chat

การจัดขบวนบางกอกไพรด์ 2024

ร่วมเฉลิมฉลองเทศกาลแห่งความภาคภูมิใจของกลุ่มความหลากหลายทางเพศในเดือนมิถุนายนเป็นประจำทุกปีในเทศกาล PRIDE MONTH 2024 โดยกรุงเทพมหานครเตรียมจัด งาน “Bangkok Pride Festival 2024” ระหว่างวันที่ 31 พฤษภาคม-2 มิถุนายน 2567

กิจกรรมที่น่าสนใจ คือ การเดินขบวนบางกอกไพรด์ 2024 (Bangkok Pride Parade 2024) ภายใต้แนวคิด “Celebration of Love เฉลิมฉลองสมรสเท่าเทียม” เพื่อประกาศความภาคภูมิใจต่อประวัติศาสตร์การเคลื่อนไหวเพื่อสมรสเท่าเทียมกว่า 2 ทศวรรษ

Bangkok Pride Parade 2024

โดยมีหน่วยงานทั้งภาครัฐ เอกชน รัฐวิสาหกิจ มูลนิธิและองค์กรไม่แสวงหาผลกำไรมากกว่า 50 หน่วยงานเข้าร่วมเป็นภาคีเครือข่ายและองค์กรพันธมิตร ได้แก่ มูลนิธิเพื่อสิทธิและความเป็นธรรมทางเพศ. เครือข่ายทอม ผู้ชายข้ามเพศ นอนไบนารี เพื่อความเท่าเทียม, มูลนิธิเครือข่ายเพื่อนกระเทยเพื่อสิทธิมนุษยชน เป็นต้น

‘Bangkok Pride Festival 2024’ ในปีนี้จะจัดขึ้นในวันเสาร์ที่ 1 มิถุนายน 2567 ระหว่างเวลา 15.00-21.00 น. เส้นทางขบวนพาเหรดจะอยู่บนถนนพระราม 1 เริ่มตั้งแต่บริเวณสนามกีฬาแห่งชาติ ศุภชลาศัย ผ่านหน้าหอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร ศูนย์การค้าสยามดิสคัฟเวอรี่ สยามเซ็นเตอร์ สยามพารากอน วัดปทุมวนาราม ถึงสี่แยกราชประสงค์ บริเวณลานหน้าศูนย์การค้าเซ็นทรัลเวิลด์ รวมระยะทางกว่า 2.5 กิโลเมตร โดยขบวนพาเหรดในปีนี้ประกอบไปด้วย 5 ขบวนหลัก 5 นิยามความรักที่เปิดกว้างให้ผู้เข้าร่วมตีความ แสดงออก และนำเสนอนิยามความรักในแบบของตัวเองเพื่อใช้ความรักนำทางสร้างสรรค์สังคมที่เท่าเทียม

Bangkok Pride Parade 2024

ขบวนที่ 1 สมรสเท่าเทียม (Love Wins) ปล่อยขบวน เวลา 15.00 น. เน้นสื่อสารการคุ้มครองสิทธิ์และรับรองสถานภาพสมรสทางกฎหมายของกลุ่มความหลากหลายทางเพศ เฉลิมฉลองให้กับความชัยชนะจากการใช้ความรักนำทาง เพื่อผลักดันสมรสเท่าเทียมในสังคมไทยจากความร่วมมือของทุกภาคส่วนตลอดระยะเวลากว่า 2 ทศวรรษที่ผ่านมา

ขบวนที่ 2 ตัวตน (Love for Identity) เฉลิมฉลองให้กับขบวนการเคลื่อนไหวโดยใช้ความรักนำเพื่อสิทธิการกำหนดตนเอง (Self Determination) มุ่งเน้นสื่อสารตัวตนและการมีอยู่ของรสนิยมและความหลากหลายทางเพศในสังคม โดยเฉพาะในประเด็น “การรับรองอัตลักษณ์ทางเพศ” และ “การรับรองเพศสภาพ” ของบุคคลข้ามเพศ อินเตอร์เซ็กซ์ และนอนไบนารี่ รวมถึงการแสดงออกของกลุ่มอัตลักษณ์ต่าง ๆ เช่น กลุ่มชาติพันธุ์ ศิลปิน Drag ปล่อยขบวน เวลา 15.30 น.

ขบวนที่ 3 ศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์  (Love for Dignity) ปล่อยขบวน เวลา 16.00 น.ขบวนเฉลิมฉลองให้กับการใช้ความรักนำทางเพื่อศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ โดยเฉพาะของกลุ่มพนักงานบริการ (sex worker) กลุ่มผู้มีความหลากหลายทางระบบประสาท (neurodi vergent) กลุ่มแรงงาน กลุ่มผู้พิการ กลุ่มผู้อยู่ร่วมกับเชื้อ HIV มุ่งเน้นการสื่อประเด็นเรื่องความเท่าเทียมในการเข้าถึงตำแหน่งแห่งที่ในการทำงาน กลุ่มความหลากหลายทางเพศ สามารถทำงานได้ในทุกสาขาอาชีพอย่างเท่าเทียมกับเพศชายหญิง รณรงค์ส่งเสริมการจ้างงานขององค์กรหรือหน่วยงานทั้งภาครัฐและเอกชนในการเปิดใจยอมรับบุคลากรที่มีความหลากหลายทางเพศ

ขบวนที่ 4 สันติภาพ (Love for Peace & Earth) ปล่อยขบวน เวลา 16.30 น. เน้นสื่อสารและสื่อความหมายเกี่ยวกับประเด็นสันติภาพ การยุติสงคราม และการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม  และขบวนที่ 5 เสรีภาพ (Love for Freedom) ปล่อยขบวน เวลา 17.00 น. เน้นประเด็นการสื่อสารเกี่ยวกับเสรีภาพทางเพศ เสรีภาพในการนับถือศาสนา เสรีภาพในการพูด และเสรีภาพในการแสดงออก

นอกเหนือจากขบวนพาเหรดแล้วยังมีกิจกรรมอื่นๆ ที่น่าสนใจอีกมากมาย ได้แก่

Bangkok Pride Parade 2024

มี 27 ฟอรัมความหลากหลายทางเพศโดย LGBTQIAN+ และ Ally จาก 6 วงการเศรษฐกิจ การแพทย์ สิ่งแวดล้อม สิทธิมนุษยชน เทคโนโลยีและการศึกษา ระหว่างวันที่ 31 พฤษภาคม – 4  มิถุนายน ที่ Lido Connect และ SCBXNextTech

Bangkok Pride Parade 2024

เวที Bangkok Pride Stage เริ่มกิจกรรมเวทีตั้งแต่ 5 โมงเย็น ถึง 4 ทุ่ม ณ ลานหน้าเซ็นทรัลเวิลด์ จัดเต็ม! หมอลำ แดร็กโชว์ คาบาเร่ต์ นักร้อง มากกว่า 20 โชว์

Bangkok Pride Parade 2024

ตื่นตาตื่นใจไปกับ โชว์และทอล์กโชว์มากกว่า 20 งานในเทศกาล DRAG Bangkok ที่รวบรวม Drag จากทั่วประเทศไทยและทั่วโลก มาปล่อยพลังความเป็นตัวตน

Bangkok Pride Parade 2024

การจัด OPENING REMARK ภายใต้หัวข้อ “Where History Meets Tomorrow” ที่มีตัวแทนกลุ่มสูงวัย LGBT+ 5 คนแชร์ประสบการณ์และการต่อสู้เพื่ออนาคตที่เท่าเทียม

Bangkok Pride Parade 2024

การจัดงาน Bangkok Pride Festival 2024 มีสาระที่สำคัญคือ การสนับสนุนและผลักดันให้มีการยอมรับสมรสเท่าเทียมในสังคมไทย หากกฎหมายสมรสเท่าเทียมมีผลบังคับใช้ก่อนสิ้นปี 2567 ไทยจะเป็นประเทศแรกในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ที่เปิดกว้างให้ผู้มีความหลากหลายทางเพศแต่งงานกันอย่างถูกกฎหมาย ทั้งยังช่วยกระตุ้นการท่องเที่ยวสำหรับกลุ่มเป้าหมายที่มีความหลากหลายทางเพศ และส่งเสริมเม็ดเงินเศรษฐกิจให้หมุนเวียนในประเทศ ตั้งเป้าหมายในการเข้าร่วมเป็นเครือข่าย Rainbow Cities Network เพื่อพัฒนากรุงเทพฯ ให้เป็นเมืองน่าอยู่สำหรับทุกเพศ และคว้าโอกาสสำคัญในการพากรุงเทพฯ และประเทศไทยเป็นเจ้าภาพจัดงาน World Pride ในปี 2028

โดยงานนี้บุคคลทั่วไปเข้าร่วมฟรีไม่ต้องลงทะเบียน หากเป็นกลุ่มมากกว่า 10 คนขึ้นไปที่ต้องการทำกิจกรรมหรือนำเสนอประเด็นพิเศษในขบวน

สามารถสมัครเข้าร่วมได้ที่ : www.bangkokpride.org

เพื่อร่วมเป็นส่วนหนึ่งของประวัติศาสตร์การเฉลิมฉลองความรักที่เท่าเทียม