโพกได้ หากทำการผ่าตัดเปลี่ยนข้อสะโพกอาจเสี่ยงต่อภาวะข้อสะโพกเทียมหลุดได้

การเตรียมตัวก่อนการผ่าตัด

correct

เริ่มจากการได้รับการตรวจร่างกายทั่วไปอย่างละเอียด การซักประวัติทั่วไปเพื่อนำมาประเมินว่าคนไข้จัดอยู่ในกลุ่มใด เช่น กลุ่มผู้ที่ใช้งานสะโพกหนักหรือใช้งานสะโพกน้อย กลุ่มคนอายุน้อยใช้งานสะโพกหนัก เป็นต้น โดยแพทย์อายุรกรรมจะสามารถพิจารณาการรักษาที่เหมาะสมและถูกต้องให้คนไข้แต่ละราย รวมถึงเพื่อดูความเสี่ยงต่างๆ เช่น การติดเชื้อในส่วนต่างๆ ในร่างกาย อาทิ ทางเดินปัสสาวะ ฟันหรือเหงือกอักเสบ การเกิดฝีหรือหนอง เพราะหากตรวจพบการติดเชื้อเหล่านี้และประเมินแล้วว่ามีความเสี่ยงในการผ่าตัด แพทย์แนะนำว่าควรรักษาภาวะติดเชื้อดังกล่าวให้หายดีเสียก่อนจะทำการผ่าตัดเปลี่ยนข้อสะโพกเทียม

correct

ตรวจเลือด ปัสสาวะ และเอกซเรย์

correct

ผู้เข้ารับการผ่าตัดอาจจำเป็นต้องงดยาบางชนิด เช่น ยาที่มีผลต่อการแข็งตัวของเลือด ยาแอสไพริน และยาแก้อักเสบบางตัว เป็นต้น ทั้งนี้ควรแจ้งแพทย์ก่อนการผ่าตัดว่าตอนนี้ท่านกำลังใช้ยาตัวใดอยู่บ้าง

correct

ควรเตรียมในเรื่องของสิ่งแวดล้อมภายในบ้าน เพื่อความปลอดภัยในการพักฟื้นร่างกายหลังผ่าตัด อาทิ การทำราวจับตามห้องน้ำ เพื่อช่วยในการเดิน การทำราวบันไดที่ลาดชัน การใช้เก้าอี้นั่งในเวลาอาบน้ำ รวมถึงการจัดวางสิ่งของที่ต้องใช้เป็นประจำเอาไว้ในที่ที่สามารถเอื้อมหยิบถึงและถนัด

ขั้นตอนการผ่าตัดเปลี่ยนข้อสะโพกเทียม

correct

การผ่าตัดเปลี่ยนข้อเข่าเทียมอาจใช้วิธีระงับความรู้สึกระหว่างผ่าตัดแบ่งได้เป็น 2 วิธี คือ การดมยาสลบ หรือการฉีดยาเข้าไขสันหลัง ส่วนจะใช้วิธีการใดนั้นขึ้นอยู่กับดุลยพินิจของแพทย์

correct

แพทย์จะทำการตัดเอาส่วนหัวของกระดูกสะโพกออก จากนั้นเจียผิวของเบ้าสะโพกให้เรียบและมีรูปร่างที่เหมาะสม แล้วทำการใส่ข้อสะโพกเทียมเข้าไป โดยแผลผ่าตัดจะอยู่บริเวณด้านข้างของสะโพก

correct

การผ่าตัดจะใช้เวลาประมาณ 1-2 ชั่วโมง

correct

หลังผ่าตัดคนไข้ต้องนอนพักฟื้นที่โรงพยาบาลประมาณ 5-7 วัน เพื่อฟื้นฟูร่างกายโดยการทำกายภาพบำบัด ฝึกการนั่ง ยืน เดิน จนสามารถเดินและช่วยเหลือตัวเองได้ รวมถึงแผลผ่าตัดไม่มีการติดเชื้อ แพทย์จะพิจารณาให้คนไข้กลับไปพักฟื้นต่อที่บ้านได้

ภาวะแทรกซ้อนที่อาจเกิดหลังผ่าตัด

หลังการผ่าตัดเปลี่ยนข้อสะโพกเทียมแล้ว อาจเกิดภาวะแทรกซ้อนได้ค่อนข้างน้อยมาก เช่น การเกิดลิ่มเลือด การติดเชื้อ อาการบาดเจ็บของเส้นเลือดและเส้นประสาท การแตก/หักของสะโพก สะโพกเคลื่อน ความยาวช่วงขาที่ไม่เท่ากัน เป็นต้น หากหลังการผ่าตัดเปลี่ยนข้อสะโพกเทียม คนไข้สังเกตได้ว่า มีอาการบวมแดง มีของเหลวไหลออกมา หรือมีความเจ็บปวดเพิ่มขึ้นที่ข้อสะโพกเทียม ควรรีบพบแพทย์ทันที อย่างที่ทราบในตอนต้นว่าข้อสะโพกเทียมมีอายุการใช้งานประมาณ 15 ปีนั้น หากคนไข้เกิดภาวะแทรกซ้อนใดๆ หรือเกิดอุบัติเหตุหลังผ่าตัดอาจทำให้สะโพกเกิดความเสื่อมก่อนอายุการใช้งานจริง จนต้องได้รับการผ่าตัดแก้ไขตามมาในอนาคต

การปฏิบัติตัวหลังการผ่าตัด

ยหลังการเปลี่ยนสะโพกเทียมช่วงแรกๆ คนไข้จำเป็นต้องปฏิบัติตัวทำกิจวัตรประจำวันอย่างถูกวิธี เพื่อความปลอดภัยและการฟื้นฟูร่างกายที่ดี

การลงจากเตียงนอน ควรเริ่มจากการขยับตัวโดยขยับไปด้านข้างที่ทำการผ่าตัด จากนั้นค่อยๆ เลื่อนสะโพกโดยใช้ข้อศอกช่วยดันลำตัวให้ตั้งตรง ไม่ควรบิดหรือหมุนขา เขยิบขาข้างที่ไม่ได้ผ่าตัดมาไว้ด้านข้าง นั่งลงบริเวณขอบเตียง ใช้วอร์คเกอร์ช่วยพยุงตัวขณะยืน

การเดิน ควรทิ้งน้ำหนักตัวให้สมดุลกับวอร์คเกอร์ ค่อยๆ เดินขยับไปด้านหน้าโดยยกขาข้างที่ผ่าตัดก้าวนำขาอีกข้าง ค่อยๆ เดินโดยปล่อยให้วอร์คเกอร์รับน้ำหนักตัวไว้

การนั่ง เริ่มจากการโน้มตัวไปด้านหน้า ปล่อยน้ำหนักตัวที่วอร์คเกอร์และก้าวขาด้านที่ไม่ได้ผ่าตัดตามไปด้านหน้าจนเท้าทั้ง 2 ข้างเสมอกัน นั่งในท่าที่มั่นคง หลังแนบกับพนักพิง โดยที่มือจับที่พนักเท้าแขน ไม่ควรเลือกเก้าอี้ที่เตี้ยมาก เพราะจะทำให้เข่าต้องงอเกิน 90 องศา

ระยะเวลาที่กลับมาใช้งานสะโพกได้เป็นปกติหลังผ่าตัด

ช่วงหลังผ่าตัดใหม่ๆ คนไข้ต้องใช้ไม้ค้ำยันหรือวอร์คเกอร์เพื่อช่วยพยุงตัวในการเคลื่อนไหวในช่วง 4-6 สัปดาห์แรก ภายหลังจากการผ่าตัดเปลี่ยนสะโพกเทียมแล้ว

โดยส่วนใหญ่แล้วคนไข้สามารถกลับมาทำกิจวัตรประจำวันหรืองานต่างๆ ได้ประมาณ 6-8 สัปดาห์หลังผ่าตัด ทั้งนี้หากคนไข้สามารถเดินหรือเคลื่อนไหวได้เป็นปกติโดยไม่ต้องใช้วอร์คเกอร์หรือไม้ค้ำยันแล้ว คนไข้ควรปรับเปลี่ยนอิริยาบถต่างๆ ไม่ควรนั่งไขว่ห้าง ควรนั่งให้เท้าทั้ง 2 ข้างวางระนาบเดียวกันบนพื้น โดยให้หัวเข่าทั้ง 2 ข้างห่างกันเล็กน้อย ระมัดระวังการหมุนตัวโดยเริ่มจากหมุนเท้าข้างใดข้างหนึ่งเข้าด้านใน การหมุนเท้าให้หมุนพร้อมกับลำตัว สำหรับการก้มตัวหยิบของนั้น ห้ามโค้งตัวลงเด็ดขาด ควรใช้ไม้หรืออุปกรณ์ที่มีด้ามจับยาวเพื่อช่วยเก็บสิ่งของบนพื้นแทนการโน้มตัวเก็บขอบเอง สำหรับการใช้ชีวิตประจำวันนั้น หลายท่านเข้าใจว่า เมื่อทำการผ่าตัดเปลี่ยนข้อสะโพกเทียมมาสักระยะหนึ่งแล้ว จะสามารถกลับไปเล่นกีฬาหรือทำกิจกรรมหนักๆ ได้เช่น คนไข้ที่เคยเป็นนักกีฬารักบี้มาก่อน หลังจากผ่าตัดเปลี่ยนข้อสะโพกเทียมแล้วอาจไม่เหมาะกับการกลับไปเล่นรักบี้อีก แต่อาจจะต้องเล่นกีฬาอื่นๆ ที่เหมาะสมกว่า เช่น การว่ายน้ำ การปั่นจักรยาน หรือกีฬาและกิจกรรมที่ไม่ใช้แรงกระแทกแรงๆ อื่นๆ

ปัญหาข้อต่อภายหลังผ่าตัดเปลี่ยนข้อสะโพกเทียม

เป็นปัญหาที่อาจเกิดขึ้นได้ในอนาคตหลังคนไข้ได้รับการผ่าตัดเปลี่ยนข้อสะโพกเทียมมาแล้วประมาณ 10 ปีขึ้นไป ยกตัวอย่างเช่น ปัญหาข้อต่อหลวม โดยคนไข้จะมีความรู้สึกว่าข้อต่อมีความหลวม ไม่มั่นคงเหมือนก่อนและเกิดความรู้สึกปวด ต่อมาคือความเสื่อมสภาพและเสียหายของข้อสะโพกเทียม ซึ่งเกิดจากการที่ข้อเทียมถูกเนื้อเยื่อรอบๆ กินเข้าไปจนทำให้ข้อหลวม โดยปัญหาข้อสะโพกเทียมเหล่านี้อาจเป็นสัญญาเตือนได้ว่า คนไข้ควรเข้ารับการตรวจจากแพทย์เพื่อพิจารณาการรักษาต่อไป

การทำกายบริหารหลังการผ่าตัดเปลี่ยนข้อสะโพกเทียม

หลังจากที่ร่างกายเริ่มฟื้นตัวแล้ว อาจทำให้กล้าเนื้อสะโพกมีความอ่อนแรงลงได้ เนื่องจากการที่ต้องรอให้ร่างกายฟื้นตัว การทำกายบริหารจะช่วยเพิ่มความแข็งแรงของกล้ามเนื้อได้ และควรทำอย่างสม่ำเสมอ คนไข้สามารถออกกำลังกายแบบที่ไม่เป็นการเพิ่มแรงกระแทกเช่น การปั่นจักรยานอยู่กับที่ โดยควรปรับให้ที่นั่งมีความสูงให้เหมาะสม ให้เท้าสามารถแตะพื้นได้อย่างพอดี โดยปั่นไปด้านหลังและไปด้านหน้า เมื่อรู้สึกว่ากล้ามเนื้อเริ่มเข้าที่และแข็งแรงขึ้น คนไข้สามารถปรับแรงต้านในการปั่นเพิ่มขึ้นได้ ใช้เวลาในการปั่นประมาณ 10-20 นาที ทำเป็นประจำสัปดาห์ละ 3-4 ครั้ง รวมไปถึงการออกกำลังกายโดยการเดิน ซึ่งช่วงแรกใช้เวลาเดินประมาณ 10-15 นาที จากนั้นสามารถเพิ่มเวลาได้เป็น 20-30 นาที และทำอย่างสม่ำเสมอสัปดาห์ละ 3-4 ครั้ง นอกจากการปั่นจักรยานอยู่กับที่และการเดินแล้ว คนไข้สามารถออกกำลังกายหรือทำกายบริหารอื่นๆ ได้โดยได้รับคำแนะนำที่ถูกต้องจากแพทย์ผู้ชำนาญการหรือนักกายภาพบำบัด

การผ่าตัดเปลี่ยนข้อสะโพกเทียม เป็นการผ่าตัดที่ต้องอาศัยความเชี่ยวชาญจากแพทย์เฉพาะทางที่มีประสบการณ์ และนับว่าเป็นการรักษาเพื่อช่วยให้คนไข้กลับมาใช้ชีวิตประจำวันได้อย่างปกติสุข ไม่ต้องทนทรมานกับอาการเจ็บปวด และเป็นการช่วยส่งเสริมให้มีคุณภาพชีวิตที่ดีและยั่งยืนอีกด้วย

นอกจากการผ่าตัดเพื่อแก้ไขปัญหากระดูกและข้อที่พบได้บ่อยอย่าง การผ่าตัดเปลี่ยนข้อสะโพกเทียม และ การผ่าตัดเปลี่ยนข้อเข่าเทียม แล้ว ทางศูนย์กระดูกและข้อ โรงพยาบาลยันฮี ยังมีการรักษาโรคกระดูกและข้ออื่นๆ อีกมากมาย อาทิ การรักษาโรคนิ้วล็อค การผ่าตัดแก้ไขความพิการทางกระดูกและข้อที่เป็นมาแต่กำเนิด เช่น เท้าปุก เท้าแป แขนโก่ง ขาโก่ง เป็นต้น

อาการเจ็บปวดจากอาการของโรคกระดูกและข้อ หากปล่อยไว้ไม่ดูแลรักษา ไม่เพียงจะส่งผลต่อการใช้ชีวิตประจำวันและการทำงานแล้ว ยังส่งผลร้ายแรงต่อสุขภาพทั้งในระยะสั้นและระยะยาวอีกด้วย หากคุณสังเกตตัวเองแล้วพบอาการผิดปกติเกิดขึ้น ควรรีบปรึกษาแพทย์ผู้ชำนาญการ เพื่อการรักษาและฟื้นฟูอย่างถูกวิธีและเหมาะสม เพื่อสุขภาพที่แข็งแรง พร้อมใช้ชีวิตได้อย่างเต็มที่ และมีความสุข