เบาหวานภัยร้ายที่ไม่อาจหลีกเลี่ยงได้ มักเกิดจากการละเลยเรื่องอาหารการกินและการดูแลสุขภาพจึงนำมาซึ่งภาวะแทรกซ้อนที่เป็นอันตรายร้ายแรงแบบเฉียบพลัน ได้แก่ อาการหมดสติจากน้ำตาลในเลือดต่ำ หรือน้ำตาลในเลือดสูง หรือการติดเชื้อ และภาวะแทรกซ้อนในระยะยาว ได้แก่ ทำให้หลอดเลือดตีบแข็งในอวัยวะต่างๆ เบาหวานขึ้นตาทำให้ตาบอด ไตเสื่อม เส้นประสาทเสื่อม โรคหลอดเลือดหัวใจตีบ อัมพาต เป็นต้น
เบาหวาน (Diabetes) เกิดจากความผิดปกติของร่างกายที่มีการผลิตฮอร์โมนอินซูลินไม่เพียงพอ หรือร่างกายเกิดภาวะดื้ออินซูลิน ทำให้ระดับน้ำตาลในกระแสเลือดสูงกว่าปกติ อาการของเบาหวานเกิดจากการที่ร่างกายไม่สามารถใช้น้ำตาลได้อย่างเหมาะสม โดยปกติน้ำตาลจะเข้าสู่เซลล์ร่างกายเพื่อใช้เป็นพลังงานภายใต้การควบคุมของฮอร์โมนอินซูลิน ผู้ป่วยโรคเบาหวานจะไม่สามารถนำน้ำตาลไปใช้งานได้อย่างมีประสิทธิภาพ ทำให้ระดับน้ำตาลในเลือดสูงขึ้นผิดปกติ หากไม่ได้รับการรักษาอย่างเหมาะสม อาจนำไปสู่ภาวะแทรกซ้อนเรื้อรังอื่นๆ ตามมา และหากปล่อยให้โรคมีความรุนแรงมากขึ้นเรื่อยๆ ก็จะทำให้ยากต่อการรักษาอวัยวะต่างๆ ให้กลับมาทำงานได้เป็นปกติ
ปัจจุบัน สามารถแบ่งออกเป็น 4 ชนิดด้วยกัน ได้แก่
เบาหวานชนิดที่ 1
เบาหวานชนิดที่ 1 (Type 1 Diabetes, Immune-mediated หรือ Insulin-dependent diabetes) เกิดจากภูมิต้านทานของร่างกายทำลายเซลล์ที่สร้างอินซูลินในตับอ่อน ทำให้ร่างกายหยุดการสร้างอินซูลิน ซึ่งนักวิทยาศาสตร์ยังไม่สามารถอธิบายได้อย่างแน่ชัดว่าทำไมภูมิคุ้มกันของร่างกายถึงทำลายเซลล์ของตับอ่อน แต่ปัจจัยที่เพิ่มความเสี่ยงคือการได้รับสารพิษ การติดเชื้อ รวมทั้งการแพ้นมวัว ผู้ป่วยมักมีอาการกระหายน้ำบ่อย ปัสสาวะบ่อย น้ำหนักลด เสี่ยงต่อการเกิดโรคภูมิแพ้ต่างๆ โดยความรุนแรงของโรคในแต่ละคนจะไม่เท่ากัน มักเกิดก่อนอายุ 30 ปี ผู้ที่ป่วยเป็นเบาหวานชนิดที่ 1 ต้องฉีดอินซูลินเพื่อควบคุมน้ำตาลในเลือด
เบาหวานชนิดที่ 2
เบาหวานชนิดที่ 2 (Type 2 Diabetes, noninsulin dependent) เกิดจากร่างกายผลิตอินซูลินไม่เพียงพอกับความต้องการของร่างกาย เนื่องจากภาวะดื้ออินซูลิน (Insulin resistance) ผู้ป่วยมักไม่มีอาการใดๆ แต่มักจะเป็นคนอ้วน และเบาหวานจะค่อยๆ ดำเนินจนเกิดโรคแทรกซ้อน มักเกิดในคนที่มีอายุมากกว่า 30 ปี ดังนั้น ผู้ป่วยเบาหวานชนิดนี้จึงจำเป็นที่จะต้องตรวจคัดกรองโรคเบาหวานถึงแม้ยังไม่มีอาการ การควบคุมโรคสามารถทำได้โดยการลดน้ำหนัก การออกกำลังกาย และการควบคุมอาหาร และบางรายต้องฉีดอินซูลินเพื่อควบคุมน้ำตาลในเลือด
เบาหวานชนิดที่ 3
เบาหวานชนิดที่ 3 เบาหวานตามสาเหตุ เช่น เบาหวานที่มีสาเหตุมาจากพันธุกรรม เนื่องจากการทำงานของ Beta Cell เบาหวานที่มีสาเหตุมาจากการออกฤทธิ์ของอินซูลิน เบาหวานที่มีสาเหตุมาจากการติดเชื้อ หรือจากการใช้ยา เช่น สเตียร์รอยด์ เป็นต้น
เบาหวานชนิดที่ 4
เบาหวานชนิดที่ 4 เบาหวานในหญิงตั้งครรภ์ (Gestational diabetes) คือโรคเบาหวานที่เป็นในขณะตั้งครรภ์ สาเหตุของโรคเบาหวานขณะตั้งครรภ์ เกิดจากรกสร้างฮอร์โมนเพื่อการเจริญเติบโตของทารก ซึ่งมีผลทำให้ความไวต่ออินซูลินลดลง ทำให้น้ำตาลในกระแสเลือดสูงขึ้น แต่เมื่อคลอดแล้วเบาหวานก็จะหายไป การเกิดเบาหวานขณะตั้งครรภ์ สามารถเกิดได้กับคนที่ไม่มีปัจจัยเสี่ยงใดๆ แต่ผู้หญิงที่มีลักษณะดังต่อไปนี้ควรได้รับการทดสอบน้ำตาลขณะตั้งครรภ์ คือ มีอายุมากกว่า 25 ปี, มีน้ำหนักเกินก่อนตั้งครรภ์ ดัชนีมวลกาย (BMI) มากกว่า 30, มีญาติสายตรงเป็นเบาหวาน, ตรวจพบน้ำตาลในปัสสาวะ, เคยเป็นเบาหวานขณะตั้งครรภ์มาก่อน, เคยคลอดเด็กน้ำหนักมากกว่า 4.5 กิโลกรัม หรือเคยคลอดเด็กที่เสียชีวิตตั้งแต่อยู่ในครรภ์
หญิงตั้งครรภ์ควรได้รับการตรวจหาน้ำตาลในเลือดตั้งแต่มีอายุครรภ์ได้ประมาณ 24 สัปดาห์ หากผลการทดสอบให้ผลลบ ควรตรวจซ้ำอีกเมื่ออายุครรภ์ได้ 28 สัปดาห์ เบาหวานขณะตั้งครรภ์ทำให้แม่กระหายน้ำบ่อย ปัสสาวะบ่อย เสี่ยงต่อครรภ์เป็นพิษ ความดันโลหิตสูง และเบาหวานในอนาคต ทำให้ทารกคลอดก่อนกำหนด ตัวโต ต้องผ่าตัดทำคลอด มีภาวะน้ำตาลต่ำ อาจมีปัญหาเรื่องเด็กเกิดมาพิการ แต่พบได้ไม่มาก โดยโรคเบาหวานหากเกิดในขณะตั้งครรภ์สามารถรักษาได้โดยการฉีดยาหรือควบคุมอาหาร ซึ่งจะทำให้มีความเสี่ยงต่อบุตรลดลง
ปัสสาวะมากขึ้น และบ่อยครั้งขึ้น
ปัสสาวะกลางคืนบ่อยขึ้น
กระหายน้ำบ่อย และดื่มน้ำในปริมาณมาก
น้ำหนักลดโดยไม่ทราบสาเหตุ โดยเฉพาะคนที่เคยมีน้ำหนักมากมาก่อน
อ่อนเพลีย เหนื่อยง่าย ไม่มีเรี่ยวแรง
ติดเชื้อบ่อยกว่าปกติ เช่น ติดเชื้อทางผิวหนัง และกระเพาะอาหาร
สายตาพร่า มองเห็นไม่ชัดเจน
เมื่อเกิดแผล แผลหายช้ากว่าปกติ
แต่เนื่องจากเบาหวานจะดำเนินโรคไปอย่างช้าๆ โดยไม่มีอาการใดๆ ผู้ป่วยเบาหวานในระยะแรก มักไม่พบอาการผิดปกติใดๆ ยกเว้นมีระดับน้ำตาลในเลือดสูงกว่าคนปกติ ดังนั้น การคัดกรองเบาหวาน จึงเป็นอีกหนึ่งหนทางในการวินิจฉัยโรคได้เร็วยิ่งขึ้น
การคัดกรองเบาหวาน หมายถึง การคัดเลือกผู้ที่มีความเสี่ยงที่จะเป็นเบาหวาน มาเจาะเลือดเพื่อวินิจฉัย ผู้ที่มีความเสี่ยงได้แก่ คนอ้วน น้ำหนักเกิน ไม่ออกกำลังกาย มีประวัติญาติเป็นโรคเบาหวาน เป็นต้น
การวินิจฉัยทำได้โดยการเจาะเลือดเพื่อตรวจหาระดับน้ำตาลในเลือด โดยควรงดอาหารและเครื่องดื่มทุกชนิดหลังเที่ยงคืนหรือ 6-8 ชั่วโมง แล้วไปเจาะเลือดในตอนเช้า ในคนปกติจะมีค่าของน้ำตาลในเลือดต่ำกว่า 100 มิลลิกรัม หากระดับน้ำตาลในเลือดมีค่าตั้งแต่ 126 มิลลิกรัมขึ้นไป โดยการตรวจ 2 ครั้ง ถือว่าเป็นเบาหวาน และยิ่งค่าสูงเท่าไหร่ก็แสดงว่าการเป็นเบาหวานมีความรุนแรงเพิ่มมากขึ้น
หลักการรักษาโรคเบาหวาน คือการทำให้ผู้ป่วยมีคุณภาพชีวิตที่ใกล้เคียงคนปกติ ไม่มีโรคแทรกซ้อน อยู่ในสังคมได้อย่างมีความสุข ซึ่งจะต้องอาศัยการรักษาด้วยการใช้ยาเม็ดหรือยาฉีด การปรับเปลี่ยนพฤติกรรม ทั้งการควบคุมอาหาร การออกกำลังกาย งดสูบบุหรี่ ควบคุมความเสี่ยงที่จะทำให้เกิดโรคแทรกซ้อนอื่นๆ และการดูแลสุขภาพโดยทั่วไป
– ยาเสริมการออกฤทธิ์ของอินซูลิน ไม่ทำให้เกิดภาวะน้ำตาลในเลือดต่ำ ได้แก่ Metformin, Troglitazone และ Acarbose
– ยาเพิ่มการหลั่งของอินซูลิน ได้แก่Sulfonylurea, Repaglinide, Insulin หากผู้ป่วยมีน้ำตาลสูงมากและมีอาการรุนแรงแพทย์จะแนะนำให้รักษาเบื้องต้นโดยใช้อินซูลิน นอกจากนี้ในปัจจุบันยังมียารุ่นใหม่ ๆ ชนิดกินและฉีดที่ไม่ใช่อินซูลิน ซึ่งทำให้การควบคุมน้ำตาลในเลือดทำได้ดีขึ้น
ผู้ป่วยเบาหวานที่รักษาด้วยการฉีดยาหรือกินยาอยู่ ต้องพกน้ำตาลหรือของหวานติดตัวไว้เสมอ เพราะบางครั้งอาจเกิดภาวะน้ำตาลในเลือดต่ำ โดยจะมีอาการใจสั่น หน้ามืด ตาลาย ตัวเย็น เหงื่อออก หากเป็นรุนแรงอาจถึงขั้นเป็นลมและหมดสติ หรือชักได้ และอย่าซื้อยากินเอง เนื่องจากยาบางประเภทมีผลต่อค่าน้ำตาลในเลือด เช่น ยาขับปัสสาวะ ยาสเตียร์รอยด์ ยาปฏิชีวนะ เป็นต้น
ควบคุมโภชนาการให้มีความสมดุล ทั้งการรับประทานอาหาร รวมไปถึงการใช้ยารักษาโรค
ควบคุมน้ำหนักตัวให้อยู่ในเกณฑ์ปกติ
ควบคุมความดันโลหิตและระดับไขมันในเลือด
ออกกำลังอย่างสม่ำเสมอ
ไม่ดื่มเครื่องดื่มที่ผสมแอลกอฮอล์ และสูบบุหรี่
มาพบแพทย์ตามนัดอย่างสม่ำเสมอ เดือนละครั้ง หรือ 3-4 เดือนครั้ง เพื่อตรวจติดตามน้ำตาลในเลือดให้ได้ระดับที่เหมาะสม และประเมินการใช้ยา
เพื่อป้องกันตั้งแต่ระยะเริ่มต้น ควรปรึกษาแพทย์เพื่อวัดระดับน้ำตาลในเลือดอย่างสม่ำเสมอ เพราะเบาหวานเป็นโรคเรื้อรัง หากใครได้เป็นแล้ว…ต้องใช้เวลาในการรักษานานตลอดชีวิต และหากปฏิบัติตนไม่ถูกต้องเหมาะสมกับโรค ก็อาจทำให้เกิดโรคแทรกซ้อนที่มีอันตรายอื่นๆ ตามมาได้ ดังนั้น อย่านิ่งนอนใจว่าเป็นโรคไกลตัว เพราะเบาหวานอาจอยู่ใกล้มากกว่าที่คุณคิด
ภาวะแทรกซ้อนที่เกิดจากโรคเบาหวาน มักแสดงอาการเมื่อเป็นเบาหวานและไม่ได้รับการรักษาอย่างจริงจังอย่างน้อย 5 ปีขึ้นไป สามารถเกิดโรคแทรกซ้อนได้ทุกระบบ ได้แก่ ตา ไต หัวใจและหลอดเลือด ผิวหนัง ช่องปาก
เกิดจากน้ำตาลเข้าไปในเยื่อบุภายในของหลอดเลือดฝอย (Endothelium) ในลูกตา ทำให้หลอดเลือดมีการสร้างไกลโคโปรตีน ซึ่งจะถูกขนย้ายออกมาเป็นเยื่อฐาน (Basement membrane) มากขึ้น ทำให้เยื่อฐานมีความหนา แต่เปราะบาง ฉีกขาดได้ง่าย เลือดและสารบางอย่างที่อยู่ในเลือดจะรั่วไหลออกมา ทำให้บริเวณจุดกลางรับภาพของจอประสาทตา (Macula) บวมขึ้น เกิดอาการตามัว หลอดเลือดที่ฉีกขาดจะสร้างแขนงหลอดเลือดใหม่ออกมามาก จนบดบังแสงที่มาตกกระทบยังจอประสาทตา (Retina) ทำให้การมองเห็นแย่ลง โรคแทรกซ้อนทางสายตาที่เกิดจากเบาหวานคือ ต้อกระจก ต้อหิน เบาหวานขึ้นตา จอตาเสื่อม จอประสาทตาลอก มองเห็นจุดดำลอยไปมา หากได้รับการวินิจฉัยที่ช้าอาจทำให้ตาบอดได้
เรียกได้ว่าเป็นโรคแทรกซ้อนที่ผู้ป่วยเบาหวานกลัวเป็นที่สุด ในช่วงแรกจะไม่มีอาการใดๆ แต่หากเริ่มมีอาการแล้วส่วนใหญ่มักจะรักษาไม่หาย ดังนั้น จึงควรดูแลป้องกันก่อนเกิดโรคขึ้น ผู้ป่วยมักเสียชีวิตภายใน 2-3 ปี หรือเข้าสู่ภาวะไตวายระยะสุดท้าย นับจากเริ่มมีอาการ โรคแทรกซ้อนทางไต เกิดจากพยาธิสภาพของกลุ่มเส้นโลหิตฝอยที่ไต (Glomeruli) ทำให้หน่วยไต (Nephron) ยอมให้โปรตีนอัลบูมิน (Albumin) ซึ่งเป็นโปรตีนที่เป็นส่วนประกอบหลักในกระแสเลือด มีหน้าที่หลักในการจับน้ำ ฮอร์โมน วิตามิน ไขมัน สารอาหารต่างๆ ที่มีประโยชน์ และนำพาสารต่างๆ ที่จำเป็นต่อร่างกายไปกับกระแสเลือด เพื่อนำไปใช้ประโยชน์ในส่วนต่างๆ ของร่างกาย รั่วออกไปกับของเหลวที่ได้จากการกรองของไต (Filtrate) ได้ หลอดไตส่วนต้น (Proximal tubule) จึงต้องรับภาระในการดูดกลับสารมากขึ้น หากเป็นนานๆ ก็จะทำให้เกิดภาวะไตวาย (Renal failure) ได้
หากเกิดพยาธิสภาพบริเวณหลอดเลือดเล็กๆ ที่มาเลี้ยงเส้นประสาทปลายมือและปลายเท้า ก็จะทำให้เส้นประสาทนั้นไม่สามารถนำความรู้สึกต่อไปได้ ผู้ป่วยเบาหวานจะไม่รู้สึกตัวเมื่อได้รับการถูกกระทบกระแทก จึงทำให้ไม่ดูแลแผลบริเวณดังกล่าว รวมถึงผู้ป่วยมีระดับน้ำตาลสูง ซึ่งเป็นอาหารให้กับเหล่าเชื้อโรค ทำให้แผลเน่า และนำไปสู่การรักษาโดยการตัดแขนและขา (Amputation) ในที่สุด
เบาหวานกับการมีไขมันในเลือดสูง จะทำให้มีการตีบของหลอดเลือดหัวใจ ทำให้เกิด “โรคหัวใจขาดเลือด” หากหลอดเลือดอุดตัน ก็จะทำให้ “กล้ามเนื้อหัวใจตาย” การรักษาที่ดีที่สุดคือการผ่าตัดเปลี่ยนหัวใจ แต่ปัญหาที่สำคัญมากก็คือ ผู้ที่มีปัญหาเกี่ยวกับหลอดเลือดหัวใจจะไม่แสดงอาการผิดปกติ เช่น เจ็บหน้าอก ซึ่งเป็นอาการเบื้องต้นของผู้ป่วยโรคหัวใจทั่วไป แต่อาจจะแสดงอาการครั้งแรกอย่างรุนแรง เช่น กล้ามเนื้อหัวใจตาย หรือ หัวใจล้มเหลว เป็นสิ่งที่ทำให้แพทย์วินิจฉัยโรคได้ช้ากว่าปกติ ซึ่งอาจเป็นอันตรายได้
เบาหวาน ทำให้เกิดภาวะหลอดเลือดแข็งได้ง่ายทั่วทั้งร่างกาย และถ้าเป็นที่หลอดเลือดสมองก็จะทำให้เป็นอัมพาต ผู้ป่วยเบาหวานมีโอกาสเป็นอัมพาตได้สูงกว่าผู้ป่วยปกติ 2-4 เท่า อาการเบื้องต้นสังเกตได้จากกล้ามเนื้อแขนขาอ่อนแรงครึ่งซีกในทันทีทันใด หรือเป็นครั้งคราว ใบหน้าชาครึ่งซีก พูดตะกุกตะกัก หรือพูดไม่ได้เป็นบางครั้ง ตาพร่ามัว เห็นแสงผิดปกติ เดินเซ ไม่สามารถทรงตัวได้ สำลักอาหารบ่อย ปวดศีรษะอย่างรุนแรงโดยเฉพาะเวลาเครียดหรือมีอารมณ์รุนแรง
หมายถึง โรคทั้งหมดที่เกิดจากการอุดตันของหลอดเลือดแดงขนาดใหญ่ในแขนขา การอุดตันของหลอดเลือดอาจเกิดจากโรคท่อเลือดแดงและหลอดเลือดแดงแข็ง การอักเสบของหลอดเลือด มีสิ่งที่หลุดออกมาอุดหลอดเลือด หรือมีลิ่มเลือด และโรคเบาหวานมักพบร่วมกับโรคความดันโลหิตสูง ไขมันในเส้นเลือด และโรคอ้วน ซึ่งเป็นปัจจัยเสี่ยงที่ทำให้เกิดโรคหลอดเลือดตีบและอุดตัน ซึ่งทำให้ปลายประสาทอักเสบ โดยส่วนใหญ่มักเป็นที่ขา โรคนี้ทำให้เกิดการขาดเลือดแบบเรื้อรังหรือแบบเฉียบพลันได้
นอกจากนี้แล้ว ยังมีโรคแทรกซ้อนอื่นๆ ที่สำคัญคือ แผลเรื้อรังจากเบาหวาน (Diabetic ulcer) โรคความดันโลหิตสูง โรคแทรกซ้อนที่ผิวหนัง สุขภาพในช่องปาก โรคเครียด และโรคแทรกซ้อนฉุกเฉินต่างๆ เป็นต้น
ถึงเวลาที่ต้องรับมือกับโรคเบาหวานอย่างมั่นใจ ภายใต้การดูแลอย่างใกล้ชิดของทีมแพทย์ผู้ชำนาญเฉพาะทาง ที่พร้อมให้คำแนะนำทั้งในเรื่องการใช้ยา ข้อควรปฏิบัติต่างๆ รวมถึงคำแนะนำเรื่องอาหารการกินจากนักโภชนา เพื่อตัวท่านเองหรือคนที่ท่านรัก สามารถดำเนินชีวิตในสังคมได้อย่างปกติสุข และห่างไกลจากภาวะแทรกซ้อนต่างๆ ที่อาจเกิดตามมา
ศัลยกรรมตกแต่งและความงามยอดนิยม