chat

ศูนย์รักษาโรคด้วยกัญชา

สืบเนื่องจากในปัจจุบันมีการปลดล็อกกัญชงและกัญชา โดยสามารถใช้เป็นส่วนประกอบในเครื่องสำอาง อาหาร และเครื่องดื่มได้ รวมไปถึงใช้ผลิตยารักษาโรคต่าง ๆ ทั้งนี้ก็ยังปลด 5 ตำรับยากัญชาแผนไทยออกจากบัญชีตำรับยาเสพติดด้วย จุดประสงค์ก็เพื่อการดูแลรักษาสุขภาพ เป็นอีกหนึ่งทางเลือกจากการรักษาด้วยวิธีอื่น ๆ แล้วไม่ได้ผล ซึ่งวันนี้เราจะพาไปดูสรรพคุณจาก 5 ตำรับยากัญชาแผนไทยที่หลายท่านอาจยังไม่ทราบกันค่ะ


ยาตำรับนี้ประกอบไปด้วยตัวยา 12 ชนิด ได้แก่ การบูร, ใบสะเดา, หัสคุณเทศ, สมุลแว้ง, เทียนดำ, โกฐกระดูก, ลูกจันทน์, ดอกบุนนาค, พริกไทย, ขิงแห้ง, ดีปลี และใบกัญชา โดยมีสรรพคุณลดความวิตกกังวล อาการตื่นกลัว เมื่อเกิดความผ่อนคลายก็จะช่วยให้การนอนหลับดีขึ้น แต่การใช้ยาจะต้องอยู่ในความดูแลจากแพทย์ผู้ชำนาญการ เพื่อความปลอดภัยในการรักษา ทั้งนี้ตำรับยานี้ยังช่วยให้เพิ่มความอยากอาหารมากยิ่งขึ้นด้วย


โดยในยาตำรับนี้ประกอบไปด้วยตัวยาทั้งหมด 8 ชนิด คือ ใบกัญชา, ใบคนทีเขมา, ใบสะเดา, จันทร์ขาว, จันทร์แดง, ขิงแดง, พริกไทล่อน และดีปลี ช่วยแก้ไข้ผอมเหลืองที่มีอาการสั่น เสียงสั่น อ่อนเพลีย ไม่มีกำลัง (ไข้ผอมเหลือง เกิดจากธาตุลมกำเริบส่งผลให้นอนไม่ค่อยหลับ เบื่ออาหาร เมื่อเป็นเรื้อรัง ทำให้ร่างกายผ่ายผอม ซีด เหลือง อ่อนเพลีย และไม่มีกำลัง)


ยาตำรับแก้ลมแก้เส้นประกอบด้วยตัวยา 7 ชนิด คือ เทียนขาว, เทียนดำ, เทียนข้าวเปลือก, ขิง, เจตมูลเพลิงแดง, พริกไทย และกัญชา ซึ่งมีสรรพคุณแก้ลมในเส้นที่มีความผิดปกติและส่งผลให้มีอาการปวดหรือชาตามเส้นต่าง ๆ ในร่างกาย


ยาตำรับที่ 4 นี้ประกอบไปด้วย ขมิ้นชัน, น้ำมันเมล็ดฝ้าย และใบกัญชา มีสรรพคุณช่วยแก้กลุ่มอาการผื่นคัน ผื่นภูมิแพ้ แผลสะเก็ดเงิน รวมไปถึงอาการของริดสีดวงทวารอีกด้วย โดยคุณสมบัติที่โดดเด่นในกัญชาสามารถลดอาการคัน บรรเทาอาการเจ็บปวด และลดการอักเสบในผู้ป่วยโรคผิวหนังและโรคริดสีดวงทวารหนักได้


ยาตำรับที่ 5 ประกอบไปด้วยตัวยา 14 ชนิด อันประกอบไปด้วยเปลือกกุ่มน้ำ, เปลือกมะรุม, แห้วหมู, เปล้าน้อย, เปล้าใหญ่, รางแดง, จันทน์เทศ, เปลือกมะตูม, ก้านกัญชา, บอระเพ็ด, เปลือกโมกมัน, หญ้าชันกาด, สนเทศ และระย่อม ซึ่งยาตำรับนี้ใช้สำหรับรักษาภาวะเครียด กังวล และส่งผลให้เกิดอาการนอนไม่หลับ ทั้งนี้คำว่า “ยาแก้โรคจิต” ไม่ได้มีความหมายทางการแพทย์แผนปัจจุบัน (โรคจิตและไบโพล่า) แต่อย่างใด

ถึงแม้ว่ากัญชาจะถูกนำมาใช้ประโยชน์ทางการแพทย์แล้ว แต่เนื่องจากกัญชามีฤทธิ์ต่อจิตประสาท หากใช้ไม่ถูกวิธีหรือใช้เองโดยไม่ได้อยู่ภายใต้การดูแลจากแพทย์ผู้ชำนาญการ อาจก่อให้เกิดผลเสียต่อร่างกาย ดังนั้นผู้ที่สนใจจึงควรพิจารณาข้อมูลต่าง ๆ ให้ดีและเข้ารับการปรึกษาแพทย์ก่อน เพื่อการรักษาอย่างปลอดภัยและให้ผลที่มีประสิทธิภาพอย่างแท้จริง

ข้อมูลโดยนพ.วัสสะ วัชรากร