chat

การตรวจระบบทางเดินอาหารด้วยการสวนแป้ง

การตรวจระบบทางเดินอาหารด้วยการสวนแป้ง (การตรวจทางรังสี) Lower GI series

นอกจากการตรวจระบบทางเดินอาหารส่วนบนด้วย การกลืนแป้ง(Barium swallowing) ซึ่งเป็นการตรวจหลอดอาหาร กระเพาะอาหารและลำไส้ส่วนต้นแล้ว ยังมีการตรวจทางรังสีอีกหนึ่งวิธีที่ช่วยให้แพทย์ผู้ชำนาญการที่สงสัยว่าคนไข้อาจกำลังมีปัญหาเกี่ยวกับลำไส้ใหญ่ สามารถหาสาเหตุ วินิจฉัยอาการและโรคต่างๆ ภายในลำไส้ใหญ่ นั่นก็คือ เทคนิคการสวนแป้งแบเรียมซัลเฟต (Barium Sulfate)

โดยแพทย์ผู้ชำนาญการแนะนำให้ผู้ที่มีอายุตั้งแต่ 50 ปีขึ้นไป หรือมีประวัติมะเร็งลำไส้ใหญ่ เข้ารับการตรวจเพื่อคัดกรองความผิดปกติได้ตั้งแต่เนิ่นๆ ซึ่งหากพบความผิดปกติใดๆ เกิดขึ้นก็จะสามารถเป็นแนวทางไปสู่การรักษาที่ถูกต้องและเหมาะสมได้อย่างทันท่วงที

เทคนิคการสวนแป้ง (Barium enema)

เป็นการตรวจระบบทางเดินอาหารส่วนล่าง หรือลำไส้ใหญ่ โดยการสวนแป้งแบเรียมซัลเฟต (Barium Sulfate) ซึ่งเป็นสารทึบรังสีเข้าทางทวารหนัก เพื่อให้แป้งเคลือบผนังลำไส้ใหญ่ และใส่ลมเพื่อให้ลำไส้ขยายตัว ทำให้เห็นผนังลำไส้ได้อย่างชัดเจน จากนั้นถ่ายภาพเอกซเรย์ เพื่อตรวจดูความผิดปกติของลำไส้ใหญ่ เช่น ติ่งเนื้อ ก้อนเนื้อ เป็นต้น และยังสามารถหาสาเหตุของอาการผิดปกติต่างๆ เช่น มีเลือดออกปนกับอุจจาระ หรือระบบขับถ่ายที่มีความเปลี่ยนแปลงอยู่บ่อยๆ อย่างอาการท้องผูกบ่อย ท้องผูกสลับท้องเสีย ถ่ายเป็นมูกเลือด และน้ำหนักลด เป็นต้น โดยระหว่างการตรวจด้วยการสวนแป้งนี้ ผู้เข้ารับการตรวจจะไม่รู้สึกเจ็บปวดใดๆ นอกจากอาจจะรู้สึกอึดอัดเพียงเล็กน้อยระหว่างการปั๊มอากาศเข้าไปในลำไส้ใหญ่ จะรู้สึกคล้ายๆ เวลาท้องอืดหรือปวดท้องเพียงแค่ชั่วขณะเท่านั้น

ข้อควรระวัง ผู้ที่ตั้งครรภ์ห้ามทำการตรวจด้วยเทคนิคการสวนแป้ง เพราะสารทึบแสงและการเอกซเรย์มีผลต่อทารกในครรภ์ รวมไปถึงในผู้ที่เป็นโรคเบาหวานควรแจ้งแพทย์ให้ทราบก่อน

ภาวะในการตรวจระบบทางเดินอาหารส่วนล่าง

  • เนื้องอกในลำไส้ใหญ่
  • การอักเสบที่ลำไส้ใหญ่ หรือโรคโครห์น (ลำไส้อักเสบเรื้อรัง)
  • โรคถุงผนังลำไส้ใหญ่อักเสบ
  • มะเร็งลำไส้ใหญ่

การเตรียมตัวก่อนเข้ารับการตรวจลำไส้ใหญ่ด้วยเทคนิคสวนแป้ง

  • ก่อนเข้ารับการตรวจประมาณ 2-3 วัน ผู้เข้ารับการตรวจควรรับประทานอาหารอ่อนๆ เช่น โจ๊ก ซุปใส ขนมปัง หรือเนื้อสัตว์ที่ไม่มีไขมัน เป็นต้น
  • ก่อนเข้ารับการตรวจแพทย์ผู้ชำนาญการมักจะให้ผู้เข้ารับการตรวจทานยาระบายก่อน เพื่อเป็นการทำให้ลำไส้สะอาดมากที่สุด ช่วยให้เห็นผนังลำไส้ใหญ่ได้อย่างชัดเจน เพราะลำไส้ใหญ่เป็นทางออกของอุจจาระ จึงมีอุจจาระอยู่มาก ทำให้บดบังผนังลำไส้ใหญ่
  • ควรดื่มน้ำสะอาดให้มากๆ เพื่อชดเชยน้ำที่เสียไปในระหว่างการระบายลำไส้
  • ก่อนเข้ารับการตรวจ 6-8 ชั่วโมง จำเป็นต้องงดน้ำและอาหาร

หมายเหตุ ในวันนัดหมายตรวจ หากมีฟิล์มเอกซเรย์เก่า ควรนำมาให้เจ้าหน้าที่ด้วย

ขั้นตอนการตรวจด้วยเทคนิคสวนแป้ง

  • ผู้เข้ารับการตรวจเปลี่ยนเสื้อผ้าที่โรงพยาบาลจัดเตรียมไว้ให้
  • เจ้าหน้าที่จะทำการสอดท่ออ่อนขนาดเล็กซึ่งมีขนาดยาวเพียงไม่กี่เซนติเมตรเข้าทางทวารหนัก โดยแป้งแบเรียมจะถูกฉีดผ่านสายที่สอดอยู่ ผู้เข้ารับการตรวจต้องเกร็งและขมิบกล้ามเนื้อหูรูดไว้ เพื่อไม่ให้สารที่ฉีดไปไหลออกมา จากนั้นเจ้าหน้าที่จะบอกให้ผู้เข้ารับการตรวจพลิกตัวไปมา เพื่อให้แป้งแบเรียมเคลือบภายในลำไส้ทั่วๆ กัน และมีการปั๊มอากาศเข้าไปให้ลำไส้มีการขยายตัว ระหว่างการตรวจอาจรู้สึกแน่นท้อง คล้ายๆ ปวดอุจจาระ ให้กลั้นเอาไว้ก่อน
  • หลังจากนั้นเจ้าหน้าที่จะถ่ายภาพเอกซเรย์ ใช้เวลาประมาณ 20-30 นาที
  • หลังจากทำการตรวจเอกซเรย์เสร็จเรียบร้อยแล้ว เจ้าหน้าที่จะดึงท่อออกจากทวารหนัก ผู้เข้ารับการตรวจอาจปวดอุจจาระ สามารถเข้าห้องน้ำเพื่อถ่ายอุจจาระได้ เมื่อเสร็จแล้วสามารถเปลี่ยนเสื้อผ้าและเดินทางกลับบ้านได้

ผลข้างเคียงของการตรวจด้วยการสวนแป้ง

โดยทั่วไปสารทึบรังสีหรือแป้งแบเรียมจะถูกขับถ่ายออกมาได้เองภายในเวลา 1-2 วัน และจะไม่ถูกดูดซึมหรือตกค้างอยู่ในร่างกาย

การปฏิบัติตัวหลังการตรวจ

  • หลังการตรวจ ผู้เข้ารับการตรวจสามารถรับประทานอาหารได้ตามปกติ
  • รับประทานอาหารประเภทกากใยมากๆ และดื่มน้ำเยอะๆ ในช่วง 2-3 วันแรก เพื่อป้องกันไม่ให้แป้งแบเรียมตกค้างจนอาจทำให้เกิดอาการท้องผูกได้

การตรวจระบบทางเดินอาหารส่วนล่างด้วยเทคนิคสวนแป้ง เป็นวิธีที่ไม่สร้างความเจ็บปวด เป็นกระบวนการที่ปลอดภัย มีความเสี่ยงและผลข้างเคียงน้อยมากและไม่เป็นอันตราย นอกจากนี้ยังมีการตรวจหาความผิดปกติของระบบทางเดินอาหารด้วยเทคนิคอื่นๆ อีก เช่น การตรวจทางรังสีด้วย การกลืนแป้ง(Upper GI series)การตรวจอัลตราซาวนด์ (Ultrasound)การตรวจเอกซเรย์คอมพิวเตอร์ (CT-Scan) และการส่องกล้อง(Scope) ทั้งนี้จะเป็นการตรวจแบบใดแบบหนึ่งหรือการตรวจหลายวิธีร่วมด้วยนั้น แพทย์ผู้ชำนาญการจะเป็นผู้แนะนำการตรวจตามความเหมาะสมของคนไข้แต่ละราย

แพทย์ประจำศูนย์ทางเดินอาหารและตับ

เพิ่มเติม

หัตถการของศูนย์ทางเดินอาหารและตับ

เกร็ดความรู้

เพิ่มเติม