chat

การตรวจระบบทางเดินอาหารด้วยการกลืนแป้ง

การตรวจระบบทางเดินอาหารด้วยการกลืนแป้ง Upper GI study

การตรวจทางรังสีถูกใช้ในการตรวจระบบทางเดินอาหารได้ทั้งส่วนบนและส่วนล่าง โดยมีนักรังสีวิทยา รังสีแพทย์หรือช่างรังสีเทคนิคเป็นผู้ดำเนินการ ในการตรวจทางรังสีจะเป็นการตรวจด้วยสารทึบแสง โดยการกลืนแป้งแบเรียมซัลเฟต (Barium Sulfate) ร่วมกับการเอกซเรย์ (X-Ray) เพื่อดูการเคลื่อนไหวและหาความผิดปกติของอวัยวะต่างๆ ในระบบทางเดินอาหาร เพื่อที่แพทย์ผู้ชำนาญการสามารถประเมินอาการ วินิจฉัยโรคที่อาจเกิดขึ้นได้จากความผิดปกติต่างๆ และหาแนวทางการรักษาที่ถูกต้องและเหมาะสมกับคนไข้ในแต่ละราย

เทคนิคการกลืนแป้ง (Barium swallowing technique)

เป็นเทคนิคการตรวจหลอดอาหาร กระเพาะอาหารและลำไส้ส่วนต้น โดยผู้เข้ารับการตรวจจะต้องกลืน “แป้งแบเรียมซัลเฟต” (Barium Sulfate) ซึ่งเป็นสารทึบรังสีที่ทำหน้าที่เคลือบผนังส่วนต่างๆ ของอวัยวะ และถ่ายภาพเอกซเรย์ระบบทางเดินอาหารส่วนต้น ตั้งแต่บริเวณลำคอ หลอดอาหาร กระเพาะอาหาร ไปจนถึงส่วนต้นของลำไส้เล็ก เพื่อตรวจดูความเคลื่อนไหวของกระเพาะอาหารและลำไส้ รวมถึงหาความผิดปกติต่างๆ เช่น แผล รอยรั่ว ก้อนเนื้อ การตีบตัน/อุดตัน การอักเสบของหลอดอาหาร กระเพาะอาหาร และลำไส้เล็กส่วนต้น เป็นต้น และเพื่อหาสาเหตุของอาการอาเจียน ปวดท้อง รวมถึงหาสาเหตุของการเกิดมะเร็งในระยะเริ่มต้น

ภาวะในการตรวจระบบทางเดินอาหารส่วนบน

  • มีแผลหรือเนื้องอกในกระเพาะอาหาร
  • ผู้ที่คลำเจอก้อนได้ในช่องท้องส่วนบน
  • ผู้ที่เป็นโรคตับหรือตับอ่อน ในคนไข้บางรายที่แพทย์ต้องการตรวจดูความผิดปกติของกระเพาะอาหารและลำไส้เล็กส่วนบน
  • ผู้ที่เป็นมะเร็งแพร่กระจายไปยังที่อื่น และสงสัยว่าสาเหตุมาจากกระเพาะอาหาร

ข้อควรระวัง ผู้ที่ตั้งครรภ์ห้ามทำการตรวจด้วยเทคนิคการกลืนแป้ง เพราะสารทึบแสงและการเอกซเรย์มีผลต่อทารกในครรภ์

การตรวจเอกซเรย์หลอดอาหาร เป็นการให้ผู้เข้ารับการตรวจกลืนแป้ง และเอกซเรย์ขณะที่กลืนแป้ง เพื่อดูการเคลื่อนตัวของแป้งที่กลืนจากหลอดอาหารลงสู่กระเพาะอาหาร ดูความผิดปกติของการกลืน หรือความผิดปกติของหลอดอาหาร เช่น อาการกลืนลำบาก กลืนติด สำลักอาหารบ่อยๆ เป็นต้น ในการเตรียมตัวก่อนการตรวจเอกซเรย์หลอดอาหารนั้น ผู้เข้ารับการตรวจไม่จำเป็นต้องงดน้ำและอาหาร

การตรวจเอกซเรย์กระเพาะอาหารและลำไส้เล็กส่วนต้น เป็นการตรวจโดยการกลืนแป้งและเอกซเรย์ เพื่อดูความผิดปกติของหลอดอาหาร กระเพาะอาหาร และลำไส้เล็กส่วนต้น ส่วนอาการผิดปกติที่มักพบได้และจำเป็นต้องมาตรวจได้แก่ อาการปวดท้องบ่อยๆ น้ำหนักตัวลด เบื่ออาหาร และการสงสัยในพยาธิสภาพของกระเพาะอาหาร เช่น แผลในกระเพาะ หรือโรคมะเร็ง ในการเตรียมตัวก่อนเข้ารับการตรวจ ผู้เข้ารับการตรวจควรงดน้ำและอาหารก่อนตรวจอย่างน้อย 6-8 ชั่วโมง

การตรวจเอกซเรย์ลำไส้เล็ก โดยให้ผู้เข้ารับการตรวจกลืนแป้งและเอกซเรย์เป็นระยะทุก 30-60 นาที จนกว่าจะเห็นในส่วนของลำไส้เล็กทั้งหมด อาการผิดปกติที่ควรมาตรวจคือ มีเลือดออกในทางเดินอาหาร ปวดท้อง ท้องเสียบ่อยๆ เรื้อรัง น้ำหลักลด หรืออาจคลำเจอก้อนได้ที่บริเวณท้อง โดยก่อนการตรวจ ผู้เข้ารับการตรวจต้องงดน้ำและอาหารอย่างน้อย 6-8 ชั่วโมง

หมายเหตุ ในวันนัดหมายตรวจ หากมีฟิล์มเอกซเรย์เก่า ควรนำมาให้เจ้าหน้าที่ด้วย

ขั้นตอนการตรวจด้วยเทคนิคกลืนแป้ง

  • ผู้เข้ารับการตรวจเปลี่ยนเสื้อผ้าที่โรงพยาบาลจัดเตรียมไว้ให้
  • รังสีแพทย์จะให้ผู้เข้ารับการตรวจอมและดื่มแป้ง (100 cc.สำหรับการตรวจกระเพาะอาหาร, 300 cc. สำหรับการตรวจกระเพาะอาหารและลำไส้เล็ก) ตามที่รังสีแพทย์บอก โดยรังสีแพทย์จะทำการเอกซเรย์ ในขณะเดียวกันผู้เข้ารับการตรวจจะต้องเคลื่อนตัวเปลี่ยนท่าตามที่รังสีแพทย์บอก กรณีการตรวจกระเพาะอาหาร รังสีแพทย์จะบอกให้ผู้รับการตรวจหยุดหายใจ และกลั้นหายใจทันที ทั้งนี้เพื่อให้ได้ภาพเอกซเรย์ที่ชัดเจนง่ายต่อการวินิจฉัย
  • กรณีที่ตรวจกระเพาะอาหารและลำไส้เล็ก ผู้เข้ารับการตรวจต้องดื่มแป้งเพิ่มอีก 1 แก้ว และนั่งรอตามระยะเวลา (รอให้แป้งแบเรียมไหลลงสู่กระเปาะลำไส้ใหญ่) เพื่อเอกซเรย์ทุก 15 นาที ต่อมาทุก 30 นาที เนื่องจากลำไส้เล็กมีขนาดยาวมาก

ผลข้างเคียงของการตรวจด้วยการกลืนแป้ง

หลังการตรวจด้วยการกลืนแป้ง แป้งแบเรียมซัลเฟตอาจทำให้เกิดอาการท้องผูกได้ แพทย์อาจให้รับประทานยาระบายก่อนนอน และแนะนำให้ดื่มน้ำตามมากๆ

การปฏิบัติตัวหลังการตรวจ

  • ผู้เข้ารับการตรวจทำความสะอาดช่องปาก (จากการดื่มแป้งแบเรียมซัลเฟตอาจติดอยู่ตามซอกเหงือก ซอกฟัน และกระพุ้งแก้ม)
  • หลังการตรวจสามารถรับประทานอาหารได้ตามปกติ
  • ปกติแล้วร่างกายจะสามารถขับแป้งแบเรียมซัลเฟตที่กลืนไปออกมาพร้อมกับอุจจาระได้ในเวลา 1-2 วัน และจะไม่ถูกดูดซึมหรือตกค้างอยู่ในร่างกาย
  • กรณีที่ผู้เข้ารับการตรวจถ่ายลำบากหรือท้องผูก ควรรับประทานอาหารประเภทผักผลไม้ อาหารที่มีเส้นใยสูง รวมถึงดื่มน้ำมากๆ เพื่อช่วยในการขับถ่าย

การตรวจระบบทางเดินอาหาร เป็นการตรวจดูระบบและการทำงานของอวัยวะต่างๆ ในทางเดินอาหารทั้งส่วนบนและส่วนล่าง เพื่อการประเมินอาการต่างๆ รวมไปถึงการวินิจฉัยโรคที่อาจเกิดขึ้นจากความผิดปกติ ซึ่งนอกจากการตรวจระบบทางเดินอาหารทางรังสี อย่างการกลืนแป้ง(Upper GI series) แล้ว ยังมีวิธีการตรวจหาความผิดปกติของลำไส้ใหญ่ทางรังสี ด้วยการสวนแป้ง (Lower GI series) และการตรวจระบบทางเดินอาหารอื่นๆ อีก อาทิ การตรวจเอกซเรย์คอมพิวเตอร์ (CT-Scan)การอัลตราซาวนด์ (Ultrasound) และการส่องกล้อง(Scope)ทั้งนี้จะเป็นการตรวจแบบใดแบบหนึ่งหรือการตรวจหลายวิธีร่วมด้วยนั้น แพทย์ผู้ชำนาญการจะเป็นผู้แนะนำการตรวจตามความเหมาะสมของคนไข้แต่ละราย

แพทย์ประจำศูนย์ทางเดินอาหารและตับ

เพิ่มเติม

หัตถการของศูนย์ทางเดินอาหารและตับ