chat

การตรวจหาไวรัสตับอักเสบเอ, บี, ซี, ดี, อี

การตรวจหาไวรัสตับอักเสบเอ, บี, ซี, ดี, อี

ไวรัสตับอักเสบ เกิดจากการติดเชื้อบริเวณตับ ทำให้ตับมีการอักเสบและเกิดการทำลายของเซลล์ตับ ซึ่งไวรัสตับอักเสบที่พบได้มากคือ ไวรัสตับอักเสบเอ ไวรัสตับอักเสบบี และไวรัสตับอักเสบซี ส่วนไวรัสตับอักเสบดีและอีจะพบได้น้อยมาก นอกจากเชื้อไวรัสแล้ว การดื่มแอลกอฮอล์ การใช้ยาบางชนิดในขนาดที่สูง เช่น ยารักษาวัณโรค หรือยาพาราเซตามอล เชื้อโรคบางชนิด อย่างไทฟอยด์และมาลาเรีย การที่มีแผลในช่องท้องบริเวณตับ ความเสียหายของตับที่เกิดจากการไหลเวียนของน้ำดีหยุดชะงัก การติดเชื้อแบคทีเรีย ยังเป็นสาเหตุของโรคตับอักเสบและมะเร็งตับได้อีกด้วย โดยไวรัสตับอักเสบสามารถติดต่อสู่บุคคลอื่นได้จากเลือด น้ำเหลือง และเพศสัมพันธ์

ในปัจจุบันพบว่า มีผู้ที่ป่วยติดเชื้อไวรัสตับอักเสบทั้งที่แสดงอาการ เช่น ตาเหลือง/ตัวเหลือง และไม่แสดงอาการ ซึ่งการดำเนินโรคสามารถกลายเป็นตับแข็งและมะเร็งตับได้ในที่สุด แต่ด้วยเทคโนโลยีทางการแพทย์ที่มีความก้าวหน้า เพื่อตอบสนองการลดจำนวนผู้ป่วยโรคไวรัสตับอักเสบ จึงมีวิธีการตรวจหาเชื้อไวรัสตับอักเสบชนิดต่างๆ ที่เป็นสาเหตุของโรคตับ อาทิ โรคตับอักเสบ และโรคมะเร็งตับ โดยการเจาะเลือดเพื่อหาสภาวการณ์ติดเชื้อ และหาภูมิคุ้มกันต่อเชื้อไวรัสชนิดต่างๆ เพื่อช่วยคัดกรองและช่วยในการวินิจฉัย รวมไปถึงเป็นแนวทางในการรักษาที่ถูกต้องและป้องกันการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสตับอักเสบสู่ผู้อื่นได้

การตรวจหาเชื้อและการวินิจฉัยโรค

การที่เราจะทราบว่าเรากำลังติดเชื้อไวรัสตับอักเสบอยู่หรือไม่นั้น โดยส่วนใหญ่แล้ว แพทย์ผู้ชำนาญการจะเริ่มจากการซักประวัติอาการก่อน ประวัติการฉีดวัคซีน รวมไปถึงการได้รับเลือดหรือส่วนประกอบอื่นๆ ของเลือด จากนั้นจะมีการตรวจร่างกาย มีการเอกซ์เรย์ และเจาะเลือดเพื่อส่งตรวจทางห้องปฏิบัติการ โดยแยกเป็นการตรวจดังนี้

  • การตรวจทางเคมีคลินิก เป็นการตรวจการทำงานของตับเพื่อหาภาวะการอักเสบของเซลล์ตับ โดยการตรวจหาปริมาณเอนไซม์ 2 ชนิด คือ ALT / SGPT, AST / AGOT, ตรวจหาปริมาณของ Bilirubin สารเหลืองดีซ่าน เพื่อหาความสามารถของตับในการกำจัดสารต่างๆ ที่ไม่ต้องการออกจากร่างกาย, การตรวจหาปริมาณ AP ดูภาวะการอุดตันของท่อน้ำดี, การตรวจหาปริมาณของ GGT และการตรวจหาปริมาณของ Albumin (โปรตีน albumin)
  • การตรวจหาภาวะการแข็งตัวของเลือด prothrombin เป็นโปรตีนที่สร้างจากตับ ช่วยในการแข็งตัวของเลือด หากตับมีความผิดปกติจะทำให้ขาด prothrombin จึงทำให้ระยะเวลาในการแข็งตัวของเลือดนานกว่าปกติ
  • การตรวจทางภูมิคุ้มกันวิทยา เป็นการตรวจหาสารที่เป็นองค์ประกอบของเชื้อไวรัส (antigen) หรือหาโปรตีนที่ร่างกายสร้างขึ้น เพื่อตอบสนองต่อการติดเชื้อไวรัส (antibody)
  • การตรวจหาสารพันธุกรรมของเชื้อไวรัสตับอักเสบ ซึ่งให้ผลแม่นยำกว่า และสามารถบอกปริมาณจากไวรัสได้

การตรวจหาไวรัสตับอักเสบเอ Hepatitis A Virus (HAV)

โรคไวรัสตับอักเสบเอ เกิดจากเชื้อไวรสกลุ่ม Picornavirus สามารถแพร่กระจายไปยังผู้อื่นได้ผ่านทางอาหาร เครื่องดื่ม หรือสิ่งที่ปนเปื้อนจากอุจจาระที่มีเชื้อ HAV โดยผู้ที่เคยติดเชื้อไวรัสตับอักเสบเอจะมีภูมิคุ้มกันตลอดชีวิตและจะไม่เป็นโรคนี้อีก และผู้ป่วยโรคไวรัสตับอักเสบเอมักจะไม่มีอาการรุนแรงมากนัก โดยไวรัสตับอักเสบเอจะไม่มีการติดต่อจากแม่ไปสู่ลูก

ลักษณะอาการเด่นๆ ของโรคไวรัสตับอักเสบเอคือ มีไข้อ่อนๆ เหนื่อยล้า อ่อนเพลีย เบื่ออาหาร ท้องผูกหรือท้องร่วง ปวดท้องด้านขวาบน ปวดเมื่อยตามกล้ามเนื้อ และอาจมีผื่นคัน แต่ถ้ามีอาการอักเสบเฉียบพลัน อาจมีอาการรุนแรง หรือมีภาวะแทรกซ้อน เช่น ภาวะตับวาย

ในการตรวจภูมิคุ้มกันต่อการติดเชื้อไวรัสตับอักเสบเอ หากตรวจได้ผลเป็นลบ (Negative) แสดงว่า ไม่มีการติดเชื้อไวรัสนี้มาก่อน และไม่เคยได้รับการฉีดวัคซีนป้องกันมาก่อน แต่หากผลเป็นบวก (Positive) แสดงว่าในร่างกายสามารถสร้างภูมิคุ้มกันต่อเชื้อไวรัสชนิดนี้ได้ หรืออาจเป็นภูมิคุ้มกันจากวัคซีนที่เคยฉีดป้องกันไวรัสตับอักเสบเอ

การตรวจหาไวรัสตับอักเสบบี Hepatitis B Virus (HBV)

เป็นไวรัสตับอักเสบชนิดที่พบได้บ่อยที่สุด และเป็นไวรัสที่มีความรุนแรงมาก ซึ่งเป็นสาเหตุที่นำไปสู่อาการตับแข็ง เกิดเป็นแผลถาวรที่ตับ กลายเป็นตับวายและโรคมะเร็งตับในที่สุด ไวรัสตับอักเสบบีเป็นไวรัสที่สามารถติดต่อได้ทางเลือด สารคัดหลั่ง การใช้เข็มฉีดยาร่วมกัน การมีเพศสัมพันธ์ และสามารถติดต่อจากแม่สู่ลูกขณะตั้งครรภ์

อาการส่วนใหญ่ที่พบในคนที่ป่วยเป็นโรคไวรัสตับอักเสบบีมีดังนี้ ในระยะที่เชื้อฟักตัวประมาณ 2-3 เดือน จะมีอาการอ่อนเพลีย มีไข้ คลื่นไส้ อาเจียน มีอาการจุกแน่นใต้ชายโครงขวา(ตับโต) ปัสสาวะสีเข้ม ตาเหลือง อาการเหล่านี้จะค่อยๆ ทุเลาภายใน 2-3 สัปดาห์ เพราะร่างกายจะค่อยๆ กำจัดเชื้อ และสร้างภูมิคุ้มกันเพื่อป้องกันการติดเชื้อซ้ำอีก แต่ในกรณีที่ไม่สามารถกำจัดเชื้อได้ ผู้ป่วยจะกลายเป็นโรคไวรัสตับอักเสบเรื้อรัง และมีภาวะแทรกซ้อนระยะยาวได้

ในการตรวจหาไวรัสตับอักเสบบี สามารถทำได้โดยการตรวจหาส่วนประกอบของเชื้อและภูมิคุ้มกันต่อเชื้อทั้งหมด 5 ชนิดได้แก่ HBsAg, HBsAb, Anh HBc IgG, Anh HBc IgM, HBV DNA (viral load) ปริมาณจำนวนเชื้อไวรัส, HBeAg และ HBeAb

การตรวจหาไวรัสตับอักเสบซี Hepatitis C Virus (HCV)

การแพร่กระจายเชื้อไวรัสตับอักเสบซี สามารถติดต่อได้ลักษณะเดียวกับไวรัสตับอักเสบบีคือ ทางเลือด สารคัดหลั่ง การใช้เข็มฉีดยาร่วมกัน การมีเพศสัมพันธ์โดยไม่ป้องกัน และสามารถติดต่อจากแม่สู่ทารก โดยส่วนใหญ่ผู้ป่วยโรคไวรัสตับอักเสบซีจะไม่ทราบว่าตนเองป่วยเพราะไม่มีอาการ จะทราบก็ต่อเมื่ออาการแสดงในช่วงเวลาที่ตับได้รับความเสียหายมากแล้ว ในระยะเรื้อรังหากไม่ได้รับการรักษา การติดเชื้อสามารถทำให้เกิดโรคตับแข็งได้

ลักษณะอาการที่อาจพบได้คือ รู้สึกเหนื่อยตลอดเวลา ปวดกล้ามเนื้อ มีไข้ มีปัญหาเรื่องความจำ อารมณ์แปรปรวนง่าย ซึมเศร้า น้ำหนักลด ท้องอืด ปวดท้อง ปัสสาวะสีเข้ม มีผื่นคัน เลือดออกง่ายเขียวช้ำ ขาบวม เป็นต้น

ในการตรวจหาไวรัสตับอักเสบซีคือ การตรวจหาภูมิต่อเชื้อไวรัสตับอักเสบชนิดซี บ่งบอกถึงภาวการณ์ติดเชื้อหรือเคยติดเชื้อไวรัสตับอักเสบซี ทั้งเฉียบพลันและเรื้อรัง อาจมีเชื้ออยู่ในกระแสเลือดและสามารถแพร่สู่บุคคลอื่นได้

การตรวจหาไวรัสตับอักเสบดี Hepatitis D Virus (HDV)

ไวรัสตับอักเสบดีจะพบในผู้ป่วยที่มีไวรัสตับอักเสบบีร่วมด้วย เนื่องจากเป็นไวรัสที่ไม่สมบูรณ์ ต้องอาศัยเปลือกของไวรัสตับอักเสบบีหุ้ม เป็นการติดเชื้อไวรัสพร้อมกันหรือตามหลังไวรัสตับอักเสบบีก็ได้ เมื่อมีการติดเชื้อร่วมกัน อาการของโรคมักรุนแรงจนเกิดตับวายถึงขั้นเสียชีวิต การติดต่อของเชื้อไวรัสตับอักเสบดี เกิดจากการสัมผัสเลือดที่มีเชื้อโดยตรง เช่น การใช้เข็มฉีดยาร่วมกัน หรือการรับเลือด และการสัมผัสทางอ้อม เช่น การมีเพศสัมพันธ์ หรือการสัมผัสสิ่งของที่มีเชื้ออยู่

ผู้ป่วยที่ได้รับเชื้อไวรัสตับอักเสบดี มักมีอาการของโรคแบบเฉียบพลันและแบบเรื้อรัง โดยแบบเฉียบพลันจะมีอาการเหนื่อย เฉื่อยชา ไม่อยากอาหาร มีลักษณะดีซ่าน และปัสสาวะและอุจจาระมีสีเปลี่ยนไป ผู้ป่วยที่ติดเชื้อไวรัสตับอักเสบดีมักจะหายจากการติดเชื้อได้เอง หากไม่หายได้เองจะกลายเป็นการติดเชื้อแบบเรื้อรัง ซึ่งมีอาการแสดงคล้ายแบบเฉียบพลันแต่รุนแรงน้อยกว่า และถึงแม้ว่าจะมีอาการน้อยกว่าแต่ก็สร้างความเสียหายแก่ตับได้เช่นกัน

การตรวจหาเชื้อไวรัสตับอักเสบดี ทำได้โดยการตรวจหา Anti-Body ต่อเชื้อชนิด IgM ในการวินิจฉัยโรคตับอักเสบบีร่วมกับตับอักเสบดี ผลเลือดที่ได้จะให้ค่า HbAg, IgM anti-HDV, IgG anti-HDV ที่เป็นผลบวก และผู้ป่วยที่เป็นโรคตับอักเสบบีอยู่ก่อนแล้ว แต่ได้รับเชื้อไวรัสตับอักเสบดีภายหลัง จะตรวจเลือดพบลักษณะดังนี้ 1. ปริมาณของเชื้อไวรัสตับอักเสบบี (HbAg) จะมีปริมาณน้อย 2. พบ HDAg และ HDV RNA ในกระแสเลือด 3. พบ IgM และ IgG anti-HDV ปริมาณสูงในกระแสเลือด

ถึงแม้ปัจจุบันยังไม่มีวัคซีนป้องกันไวรัสตับอักเสบดี แต่ยังมีวัคซีนสำหรับไวรัสตับอักเสบบี และเนื่องจากการเกิดโรคตับอักเสบดีต้องอาศัยการติดเชื้อไวรัสอักเสบบีมาก่อน เพราะฉะนั้นการได้รับวัคซีนป้องกันไวรัสตับอักเสบบีจะช่วยป้องกันการติดเชื้อทั้งสองสายพันธุ์ได้

การตรวจหาไวรัสตับอักเสบอี Hepatitis E Virus (HEV)

โรคตับอักเสบอี เป็นการติดเชื้อไวรัสที่ตับและทำให้ตับเกิดการอักเสบ มีลักษณะคล้ายไวรัสตับอักเสบเอคือ ไม่เป็นโรคเรื้อรังเหมือนโรคไวรัสตับอักเสบบี ซี และดี และเมื่อร่างกายต่อสู้กับการติดเชื้อแล้วก็จะหายเป็นปกติ การแพร่เชื้อของโรคไวรัสตับอักเสบอี เกิดจากอาหาร น้ำดื่ม หรืออุจจาระที่มีการปนเปื้อน

อาการแสดงที่อาจสังเกตได้คือ ผิวเหลือง ตาขาว(ดีซ่าน) ปัสสาวะสีเข้ม อุจจาระสีอ่อน กดเจ็บบริเวณชายโครงด้านขวา(ตำแหน่งของตับ) ปวดช่องท้อง คลื่นไส้ และมีไข้

การตรวจหาไวรัสตับอักเสบอี เป็นการใช้วิธีตรวจหาภูมิคุ้มกันไวรัสตับอักเสบอี ได้แก่ Anti HEV IgM ซึ่งบ่งบอกภาวะการติดเชื้อเฉียบพลัน และ Anti HEV IgG บ่งบอกว่าร่างกายเคยได้รับเชื้อไวรัสตับอักเสบบี และสร้างภูมิคุ้มกันขึ้นแล้ว

การเตรียมตัวก่อนการตรวจเลือด

  • พักผ่อนให้เพียงพอ
  • งดอาหารก่อนการเจาะเลือด 8 ชั่วโมง
  • งดดื่มสุรา งดยาบางชนิด(ควรปรึกษาแพทย์ก่อนการตรวจ)
  • หากมีการตั้งครรภ์ หรือมีการแพ้ยา หรือกำลังใช้ยาใดๆ อยู่ ควรแจ้งให้แพทย์ทราบก่อน

ขั้นตอนในการตรวจหาเชื้อไวรัสตับอักเสบ

  • การเจาะเลือด จะใช้ปริมาณเลือดประมาณ 5 มิลลิลิตร
  • จากนั้นส่งตัวอย่างเลือดไปยังห้องปฏิบัติการ และปั่นแยกซีรั่มส่งตรวจหา ALT, AST, Bilirubin และ AP(Alkaline phosphatase) ตรวจทางภูมิคุ้มกันวิทยา(ตรวจหาไวรัสตับอักเสบชนิดต่างๆ) และตรวจหาสารพันธุกรรมของเชื้อไวรัสตับอักเสบ

การตรวจหาไวรัสตับอักเสบ นอกจากจะเป็นวิธีที่จะช่วยคัดกรองโรคแล้ว ยังสามารถช่วยป้องกันการแพร่กระจายโรคได้เป็นอย่างดี ซึ่งยังมีการอื่นๆ อีกหลากหลายวิธีที่จะเป็นการตรวจเช็คสุขภาพตับอีกด้วย อาทิ การเจาะเลือดตรวจการทำงานของตับ (LFT) การตรวจหาภูมิคุ้มกันไวรัส การตรวจค่ามะเร็งตับ  และ การอัลตราซาวนด์ดูตับ  ส่วนจะเป็นการตรวจวิธีใด หรือเป็นการตรวจร่วมกันหลายวิธีนั้น แพทย์ผู้ชำนาญการจะเป็นผู้ให้คำแนะนำและการรักษาที่เหมาะสมกับผู้ที่เข้ารับการตรวจแต่ละราย

ปัจจุบันมีการรักษาไวรัสตับอักเสบบีและซีให้หายขาดได้ ดังนั้นผู้ป่วยที่มีเชื้อไวรัสตับอักเสบบีและซี แนะนำให้พบแพทย์เพื่อทำการรักษาอย่างถูกต้อง ท่านเองก็สามารถป้องกันและดูแลตัวเองให้ห่างไกลจากโรคไวรัสตับอักเสบได้ ด้วยการรับประทานอาหารที่มีประโยชน์ ดื่มน้ำสะอาดมากๆ พักผ่อนให้เพียงพอ ออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ การรักษาความสะอาดด้วยการล้างมือหลังเข้าห้องน้ำ หรือก่อนหยิบจับอาหารเข้าปาก หลีกเลี่ยงปัจจัยเสี่ยงที่จะติดเชื้อไวรัสตับอักเสบ เช่น ก่อนแต่งงานและก่อนวางแผนจะมีบุตร ควรตรวจสุขภาพ การใส่ถุงยางอนามัยก่อนมีเพศสัมพันธ์ และปรึกษาแพทย์เรื่องการฉีดวัคซีนป้องกัน รวมไปถึงการเข้ารับการตรวจสุขภาพประจำปี และหากมีอาการผิดปกติใดๆ เกิดขึ้น หรือสงสัยว่าตนเองเป็นโรคไวรัสตับอักเสบ ควรเข้ารับการตรวจจากแพทย์ผู้ชำนาญการ

แพทย์ประจำศูนย์ทางเดินอาหารและตับ

เพิ่มเติม

หัตถการของศูนย์ทางเดินอาหารและตับ

เกร็ดความรู้

เพิ่มเติม