chat

การดูแลทารกแรกเกิด

การดูแลทารกแรกเกิด

การตั้งครรภ์เป็นเรื่องที่น่ายินดีสำหรับทุกคนในครอบครัว เพราะจะมีสมาชิกใหม่ตัวน้อยๆ เพิ่มขึ้นมาในบ้าน คุณแม่ที่กำลัง ตั้งครรภ์ นอกจากจะมีความรู้สึกตื่นเต้นกับวันคลอดที่ใกล้จะมาถึงแล้ว ยังมีความกังวลในเรื่องการดูแลลูกหลังคลอดด้วย โดยเฉพาะคุณแม่มือใหม่และคุณแม่ที่ต้องเลี้ยงลูกคนเดียว การเตรียมตัวให้พร้อมก่อนถึงวันคลอดจะช่วยลดความวิตกกังวลและสร้างความมั่นใจในการเลี้ยงดูทารกแรกเกิดได้

ทารกแรกเกิด หมายถึง ทารกที่มีอายุตั้งแต่แรกเกิด ถึง 1 เดือน ช่วงชีวิตนี้เป็นระยะที่มีความสำคัญ เพราะทารกมีการเปลี่ยนแปลงสภาพแวดล้อมจากภายในครรภ์มารดาออกมาสู่สภาพแวดล้อมภายนอก จึงต้องมีการปรับตัวเป็นอย่างมากเพื่อให้เข้ากับสิ่งแวดล้อมภายนอกครรภ์มารดา ทั้งยังเป็นวัยแห่งการสร้างรากฐานการพัฒนาบุคลิกภาพในอนาคต ดังนั้น คุณแม่จึงต้องดูแลเอาใจใส่อย่างใกล้ชิดเป็นพิเศษ

โดยหลักแล้ว การดูแลทารกแรกเกิด มีสองเรื่องด้วยกัน คือการดูแลทางด้านร่างกายและการดูแลทางด้านจิตใจ การดูแลทางด้านร่างกาย คือ เรื่องโภชนาการอาหาร, การให้ทารกนอนหลับพักผ่อนอย่างเพียงพอ ในสถานที่ที่สะอาด อากาศถ่ายเทสะดวก และปลอดภัย, การดูแลระบบขับถ่าย, การดูแลความสะอาด, การดูแลสุขภาพร่างกายให้อบอุ่นแข็งแรง และการดูแลเรื่องระบบทางเดินหายใจ

สำหรับการดูแลทางด้านจิตใจ คือ การเลี้ยงดูทารกแรกเกิดด้วยความรักและความอบอุ่น ซึ่งจะเป็นการสร้างพื้นฐานทางด้านจิตใจที่ดีให้กับลูกตั้งแต่ยังเล็ก และจะมีผลต่อเนื่องไปจนกระทั่งเขาเติบโตเป็นผู้ใหญ่ การดูแลทารกแรกเกิดในเรื่องต่างๆ มีรายละเอียดดังนี้

อาหารสำหรับทารกแรกเกิด

องค์การอนามัยโลกแนะนำ “ให้นมแม่อย่างเดียว 6 เดือน และนมแม่ร่วมกับอาหารเสริมนานจนถึง 2 ปี หรือมากกว่า” เพราะ น้ำนมแม่  เป็นอาหารที่ดีที่สุดสำหรับทารก และสารอาหารในนมแม่ไม่สามารถทดแทนได้ด้วยนมผสม คุณแม่ควรให้ลูกดูด นมแม่ ทันทีหลังคลอด และให้ดูด 8-12 ครั้งต่อวัน ก่อนให้นมคุณแม่ต้องล้างมือทุกครั้ง ส่วนหัวนมทำความสะอาดเวลาเช้าและเย็นขณะอาบน้ำก็เพียงพอแล้ว

การให้นมลูกควรให้ในสถานที่ที่สงบและสะอาด ควรนวดเต้านมและลานหัวนมให้นิ่ม และบีบน้ำนมออกประมาณ 2-3 หยดก่อนให้ลูกดูด จัดท่าทางให้สบาย โดยคุณแม่อุ้มลูกตะแคงเข้าหาตัว ให้ปากของลูกอยู่ตรงหัวนม มืออีกข้างประคองเต้านม แล้วใช้หัวนมกระตุ้นริมฝีปากลูกให้ลูกอ้าปาก จากนั้นเคลื่อนลูกเข้าหาเต้านมโดยเร็ว ให้ลูกอมหัวนมให้ลึกถึงลานหัวนม และลิ้นอยู่ใต้ลานนม เมื่อลูกอิ่มแล้วจะถอนปากออกจากหัวนมเอง แต่ถ้าอิ่มแล้วยังอมหัวนมอยู่ ให้คุณแม่ใช้นิ้วกดคางเบาๆ หรือใช้นิ้วก้อยสอดเข้ามุมปากของลูกเล็กน้อย แล้วจึงดึงหัวนมออก

การอุ้มทารกแรกเกิด

การอุ้มทารกแรกเกิดมี 3 แบบ คือ การอุ้มในท่าปกติ การอุ้มเรอ และการอุ้มปลอบ (1) การอุ้มในท่าปกติ ทำได้โดยคุณแม่อุ้มทารกตะแคงเข้าหาทางหน้าอก ให้ท้ายทอยของทารกอยู่บนข้อพับแขนของคุณแม่ วางทอดแขนไปตามลำตัวของทารก อีกมืออุ้มช้อนส่วนก้นและช่วงขา ลำตัวทารกแนบชิดกับลำตัวของแม่ ให้ศีรษะ คอ และลำตัว อยู่ในแนวเดียวกัน (2) การอุ้มเรอ มีสองท่าคือท่าอุ้มพาดบ่า ให้หน้าท้องของทารกกดบริเวณไหล่ของแม่เพื่อไล่ลม และท่าอุ้มนั่งบนตัก โดยให้ทารกหันหน้าออก มือข้างหนึ่งของแม่จับที่หน้าอกของทารก ส่วนมืออีกข้างลูบหลัง ขณะลูบให้โน้มตัวทารกไปข้างหน้าเล็กน้อย เพื่อให้หน้าท้องถูกกดและไล่ลมออก (3) การอุ้มปลอบ คล้ายกับการอุ้มเรอ แต่คุณแม่พูดคุยกับทารกไปด้วยเพื่อให้ทารกรู้สึกสงบและปลอดภัย

การอาบน้ำทารกแรกเกิด

การอาบน้ำทารกแรกเกิดต้องระวังในเรื่องของสถานที่และเวลาในการอาบ ควรอาบในบริเวณที่ไม่มีลมโกรก อาบวันละสองครั้งและสระผมวันละครั้ง (หรือตามสภาพอากาศ) ในช่วงสายๆ หรือบ่ายๆ ขณะที่มีอากาศอบอุ่น ควรอาบประมาณ 5-7 นาทีก็เพียงพอแล้ว เพราะถ้าอาบนานเกินไปจะทำให้ทารกไม่สบายได้ และไม่ควรอาบน้ำทันทีหลังให้นมแม่

ก่อนอาบคุณแม่ต้องล้างมือและแขนให้สะอาด ผสมน้ำอุ่นครึ่งอ่าง แล้วใช้ศอกจุ่มน้ำเพื่อทดสอบอุณหภูมิของน้ำให้อุ่นพอดี ทำความสะอาดบริเวณใบหน้า ใบหู ซอกหู และสระผมให้เรียบร้อยก่อนอาบน้ำ การอุ้มลูกอาบน้ำในอ่างทำได้โดยใช้มือจับที่รักแร้ของลูก ให้ไหล่ของลูกพาดบนแขนของแม่ เพื่อล็อกตัวลูกให้อยู่กับที่ป้องกันลูกหลุดมือ ใช้ฟองน้ำชุบน้ำลูบตัวทารกให้เปียก ใช้สบู่ลูบทำความสะอาดบริเวณซอกคอ แขน ลำตัว ขา แล้วล้างออกให้สะอาด จากนั้นเปลี่ยนมาทำความสะอาดบริเวณหลัง ก้น และขา ของทารก หากทารกตัวโตน้ำหนักมาก สามารถสระผมและถูสบู่บนเบาะ แล้วค่อยอุ้มลงล้างตัวในอ่างอาบน้ำได้

เมื่ออาบน้ำเสร็จแล้วให้อุ้มทารกขึ้นจากอ่างอย่างระมัดระวัง แล้วนำมาวางบนที่นอน ใช้ผ้าเช็ดตัวซับน้ำให้แห้ง ไม่เช็ดหรือถูแรงๆ ใช้สำลีชุบน้ำต้มสุกที่เย็นแล้วสองก้อน เช็ดทำความสะอาดตาของทารกทีละข้าง โดยเช็ดจากหัวตาไปหางตา ใช้สำลีชุบแอลกอฮอล์เช็ดทำความสะอาดสะดือ โดยเช็ดวนจากด้านในออกมาด้านนอก เสร็จแล้วจึงสวมเสื้อผ้าให้ทารกให้เหมาะกับฤดูกาลและสภาพอากาศ และห่อตัวด้วยผ้าขนหนูเพื่อสร้างความอบอุ่นให้ร่างกาย

การดูแลสุขภาพช่องปากของทารกแรกเกิด

คุณแม่ควรใส่ใจสุขภาพช่องปากของทารกตั้งแต่แรกเกิด เพราะจะเป็นการป้องกันและลดโอกาสที่จะเกิดปัญหาฟันผุในอนาคต การทำความสะอาดช่องปากของทารกแรกเกิดทำได้โดย ใช้นิ้วพันผ้านุ่มๆ ชุบน้ำต้มสุกที่สะอาดเช็ดให้ทั่วภายในช่องปาก บริเวณลิ้น เหงือก เพดานปาก และกระพุ้งแก้ม เพื่อไม่ให้มีคราบน้ำนมติดอยู่ ทำความสะอาดวันละสองครั้ง เช้าและเย็นหลังให้นมแม่ แต่ไม่ควรเช็ดหลังกินนมอิ่มใหม่ๆ ควรเว้นช่วงสักพัก และควรแยกการใช้งานผ้าเช็ดในช่องปากกับผ้าอ้อมห่อตัว การทำความสะอาดช่องปากให้ทารกอย่างสม่ำเสมอ จะทำให้เขาคุ้นเคยกับการมีเครื่องมือเข้าไปในปาก เป็นการฝึกให้มีความเคยชินกับการมีช่องปากที่สะอาด เมื่อโตขึ้นลูกก็จะมีนิสัยรักษาสุขภาพช่องปากให้สะอาดเช่นกัน

การให้ภูมิคุ้มกันโรค (วัคซีน) สำหรับทารกแรกเกิด

ทารกแรกเกิดทุกรายจะได้รับการฉีดวัคซีนป้องกันวัณโรค (บีซีจี) และตับอักเสบ บี จากโรงพยาบาลหรือสถานีอนามัยใกล้บ้าน โดยจะบันทึกไว้ในสมุดบันทึกสุขภาพแม่และเด็กและจะนัดให้มารับวัคซีนครั้งต่อไป คุณพ่อคุณแม่ต้องพาลูกมารับวัคซีนตามนัด หลังจากฉีดวัคซีนควรดูแลแผลทุกครั้ง โดยการเช็ดทำความสะอาดผิวหนังบริเวณที่ฉีดด้วยสำลีและน้ำสะอาด อย่าสะกิดตุ่มหนองหรือทายาบริเวณที่ฉีด สำหรับการฉีดวัคซีนป้องกันวัณโรคจะทำให้เกิดแผลเล็กๆ อาจเป็นฝีขนาดเล็กและอยู่ได้นาน 3-4 สัปดาห์ และจะเป็นๆ หายๆ ซึ่งไม่จำเป็นต้องใส่ยาหรือปิดแผล แต่หากพบความผิดปกติ เช่น บวม แดง ปวด แผลขยายใหญ่ขึ้น เป็นหนอง หรือต่อมน้ำเหลืองบริเวณรักแร้โตขึ้น ควรรีบมาปรึกษาแพทย์

ปัญหาที่พบบ่อยในการดูแลทารกแรกเกิด

ไข้

ทารกจะร้องกวนและงอแงเมื่อรู้สึกไม่สบายตัว หากใช้ปรอทวัดไข้ได้อุณหภูมิมากกว่า 37.5 องศาเซลเซียส แสดงว่ามีไข้ ให้เช็ดตัวด้วยน้ำอุ่นเพื่อลดไข้ หากมีไข้สูง กระสับกระส่าย ซึม ไม่ยอมดูดนม ต้องรีบพามาพบแพทย์

ตัวเย็น

ทารกจะมีผิวหนังที่เย็น ซีด หรือคล้ำ ร่วมกับอาการซึม ไม่ดูดนม และหายใจเร็ว ควรปรับอุณหภูมิห้องให้เหมาะสม ห่อตัวด้วยผ้าหนาๆ แล้วรีบนำมาพบแพทย์

ตัวเหลือง

เป็นภาวะปกติที่พบได้ในทารกแรกเกิด มักพบ 2-3 วันหลังคลอด และมักหายไปได้เองภายใน 2 สัปดาห์โดยไม่มีอันตราย อาการของตัวเหลืองคือตาและผิวหนังของทารกจะมีสีเหลือง ซึ่งเกิดจากสารสีเหลืองที่เรียกว่า “บิลิรูบิน” เป็นสารที่เกิดจากเม็ดเลือดแดงที่หมดอายุแล้วแตกตัวเสื่อมสลายไป ปกติกระบวนการนี้จะเกิดขึ้นในตับ และถูกขับออกมาในอุจจาระทางลำไส้ คนทั่วไปจะไม่เหลือสารบิลิรูบินติดค้างตามผิวหนัง ยกเว้นในทารกแรกเกิด เพราะเม็ดเลือดแดงจะมีอายุสั้นกว่า ทำให้มีการสร้างสารบิลิรูบินมากขึ้น และตับยังทำงานไม่เต็มที่ จึงทำให้ขับสารบิลิรูบินออกได้ไม่หมด โดยเฉพาะทารกที่คลอดก่อนกำหนดจะยิ่งเกิดภาวะตัวเหลืองได้มากขึ้น

ทารกแรกเกิดทุกรายจะได้รับการตรวจตัวเหลืองทางผิวหนังก่อนกลับบ้าน หากตัวเหลืองมากจนถึงขั้นต้องรักษา แพทย์จะทำการตรวจวัดระดับบิลิรูบิน โดยเจาะเลือดจากส้นเท้าของทารกไปตรวจโดยใช้เครื่องมือพิเศษ หากไม่สูงมากจะรักษาโดยการ ส่องไฟ เพื่อให้มีการขับบิลิรูบินออกมาทางอุจจาระ ปัสสาวะ และผิวหนังของทารก หากระดับของบิลิรูบินสูงมากจนถึงระดับที่จะทำอันตรายต่อสมอง ซึ่งจะทำให้เกิดสมองพิการในระยะต่อมา ต้องรักษาโดยการ ถ่ายเลือด หากคุณพ่อคุณแม่ไม่แน่ใจหรือมีข้อสงสัย สามารถกลับมาโรงพยาบาลเพื่อขอคำปรึกษาจากเจ้าหน้าที่ แพทย์ และพยาบาลได้

สำรอก แหวะ หรือ อาเจียน

ทารกแรกเกิดแหวะนมเล็กๆ น้อยๆ ถือเป็นภาวะปกติ เพราะหูรูดของกระเพาะอาหารยังไม่แข็งแรง ควรปรับการให้นมใหม่ โดยให้ทารกดูดนมในปริมาณน้อยๆ แต่ดูดบ่อยขึ้น และอุ้มเรอประมาณ 10-15 นาทีหลังมื้อนมทุกครั้ง จะช่วยลดอาการแหวะนมได้ หากทารกมีอาการสำรอก อาเจียน ปลายมือปลายเท้าเย็น ให้รีบนำมาพบแพทย์

สะอึก

สะอึกเป็นภาวะปกติที่พบได้ในทารกแรกเกิด และพบได้หลังดูดนม สามารถลดภาวะสะอึกได้โดยอุ้มเรอในท่าปกติ หรือลดปริมาณนมในแต่ละมื้อ แต่ให้บ่อยครั้งขึ้น เมื่ออายุมากขึ้นทารกจะสะอึกน้อยลง

อุจจาระ

ในช่วง 1-2 วันแรกหลังคลอด ทารกจะถ่ายอุจจาระวันละ 1-2 ครั้ง อุจจาระจะมีลักษณะเหนียว มีสีดำอมเขียว เรียกว่า ขี้เทา หากทารกยังไม่ถ่ายขี้เทาภายใน 48 ชั่วโมงแรกหลังคลอด ควรแจ้งให้แพทย์ทราบเพื่อค้นหาความผิดปกติที่เกิดขึ้น หลังจากนั้นเมื่อทารกได้รับนมแม่มากขึ้น อุจจาระจะเริ่มเปลี่ยนสีเขียวจางๆ สีน้ำตาล และสีเหลืองในที่สุด

โดยทารกแรกเกิดที่กินนมแม่จะถ่ายอุจจาระบ่อย วันละประมาณ 3-4 ครั้ง ปัสสาวะวันละหลายครั้ง อุจจาระจะมีลักษณะเละๆ สีเหลืองทอง สำหรับทารกที่กินนมผสมจะถ่ายอุจจาระวันละประมาณ 1-2 ครั้ง อุจจาระมักจะแข็งและมีจำนวนมาก ส่วนอุจจาระที่ผิดปกติคือมีมูกเลือดปนหรือเหลวเป็นน้ำ คุณพ่อคุณแม่ต้องทำความสะอาดก้นและอวัยวะสืบพันธุ์ของทารก และเปลี่ยนผ้าอ้อมทุกครั้งหลังทารกถ่ายอุจจาระหรือปัสสาวะ และควรหมั่นสังเกตอุจจาระและปัสสาวะเพื่อประเมินสุขภาพของทารก

ตาแฉะ ตาอักเสบ

อาการตาแฉะ น้ำตาไหล หรือมีขี้ตามาก มักเกิดจากท่อน้ำตาตีบในทารกแรกเกิด หากมีขี้ตาให้ใช้สำลีชุบน้ำต้มสุก เช็ดทำความสะอาดจากหัวตาไปหางตา การนวดตาบ่อยๆ จะช่วยลดความรุนแรงของอาการได้ แต่หากเยื่อบุตาขาวแดง หนังตาบวม ต้องนำมาพบแพทย์

สะดือแฉะ หรือ สะดือยังไม่หลุด

โดยปกติสะดือมักจะหลุดประมาณ 2-4 สัปดาห์หลังคลอด คุณพ่อคุณแม่ส่วนใหญ่ไม่ค่อยกล้าเช็ดสะดือเพราะกลัวลูกเจ็บ จึงทำให้สะดือยิ่งหลุดช้าขึ้น ดังนั้น ควรเช็ดทำความสะอาดสะดือทุกครั้งเมื่อต้องอาบน้ำทารก อย่าปล่อยให้สะดือแฉะ เพราะจะทำให้เกิดการอักเสบ บวม แดง หรือมีหนอง และมีกลิ่นเหม็น หากมีอาการดังกล่าวต้องนำทารกมาพบแพทย์

พังผืดใต้ลิ้น หรือ ลิ้นถูกตรึง

หากใต้ลิ้นของทารกมีพังผืด อาจทำให้มีปัญหาในการดูดนม และการออกเสียงบางคำได้ไม่ชัดในอนาคต การรักษาทำได้โดยการผ่าตัดขลิบลิ้น ซึ่งเป็นการผ่าตัดเล็ก หากผ่าตัดตั้งแต่ช่วงแรกเกิดหรืออายุไม่เกิน 1 เดือน จะทำได้ง่ายที่สุด

ผื่นแดง

ผื่นแดงเกิดจากความสกปรกและอับชื้นบริเวณขาหนีบหรือบริเวณที่สวมผ้าอ้อม การลดการใช้แพมเพิร์สและเปลี่ยนผ้าอ้อมทุกครั้งหลังการถ่ายอุจจาระหรือปัสสาวะ จะช่วยลดการเกิดผื่นแดงได้ หากอาการไม่ดีขึ้นควรพาลูกมาพบแพทย์

ตุ่มแดงหรือหนองที่หัวไหล่ข้างซ้าย

ทารกแรกเกิดทุกรายจะได้รับการฉีดวัคซีนป้องกันวัณโรค (บีซีจี) ซึ่งหลังฉีดมักจะทำให้เป็นตุ่มแดงหรือหนองเมื่อทารกอายุประมาณ 2-4 สัปดาห์ โดยปกติไม่จำเป็นต้องทำอะไรเพราะตุ่มดังกล่าวจะหายไปเอง ยกเว้นถ้าตุ่มหนองแตก ให้ใช้สำลีชุบน้ำต้มสุกเช็ดทำความสะอาด

การสังเกตพัฒนาการในด้านต่างๆ ของทารกแรกเกิด

ทารกแรกเกิดทุกรายควรได้รับการตรวจคัดกรองการได้ยิน โดยเฉพาะทารกคลอดก่อนกำหนดและทารกป่วย หากพบมีความผิดปกติในการได้ยินตั้งแต่ระยะเริ่มแรก จะสามารถใส่เครื่องช่วยฟังได้ทันท่วงที เพื่อพัฒนาการพูดและการได้ยินให้เป็นปกติในอนาคต

การสังเกตการได้ยินทำได้โดยดูว่าลูกมีอาการตกใจหรือมีปฏิกิริยา เช่น กะพริบตา หยุดดูดนม หรือเงียบเวลามีเสียงดังหรือไม่ การสังเกตการมองเห็นทำได้โดยดูว่าลูกจ้องมองหน้าตาของพ่อแม่ขณะที่คุยด้วยหรือไม่ และสัญญาณที่บ่งบอกว่าลูกอาจมีพัฒนาการทางภาษาที่ล่าช้า ในช่วงอายุตั้งแต่แรกเกิดถึง 4 เดือน คือการไม่ตอบสนองต่อเสียงในช่วงที่กำลังตื่นตัวดี หากพบว่าลูกของท่านทำไม่ได้ควรปรึกษาแพทย์

ระยะเวลา 1 เดือนหลังคลอดเป็นช่วงชีวิตที่สำคัญของทารกแรกเกิด คุณพ่อคุณแม่อย่าปล่อยให้ช่วงเวลาอันมีค่านี้ผ่านไปอย่างรวดเร็วโดยเปล่าประโยชน์ ควรเรียนรู้และปรับตัวไปพร้อมๆ กันกับลูกน้อย ถึงแม้คุณพ่อคุณแม่มือใหม่อาจจะยังไม่ค่อยมั่นใจในการเลี้ยงดูลูก แต่ด้วยความรัก ความอบอุ่น ความเข้าใจ และความมั่นใจ ที่สำคัญคือสัญชาตญาณของความเป็นพ่อและแม่นั่นเอง ที่จะช่วยคลายกังวล และสามารถเลี้ยงดูเอาใจใส่ลูกน้อยให้อยู่รอดปลอดภัย เติบโตอย่างมีสุขภาพที่สมบูรณ์แข็งแรงทั้งร่างกายและจิตใจได้

ค่ารักษา

เพิ่มเติม
การรักษา ราคา(บาท)
อัตราค่ารักษาพยาบาล แพทย์ที่ทำการรักษาเป็นผู้ประเมิน สอบถามข้อมูลเพิ่มเติม โทร 1723
การรักษา
อัตราค่ารักษาพยาบาล แพทย์ที่ทำการรักษาเป็นผู้ประเมิน สอบถามข้อมูลเพิ่มเติม
โทร 1723

เกร็ดความรู้

เพิ่มเติม